ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

งานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จัดขึ้นประมาณต้นเดือน พฤษภาคม เป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นตามความเชื่อในการดำรงชีวิต เพื่อเป็นการบูชา บวงสรวง พญาแถเทพเจ้าแห่งฝนของชาวอีสาน ให้ปล่อยฝนตกลงมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการทำเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนาและเพื่อเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิต ซึ่งในงานประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัด ยโสธรนี้ จะมีกิจกรรมประกวดกองเชียร์ในงานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งมีความสนุกสนานชนิดที่ว่าสนุกกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียวและก็ยังมีการแห่บุญบั้งไฟประเภทสวยงาม หรือทีเรียกกันอีกอย่างว่า บั้งไฟเอ้ ที่มีความยิ่งใหญ่ งดงามตระการตา ส่วนไฮไลท์ที่ยิ่งใหญ่ ของงานประเพณีบุญบั้งไฟนี้ ก็คือ การจุดบั้งไฟ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สำคัญมากทีสุดของประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธรแห่งนี้ก็ว่าได้ ซึ่งในภายหลังต่อมาจัดงานเป็นการประกวดแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสาน ตื่นเต้นควบคู่ไปกับความเชื่อในงานบุญประเพณีเดิมของการจุดบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และ ความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งฝน ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตรในการหล่อเลี้ยง ดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คืองานประเพณีแห่ และจุดบั้งไฟจึงถูก สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจ ของชาวอีสานมาโดยตลอด

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2557

ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้

1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

ดูคลิปรายการ ไทยท้าทาย

ข้อมูลและภาพ suvarnabhumiairport.com / wikipedia.org /  yasofocus.com