ย้อนชม! รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย

Home / ทิปท่องเที่ยว / ย้อนชม! รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย

ไม่กี่วันมานี้เราคงจะได้เห็นข่าว “โรงแรม ปาร์คนายเลิศ” ที่ได้ประกาศปิดตำนานโรงแรมหรู ที่เปิดมายาวนานกว่า 36 ปี นอกจากโรมแรมที่เป็นตำนานแห่งนี้แล้ว พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือนายเลิศ เศรษฐบุตร ผู้ก่อตั้ง ยังมีกิจการอื่นๆ ที่ริเริ่มนำเข้ามาในเมืองไทยอีกมากมาย อย่าง รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย คันนี้!

ย้อนชม! รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว
รถประจำทางสายแรกของไทย

พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร

พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร เป็นผู้ก่อตั้ง โรงแรม ปาร์คนายเลิศ ซึ่งนอกจากกิจการนี้แล้ว ก็ยังมีกิจการอื่นๆ ที่ริเริ่มนำเข้ามาในเมืองไทยอีกมากมาย เช่น รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว ที่เป็นเป็นรถโดยสารประจำทางสายแรกของไทย ซึ่งเปิดใช้บริการมานานถึง 70 ปี!

รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย
ขอบคุณรูปภาพ www.247freemag.com

ตอนเด็กนั้น นายเลิศ มีความสามารถและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินรถ และการขับเรือรับจ้าง อีกทั้งเป็นพ่อค้าขายจักรยานมาก่อน จนพัฒนามาเป็นรถม้า ใช้รับจ้างทั่วไป ซึ่งนายเลิศเป็นผู้ออกแบบตัวรถเอง โดยคิดค่าโดยสารสำหรับรถม้าเดี่ยวชั่วโมงละ 75 สตางค์ รถม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท แต่นายเลิศเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์ จึงคิดเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2453

รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย

ลักษณะของ รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย มีลักษณะเฉพาะคือ ทาสีขาวทั้งคัน มีตราประจำรถเป็นรูปขนมกง ซึ่งนายเลิศเป็นผู้ออกแบบตัวถังรถเมล์ด้วยตัวเอง เขียนแบบด้วยชอล์กบนพื้นปูน ให้ช่างไม้ชาวเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ต่อ โดยใช้เครื่องยนต์ที่สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษประกอบ นายเลิศมีนโยบายในการเดินรถว่า “สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย”

ตั๋วรถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว รถประจำทางสายแรกของไทย

เส้นทางการวิ่งของรถเมล์สายแรกของไทย วิ่งจากประตูน้ำไปสี่พระยา เมื่อกิจการเจริญก้าวหน้าจึงขยายออกไปจนเกือบทั่วกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปเรียกรถของท่านว่า “รถเมล์ขาว” ตามสีของรถ

ต่อมานายเลิศได้ริเริ่มบริการเรือเมล์ที่ชาวบ้านเรียก “เรือขาว” รับส่งผู้โดยสารตามคลองแสนแสบ ผ่านหนองจอก มีนบุรี แล้วมาสุดทางที่ประตูน้ำ เชื่อมโยงกับเส้นทางของรถเมล์ขาว กิจการนี้เป็นที่ประทับใจของคนทั่วไป และสร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก

กิจการรถเมล์นายเลิศ ดำเนินการมานานถึง 70 ปี ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ ถึง 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ได้เลิกกิจการลงในปี พ.ศ. 2520 เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

ขอบคุณข้อมูล th.wikipedia.org, ย้อนรอยกรุงเทพฯ. เทพชู ทับทอง. สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น. กรุงเทพฯ , 2546