จังหวัดสิงห์บุรี

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / จังหวัดสิงห์บุรี

จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร 142 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 822.478 ตารางกิโลเมตร หรือ 514,049 ไร่

จังหวัดสิงห์บุรี

P1000055

คำขวัญประจำจังหวัด: ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนช่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี

สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในสิงห์บุรี 

 

อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน และอุทยานค่ายบางระจัน

ถิ่นวีรชนคนกล้า 

          อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3032 มีพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ เป็นสวนรุกขชาติพักผ่อนหย่อนใจ จะเห็นอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่ายบางระจันทั้ง 11 คน สร้างโดยกรมศิลปากรปรากฏสวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในสวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทยที่เกิดขึ้น เมื่อเดือน 3 ปีระกา พ.ศ. 2308 ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลา 5 เดือน จึงเอาชนะได้เมื่อวันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ค่ายบางระจันในปัจจุบันได้สร้างจำลองโดยอาศัยรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ และภายในบริเวณยังมี อาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน จัดห้องนิทรรศการโดยแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ห้องแรก แสดงเรื่องค่ายบางระจัน เครื่องใช้โบราณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย หนังใหญ่ ห้องที่สอง จัดแสดงมรดกเมืองสิงห์บุรี ห้องที่สาม แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสิงห์บุรีและของดีเมืองสิงห์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3659 7126

 

วัดสว่างอารมณ์

วัดสว่างอารมณ์ 

          ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และโดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี ภายในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว ซึ่งพระครูสิหมุณี อดีตเจ้าอาวาส ได้รวบรวมตัวหนังใหญ่จากฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ และส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายจากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิด-พาทย์หนังใหญ่ และได้ถ่ายทอดการแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้4 ชุด คือ ชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฑ์) ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุณจำบัง มีการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา09.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์08.30-17.00 น. สนใจเข้าชมการแสดงกรุณาติดต่อล่วงหน้า โทร.0 1851 6205, 0 1802 6085

 

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร 

           เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก มีความยาว47 เมตร42 เซนติเมตร (1 เส้น3 วา2 ศอก1 คืบ7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์ หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมี พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิดทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ทั้งพระกาฬและพระแก้วสร้างในสมัยรัชกาลที่5 ใช้เป็นพระประทานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาผลิดอกบานสะพรั่งหลายต้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0 3652 0251, 0 3654 3415 

 

วัดโพธิ์เก้าต้น

วัดโพธิ์เก้าต้น

             ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ15 กม.ณ ที่แห่งนี้วีรชนชาวไทยได้เคยใช้เป็นที่มั่นในการต่อต้านข้าศึกที่มารุกราน ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า”วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณมีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น และชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย ในบริเวณวัดมี “วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ” ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่งของชาวบ้านบางระจัน และใกล้ๆ กันก็มี “สระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ” มีปลาอยู่ชุกชุมเพราะชาวบ้านถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์จึงไม่จับไปรับประทาน ส่วนหน้าวัดได้มีการจำลองค่ายบางระจันตามประวัติศาสตร์ไว้ด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ยังคงปรากฏต้นไม้แดงที่ยืนต้นมากกว่า200 ปี

 

วัดกุฎีทอง

วัดกุฎีทอง

           ตั้งอยู่หมู่3ในเขตตำบลบางน้ำเชี่ยว บริเวณกิโลเมตรที่17 จากตัวเมืองบนเส้นทางสาย32 ห่างจากตัวอำเภอประมาณ400 เมตร ในวัดมีมณฑปลักษณะเหมือนเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดและภายใน มณฑปนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทโลหะจำลองไว้เป็นที่เคารพสักการะ นอกจากนั้นในบริเวณวัดกุฎีทองยังมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวไทยพวน ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่างๆ ของชาวไทยพวน เครื่องมือทำนา ดักสัตว์ จับปลา ตลอดจนยวดยานพาหนะต่างๆ ทั้งทางบกทางน้ำเป็นของเก่าแก่ไว้ให้ชมอีกด้วย ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ พระครูเมตตานุศาสน์ เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง และ น.อ. เถลิง อินทร์พงศ์พันธุ์ ผู้ดูและรักษาศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านวัดกุฎีทอง ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี หรือ ติดต่อคุณวลัยวรรณ สุทธิโพธิ์ ในเวลาราชการ โทร (036) 512230 เสาร์-อาทิตย์ โทร (036) 511902

 

วัดม่วง

วัดม่วง

          ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรีริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนสายเอเซีย ห่างจากตัวตลาดอินทร์บุรีมีทางเลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๕ เดิมนั้นมีต้นมะม่วงอยู่มากจึงเรียกว่า“วัดม่วง” ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่เป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ามีมุขยื่นออกมาที่หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่างๆ ในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยพุทธลักษณะงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีรูปฐานสิงห์ มีฐานบัวขนาดใหญ่รองรับ เพดานประดับด้วยลายเขียนรูปดาว มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้านสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ และมีเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตลอดจนแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของสังคมโบราณในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย

แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย

            ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งเตาเผาภาชนะดินสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง14 เมตร กว้าง5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ที่ขุดได้บริเวณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สามารถชมได้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่งแล้ว ยังเป็น ศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิคอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย

 

อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์

อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์

            อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข309 ประมาณ9 กม. จะมีทางแยกเลี้ยวไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ1.5 กม. ก็จะถึงอุทยานแม่ลา คำว่า “แม่ลา” เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาที่จับได้จากลำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลาซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน

 

           ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกลำน้ำ กำจัดผักตบชวา เพาะและขยายพันธุ์ปลา และสร้างอาคารแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลาโดยรอบ ๆ บริเวณอาคารทางการได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนผู้แวะเข้าเยี่ยมชม

 

การเดินทาง

 

รถยนต์

จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปสิงหบุรีได้3 เส้นทาง คือ

1.ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านไปอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดลพบุรี และจากจังหวัดลพบุรีประมาณ10 กม. ก็จะถึงตัวเมืองจังหวัดสิงห์บุรี

2.ไปตามทางหลวงหมายเลข 32 ถนนพหลโยธิน ผ่านอำเภอบางปะอิน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ผ่านจังหวัดอ่างทองไปจนถึงตัวเมืองจังหวัดสิงห์บุรี

3.ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านอำเภอวังน้อยแล้วเลี้ยวซ้าย เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข309 ผ่านตัวเมืองจังหวัดอ่างทอง และตรงไปจนถึงจังหวัดสิงห์บุรี

 

รถโดยสารประจำทาง

บริษัท ขนส่ง จำกัด ถนนกำแพงเพชร2 มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.639-1886-7 และยังมีรถโดยสารประจำทางของบริษัทเอกชน เปิดบริการทุกวัน

 

เทศกาลและงานประเพณี

 

ประเพณีกวนข้าวทิพย์

ประเพณีกวนข้าวทิพย์

             การกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาสนี้มักจะจัดขี้นที่หมู่บ้านวัดกุฎีทอง บ้านโภคาภิวัฒน์ วัดอุตมะพิชัย อำเภอพรหมบุรี วันทำพิธีกวนข้าวทิพย์มิได้กำหนดไว้เป็นที่แน่นอน มักจะทำกันในช่วงที่ข้าวกำลังเป็นน้ำนม โดยการปลูกปะรำพิธีแล้วใช้ด้ายสายสิญจน์วนรอบปะรำพิธีนิมนต์พรสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วให้หญิงสาวพรหมจารีย์นำเครื่องต่างๆ ที่เตรียมไว้ได้แก่ ถั่ว งา นม เนย และน้ำที่คั้นได้จากข้าวน้ำนม ใส่ลงในกระทะที่ติดไฟด้วยฟืนไม้ชัยพฤกษ์ และไม้พุทรา ขณะใส่ของต่างๆ ลงในกระทะ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องย่ำกลอง จากนั้นจึงช่วยกันกวนข้าวทิพย์ ใช้เวลากวนประมาณ6 ชม. แสร็จแล้วตักใส่ภาชนะเตรียมถวายพระในวันรุ่งขึ้น

 

ประเพณีตีข้าวบิณฑ์ 

ประเพณีตีข้าวบิณฑ์

          เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ทำกันอยู่แห่งเดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี นิยมทำในช่วงวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่13-15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียว หรือข้าวเหนียวแดงมาหุงหรือนึ่งพอสุกนำมาใส่ใบตอง พับเป็นรูปกรวย นำไปถวายถวาย หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ วัดพระนอนจักรสีห์ ด้วยการนำพานใส่กรวยข้าวเหนียวที่เตรียมวางไว้ ด้านหน้องค์พระนอนเพื่อทำพิธีถวายข้าวเหนียว เมื่อเห็นว่าเวลาผ่านไปพอสมควรจะทำพิธีลาข้าว ทุกคนจะตรงไปที่พานข้าวของตน แบ่งข้าวเหนียวในกรวยใส่กระทง แล้วนำไปวางไว้ที่หน้าองค์ พระนอนพอเป็นสังเขป จากนั้นชาวบ้านจะแยกกันนั่งเป็นวงๆ ละ6-7 คน แบ่งกันรับประทานข้าวที่เหลือ ซึ่งถือว่าเป็นข้าวบิณฑ์ของหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์

 

งานวันวีรชนค่ายบางระจัน

งานวันวีรชนค่ายบางระจัน

          จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่บริเวณอุทยานค่ายบางระจัน ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน ประกอบไปด้วยพิธีสักการะรูปจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ และวางพวงมาลา สักการะอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน การแสดงละครประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ วีรกรรมวีรชน ค่ายบางระจัน ประกอบแสง สี เสียง และมหรสพ การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ มากมาย