อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เที่ยวอุบลราชธานี

Home / ภาคอีสาน / อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เที่ยวอุบลราชธานี

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม  อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี    ประกอบด้วย สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย เช่น  ผาชัน   น้ำตกสร้อยสวรรค์  เสาเฉลียง   ถ้ำปาฏิหารย์  ภูนาทาม เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย    และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุด ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ป่าเขา ทางฝั่งประเทศลาวได้เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมา
ในอดีต ชาวบ้านท้องถิ่นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป   อาจเจ็บไข้หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

พื้นที่ป่าภูผาบริเวณผาแต้มได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป    เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรได้มาทำการสำรวจและค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม  ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์  จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่   26 พฤษภาคม พ.ศ.2524 เสนอต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ

ซึ่งกองอุทยานแห่งชาติได้ให้ นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดงหินกอง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ)    ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติม ปรากฏว่า

พื้นที่บริเวณที่ขอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าภูผา ปรากฏภาพเขียนสีโบราณซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม สภาพป่าบริเวณใกล้เคียงยังไม่ถูกทำลาย และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงามการคมนาคมสะดวก เหมาะที่จะตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเห็นสมควร

887-attachment

ผนวกกับบริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดงหินกอง กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1162/2524 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2524 ให้ นายเสงี่ยม  จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ (ดงหินกอง)ไปดำเนินการควบคุมดูแลรักษาป่าภูผา

โดยให้พิจารณาผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โดยได้ประกาศรวมกับบริเวณป่าใกล้เคียงให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 153 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2526

ต่อมากรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วนและอยู่ห่างไกลกับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตลอดจนมีอาณาเขตกว้างขวางเกรงว่า อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จะดูแลไม่ทั่วถึง

และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตามโครงการอีสานเขียว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้

เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 991/2532 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2532 ให้นายวรพล รันตสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดง  ภูโหล่น

ท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี   ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา   ฉบับพิเศษหน้า 90-92 เล่ม 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2534 มีเนื้อที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74  ของประเทศไทย

ลักษณะโดยทั่วไป

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและเนินเขาสูงชัน ลักษณะสูงๆ ต่ำๆ  สลับกันไปทั่วพื้นที่ลักษณะทางธรณีวิทยาเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก เป็นเทือกเขาเดียวกับเขาพนมดงรักหรือดงเร็ก

ซึ่งเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ตามแผนที่ทางธรณีวิทยาใช้ชื่อหน่วยภูพานและพระวิหาร เป็นภูเขาหินทราย มีที่ราบอยู่บ้างแถบริมห้วยและตามแนวแม่น้ำโขง

ในส่วนของที่ราบสูงแต่ละแห่งมีเนื้อที่ประมาณ 800 – 1,300 ไร่ ห่างจากลำน้ำประมาณ 1-2 กิโลเมตร จะเป็นหน้าผาสูงชัน พื้นที่ทั่วไปมีหินทรายโผล่เป็นลานหินกระจัดกระจายทั่วพื้นที่ดินที่พบในแถบที่ราบลุ่ม เป็นดินร่วนปนทรายและดินเหนียว

แถบริมแม่น้ำมีตะกอนและฮิวมัสมาก ส่วนบริเวณที่ราบสูงเป็นพวกดินทราย ดินลูกรัง  มีลำห้วยน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเช่น ห้วยใหญ่ ห้วยสร้อย ห้วยหละหลอย   ห้วยพอก ฯลฯ ห้วยต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไหลสู่แม่น้ำโขง

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน – กันยายน
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม – กุมภาพันธ์
 ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม – พฤษภาคม

อุณหภูมิในแต่ละฤดูแตกต่างกันอย่างมาก ในฤดูฝนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองอยู่บ่อยๆ ในฤดูหนาวอากาศเย็นอย่างแห้งแล้งความชื้นในบรรยากาศมีน้อยในฤดูร้อน  อากาศร้อนจัด ต้นไม้ใบหญ้าแห้งแล้ง

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรังเสียส่วนใหญ่ ตามพื้นที่ที่มีหินโผล่ลักษณะเป็นป่าโปร่งต้นไม้แคระแกรน แต่มีความสวยงามตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ และเหมือดต่าง ๆ ไม้พื้นล่างเป็นพวกไผ่ป่า หญ้าต่าง ๆ ข่อยหินและยังมีไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามซอกลานหินทั่วไป

เช่น  หยาดน้ำค้าง   แดงอุบล  เอนอ้า  เหลืองพิสมร ตลอดจนมีทุ่งดอกไม้จำพวกดุสิตา   สร้อยสุวรรณ  ทิพยเกษร   กระดุมเงิน ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากกระจายทั่วพื้นที่    สภาพป่าจะเปลี่ยนเป็นป่าดิบแล้งในบริเวณที่ราบลุ่มแถบริมห้วย หรือริมแม่น้ำเนื่องจากมีความชุ่มชื้นพอประมาณตลอดปี

พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง กะบาก รกฟ้า ตะแบกเลือด เขล็ง แดง ไม้พื้นล่างเป็นพวกไม้เถา ไม้เลื้อยต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังพบป่าสนสองใบที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ    กระจัดกระจายในส่วนที่เป็นพื้นราบบนภูต่าง ๆ ทั่วพื้นที่

สัตว์ป่าประเภทเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ยังไม่พบ แต่ขนาดเล็กลงมาที่พบได้ทั่วไป เช่น อีเห็น สุนัขจิ้งจอก กระต่ายป่า อีเก้ง ชะมด บ่าง   ในฤดูแล้งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมากจะพบเห็นสัตว์ประเภทหมูป่า   เลียงผา   ว่ายน้ำข้ามมาจากฝั่งประเทศลาวอยู่เสมอ ๆ

เนื่องจากอาณาเขตบางส่วนอยู่ในลำน้ำโขงมีปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ มากมาย นกนานาชนิดที่พบเห็น เช่น นกขุนทอง นกยูง เหยี่ยว อีกา นกขุนแผน นกกระเต็น เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

ผาแต้ม
เมื่อดูจากแม่น้ำโขงจะเห็นเป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติในบริเวณที่เป็นหน้าผา จะปรากฏภาพเขียนสีโบราณโดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

889-attachment

เรียงรายตามความยาวของหน้าผาติดต่อกันยาวประมาณ 180 เมตร มีไม่ต่ำกว่า 300 ภาพ   ซึ่งเป็นจำนวนภาพเขียนสีโบราณที่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ   ในประเทศไทยและในต่างประเทศ

ผาเจ็ก-ผาเมย

จากน้ำตกสร้อยสวรรค์เดินไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะพบทุ่งดอกไม้งามหลายแห่ง ผาเจ็ก-ผาเมย เป็นหน้าผาหินที่มีลักษณะเหมือนบริเวณ ผาแต้ม และปรากฏภาพเขียนสีโบราณเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าภาพเขียนจะมีจำนวนน้อยกว่าก็ตาม แต่ลักษณะภาพเขียนสีที่พบแตกต่างกัน ผู้สนใจเดินป่าจากน้ำตกสร้อยสวรรค์มาผาเจ็ก ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง เนื่องจากเส้นทางไม่ชัดเจน

ภูผาขาม ภูเขาหินทราย
ข้างบนเป็นลานหินเรียบด้านล่างเป็นบริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสีโบราณ     เมื่อยืนดูอยู่ด้านบนจะเห็นทิวทัศน์ตามริมแม่น้ำโขงสุดสายตาเป็นทิวทัศน์ของป่าเขาและลำน้ำสวยงามมาก

เสาเฉลียง

เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ สายลมและแสงแดดมีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งขึ้น มีส่วนบนเป็นแผ่นหินวางอยู่โดยไม่ติดกันมองดูคล้ายดอกเห็ด

เสาเฉลียง ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 217 จากจังหวัดอุบลราชธานี ไปอำเภอพิบูลมังสาหาร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 2222 ไปอำเภอโขงเจียม จากอำเภอโขงเจียมใช้เส้นทางสาย 2134 (โขงเจียม – ศรีเมืองใหม่) ประมาณ 5 กิโลเมตร แยกขวา เข้าเส้นทางสาย 2112 อีกประมาณ 9 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปผาแต้ม จะถึงเสาเฉลียงประมาณ 1.5 กิโลเมตรก่อนถึงผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี

เสาเฉลียงเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากกระบวนการกัดเซาะและกัดกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำและลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสึกกร่อนโดยแม่น้ำหรือธารน้ำไหลกัดเซาะเป็นเวลาชั่วนาตาปี เกิดขึ้นในชั้นหินที่วางตัวอยู่ในแนวราบหรือเกือบราบและในแต่ละชั้นมีส่วนประกอบของแร่ที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีความแข็งและทนทานที่ไม่เหมือนกัน

ประติมากรรมชิ้นเอกร่วมกันของหินทราย 2 ยุค คือ หินทรายยุค ครีเตเซียส ซึ่งมีอายุประมาณ 130 ล้านปี เป็นส่วนดอกเห็ดอยู่ท่อนบน และหินทราย ยุคไดโนเสาร์ มีอายุประมาณ 180 ล้านปี เป็นส่วนต้น เสาหินท่อนล่างโดยผ่านการถูกชะล้างพังทลายอันเกิดจากสภาพอากาศ ฝนและลมพายุเป็นเวลาหลายล้านปี

ซึ่งคุณสมบัติทางธรณีวิทยาของหินทรายนั้นง่ายต่อการสึกกร่อนกว่าหินชนิดอื่นที่จัดอยู่ในกลุ่มหินชึ้นเดียวกัน และเมื่อผ่านการสึกกร่อนไปได้ระยะหนึ่งก็มีสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการต้านทานทางธรรมชาติ

