วางแผนท่องเที่ยว เกร็ดข้อมูล เที่ยวถ้ำ

การเตรียมตัวก่อนเที่ยวถ้ำ ข้อควรปฏิบัติ และวิธีเอาตัวรอด 

Home / ทิปท่องเที่ยว / การเตรียมตัวก่อนเที่ยวถ้ำ ข้อควรปฏิบัติ และวิธีเอาตัวรอด 

จากเหตุการณ์ที่ทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ชหายตัวไปขณะเที่ยว ถ้ำขุนหลวงน้ำนางนอน ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อเย็นวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ทาง travel.mthai เลยรวบรวมข้อมูล การเตรียมตัวก่อนเที่ยวถ้ำ ข้อควรปฏิบัติ และวิธีเอาตัวรอด มาเป็นแนวทางสำหรับใครที่ชอบเที่ยวแนวนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองค่ะ

การเตรียมตัวก่อนเที่ยวถ้ำ
ข้อควรปฏิบัติ และวิธีเอาตัวรอด

ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

การเที่ยวถ้ำ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่ง ที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสอย่างมาก ความมืดและบรรยากาศอันสงบเงียบ และวังเวง ท้าทายความกล้าของนักท่องเที่ยวทุกคน โดยมีความงดงามที่ธรรมชาติได้บรรจงสร้างสรรค์ไว้ในถ้ำเป็นรางวัล ไม่ว่าจะเป็นหินงอกหินย้อย เสาหิน ไช่มุกถ้ำ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาและปรากฏการณ์ ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดรูปลักษณ์ต่างๆ ขึ้นในถ้ำ รวมทั้งยังมีประวัติศาสตร์ให้ค้นหาจากภาพเขียนสีและหลักฐานอื่นๆ ที่หลงเหลืออยู่ ภายในถ้ำ

ถ้ำพระธาตุ จ.กาญจนบุรี

อุปกรณ์และการเตรียมตัว

การแต่งกายเที่ยวถ้ำ

– สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม สวมรองเท้าหุ้มส้นที่ช่วยให้เดินได้มั่นคงบนพื้นถ้ำ เพราะถ้ำหลายแห่งต้องปีนขึ้น หรือไต่ลงจากผาหินสูง

– สวมหมวกสำหรับกันหยดน้ำ มูลค้างคาว และป้องกันศรีษะชนกับโขดหิน พร้อมไฟฉายติดหมวกหรือจะใช้ไฟฉายคาดศีรษะแทนก็ได้

– ถุงมือ สนับเข่า และสนับแข้ง เนื่องจากภายในถ้ำส่วนใหญ่จะเป็นหินปูนที่แหลมคม โดยเฉพาะถ้ำที่มีการปีนป่าย ว่ายน้ำ

อุปกรณ์ในการเที่ยวถ้ำ 

– ที่สำคัญที่สุด คือ ไฟฉายหรือตะเกียงเจ้าพายุ เพราะจะช่วยให้มองเห็นทางเดินหรือสิ่งต่างๆ ในถ้ำได้อย่างชัดเจน ห้ามใช้คบไฟ เทียนไข หรือตะเกียงที่มีเปลวไฟ เพราะแสงสว่างจากสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดควันหรือเขม่าไฟลอยไปจับตามผนังถ้ำ หรือหินงอก หินย้อย

– เชือกที่มีความเหนียวแข็งแรงทนทานพอที่จะรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 60 – 65 กิโลกรัม และยาวราว 20 – 30 เมตร

– ชุดปฐมพยาบาล และเข็มทิศ

– อาหารสำเร็จรูปและน้ำ ควรมีติดตัวไว้เผื่อกรณีเกิดการหลงภายในถ้ำเท่านั้น แต่ไม่ใช่การนำอาหารไปกินภายในถ้ำ

ถ้ำเลสเตโกดอน จ.สตูล

ข้อปฏิบัติในการเที่ยวถ้ำ

– ถ้ำเป็นธรรมชาติที่เปราะบางอย่างยิ่งต่อการกระทำของผู้บุกรุกจากโลกภายนอก นักท่องเที่ยวจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ถ้ำ ดังนี้

– ไม่จับ แตะ สัมผัส หินงอกหินย้อยหรือสิ่งที่เกิดจากการสะสมตัวของหินปูน เพราะอาจเกิดการแตกหัก รวมทั้งไขมันจากผิวหนังของมนุษย์จะไปหยุดยั้งการสะสมของหินปูน

– ไม่ขีดเขียนบนผนัง โขดหิน หรือสิ่งต่างๆ ภายในถ้ำ

– ไม่ออกนอกเส้นทางที่จัดทำไว้ เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งที่เหยียบย่ำ และอาจหลงทางได้

– ไม่นำสิ่งต่างๆ ออกนอกถ้ำ เพราะสิ่งเหล่านี้มีค่าเฉพาะเมื่ออยู่ในถ้ำเท่านั้น

– ไม่ทิ้งขยะไว้ในถ้ำ ไม่ว่าจะเป็นขยะย่อยสลายได้ หรือย่อยสลายไม่ได้ ภายในถ้ำมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่หลายชนิด การนำวัตถุแปลกปลอมจากโลกภายนอกเข้าไปในถ้ำ อาจทำให้ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในถ้ำเปลี่ยนแปลงไป

วิธีเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในถ้ำ

1. หาข้อมูลและเตรียมตัวให้พร้อม

อันดับแรกควรศึกษาเส้นทางถ้ำที่คุณจะเข้าไปสำรวจก่อน อย่าง ถ้ำหลงขุนน้ำนางนอน เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ด้านในมีหินงอก หินย้อย มีธารน้ำไหลผ่านกลางถ้ำ และค่อนข้างลึก ซึ่งการค้นคว้าข้อมูลจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดอยู่ในถ้ำ และสิ่งสำคัญเลยคือควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ไฟฉาย แบตเตอร์รี่สำรอง อุปกรณ์ป้องกันความหนาวเย็น รวมถึงเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น

2. ทำสัญลักษณ์ไว้ตามเส้นทางที่เดินผ่าน

คุณควรจะแน่ใจว่าได้ทำเครื่องหมายทางออกเอาไว้ที่ทางแยกทั้งหมดที่คุณผ่านมา อาจใช้ก้อนหิน แท่งเรืองแสง ชอล์ก ริบบิ้น หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้คุณจำทางได้และกลับออกไปอย่างปลอดภัย อีกทั้งหากเกิดอันตรายขึ้น ยังเป็นตัวช่วยในการบอกหน่วยกู้ภัยให้เข้ามาหาคุณอย่างถูกทางอีกด้วย

3. มีสติ ใจเย็นๆ หากพบว่าตัวเองกำลังออกนอกเส้นทางและเกิดหลงขึ้นมาจริงๆ คุณควรประเมินสถานการณ์และคิดหาทางออกอย่างรอบคอบ

4. เกาะกลุ่มกันไว้ อย่าแตกแถว การเดินทางสำรวจถ้ำแบบเป็นกลุ่มค่อนข้างมีความปลอดภัย และโดยส่วนมากอาการบาดเจ็บมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ชอบแตกกลุ่ม

5. ทำให้ร่างกายของคุณและแห้งที่สุด

ข้างในถ้ำมีอากาศหนาวเย็นมาก คุณควรสวมเสื้อที่เป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ เพราะกันหนาวได้ดีกว่าผ้าฝ้าย และผ้าต้องมีความเบา ไม่ซับน้ำ เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เช่น น้ำในถ้ำท่วมสูง หรือจำเป็นต้องข้ามลำธาร ถ้ามีเหตุให้ตัวของคุณเปียก ให้ถอดเสื้อออกก่อน บิดให้หมาด แล้วสวมใส่กลับไปเหมือนเดิม ปล่อยให้ความร้อนของร่างกายทำให้เสื้อผ้าแห้งเอง

6. ปันส่วนปริมาณอาหารให้ดี เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในถ้ำ เช่น ดินยุบ หรือน้ำท่วม การที่จะรอให้ทีมช่วยเหลือมาถึง มันต้องใช้เวลา การปันส่วนอาหารเพื่อให้คุณอยู่ได้นานที่สุดจึงสำคัญมาก

7. เมื่อเข้าถ้ำจะมีบางช่วงที่คุณสามารถมองเห็นได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟฉาย คุณก็ควรปิดไฟฉายซะ เพื่อประหยัดพลังงาน ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณจะได้มีไฟเอาไว้ใช้ ตอนจำเป็น

8. ควรอยู่กับที่ ถ้าคุณมองไม่เห็น การวิ่งพล่านในถ้ำที่คุณมองไม่เห็นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

เว้นแต่คุณจะค่อนข้างมั่นใจในเส้นทาง ว่าคุณสามารถออกมาจากถ้ำได้โดยไม่มีแสงส่องสว่าง ทางที่ดีที่สุดถ้าคุณไม่ชำนาญเส้นทางคุณก็ควรอยู่กับที่เพื่อรอความช่วยเหลือจะดีกว่า

เรื่องน่ารู้ เที่ยวถ้ำ

อันตรายที่พบได้ในถ้ำ

ขอบคุณภาพจาก : Green Media สื่อสร้างสรรค์ เพื่อวันสีเขียว

เที่ยวถ้ำช่วงไหนดี แม้ว่าถ้ำส่วนใหญ่สามารถเข้าไปเที่ยวชมได้ตลอดปี แต่สำหรับถ้ำประเภทที่มีน้ำไหลลอดหรือที่เรียกกันว่า ถ้ำธารลอด จะเข้าไปเที่ยวชมได้เฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น สำหรับถ้ำลอดทางทะเล เช่น ถ้ำลอดพังงา ถ้ำลอดปูยู ฯลฯ ทางเข้าถ้ำเหล่านี้อยู่ติด กับทะเล ยามน้ำทะเลขึ้นสูง น้ำจะท่วมปากถ้ำ ต้องรอในช่วงน้ำลงจึงจะเข้าไปชมได้ การเที่ยวถ้ำประเภทนี้จึงต้อง พิจารณาช่วงเวลาขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวันประกอบด้วย

เที่ยวถ้ำที่ไหน เมืองไทยมีถ้ำที่สวยงามอยู่มากมายทั่วทุกภาค แต่การเที่ยวถ้ำส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เพียงเฉพาะถ้ำที่ได้รับการพัฒนาแล้ว คือถ้ำที่ได้รับการสำรวจและจัดทำเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ ถ้ำเหล่านี้ไม่ลึกนัก บางแห่งมีการติดตั้งแสงไฟส่องสว่างและจัด ทำทางเดินไว้ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมได้สะดวก และปลอดภัย เช่น ถ้ำผาไท ถ้ำแม่อุสุ ถ้ำพระธาตุ ถ้ำดาวดึงส์ ฯลฯ สำหรับถ้ำอีกจำนวนมากมีความยากลำบากในการเข้าถึง ต้องใช้อุปกรณ์และความชำนาญเป็นพิเศษ จึงไม่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปเพราะอาจได้รับอันตรายได้

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชtravel.thaizawikihow