และแรงกดทับของเม็ดฝนทำให้หินทรายแข็งยิ่งขึ้น เป็นผลให้สามารถรักษาสภาพให้คงรูปได้ดังที่เห็นอยู่ในรูปข้างๆนี้ “เสาเฉลียง” แผลงมาจาก “สะเลียง” แปลว่า “เสาหิน”

ภูกระบอ  

เป็นภูผาหินทราย ที่มีเสาเฉลียงเป็นจำนวนมากตั้งเรียงรายกระจายทั่ว พื้นที่ดูลักษณะคล้ายสวนหิน

ภูโลง

ได้มีการค้นพบโลงศพของมนุษย์อยู่ภายในซอกหินซึ่งไม่ถูกแดดถูกฝนอยู่บนภูโลง เข้าใจว่าเป็นโลงศพของมนุษย์สมัยก่อน   ส่วนของกระดูกและสิ่งของภายในโลงหายไปก่อนที่จะค้นพบ ลักษณะของโลงใหญ่มาก    ไม้ที่ใช้ทำโลงบางส่วนผุพังไปตามธรรมชาติ แต่ยังคงสภาพส่วนใหญ่อยู่

ถ้ำปาฏิหารย์

โดยปกติภูเขาหินทรายจะไม่ปรากฏถ้ำที่แบ่งเป็นหลืบเป็นห้อง แต่ปรากฏว่าถ้ำปาฏิหารย์แบ่งเป็นหลืบเป็นห้องและมีความยาวมาก

ภูนาทาม

เป็นป่าสนสองใบตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่บริเวณหน้าผา เมื่อมองทะลุป่าสนสองใบนี้ไปจะเห็นภูเขาทมึนสลับซับซ้อนของประเทศลาวเป็นฉากอยู่ข้างหลัง ตัดกับท้องฟ้าที่อยู่ด้านบนและลำน้ำโขงที่อยู่ด้านข้าง

น้ำตกสร้อยสวรรค์

น้ำตกสร้อยสวรรค์ อยู่บริเวณห้วยสร้อย จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2112 อีกประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกสร้อยสวรรค์ เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก เกิดจากลำธาร 2 สาย คือ แซสร้อย และแซไผ่ ไหลตกลงมาบรรจบกันดูลักษณะคล้ายสายสร้อย บริเวณริมลำธารมีพลาญหินซึ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีดอกไม้หลากสีสันออกดอกงดงามเต็ม

น้ำตกแสงจันทร์

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติตามหมายเลขทางหลวงที่ 2112 ประมาณ 30 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปน้ำตกทุ่งนาเมือง น้ำตกแห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อสายน้ำตกจากผาลงมาแล้ว จะไหลลับหายไปในซอกหิน ชาวบ้านเรียก น้ำตกลอดรู ส่วนน้ำตกแสงจันทร์มีทางเดินเท้าไปอีกไม่ไกลนัก สายน้ำตกลงมาจากช่องโพรงของเพิงผา บางคนเรียกว่า น้ำตกลงรู

น้ำตกทุ่งนาเมือง

น้ำตกทุ่งนาเมือง ตั้งอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ 4 (คันท่าเกวียน) สามารถไปท่องเที่ยวได้โดยเดินทางไปตามเส้นทางบ้านทุ่งนาเมือง ต.นาโพธิ์กลาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ประมาณ 40 กิโลเมตร เส้นทางรถยนต์สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

ลานหินแตก

อยู่ถัดจากเสาเฉลียงขึ้นไปบนเนินเขา

ลานหินแตกเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากกระบวนการกัดเซาะและกัดกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำและลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสึกกร่อนโดยน้ำหรือธารน้ำไหลกัดเซาะเป็นเวลาชั่วนาตาปี

ทุ่งดอกไม้งาม

ตามรอยเสด็จ ที่ทุ่งดอกไม้ป่าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หน่วยที่ 1 สร้อยสวรรค์

นอกจากนี้การนั่งเรือล่องไปตามแม่น้ำโขงจะทำให้เห็นทัศนียภาพที่แตกต่างกันไปของสภาพภูมิประเทศ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นทั้งสองฝั่งของลำน้ำด้วย

หากท่านใดที่สนใจไปท่องเที่ยวที่ผาแต้ม ก็จะต้องเดินทางไปที่จังหวัดอุบลก่อน จากนั้นก็เดินทางไปยังอำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ  80  กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายโขงเจียม-เขมราฐ อีก 15 กิโลเมตร

เลี้ยวขวาต่อไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงภูผาขาม ท้องที่บ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ ปัจจุบันเส้นทางนี้เป็นถนนลาดยางไปสิ้นสุดอยู่บนลานภูผาขาม