กราบพระบรมศพ

โอกาสสุดท้ายของชีวิต แบ่งปันประสบการณ์แห่งความจงรัก เมื่อเราเดินทางไป กราบพระบรมศพ

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / โอกาสสุดท้ายของชีวิต แบ่งปันประสบการณ์แห่งความจงรัก เมื่อเราเดินทางไป กราบพระบรมศพ

ทุกครั้งที่วางแผนจะไปกราบพระบรมศพ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะกังวลเรื่องเวลา เรื่องคนเยอะ สารพัดความวิตก แต่พอดูข่าวแล้วเห็นคุณตา คุณยาย บรรดาผู้สูงอายุที่เดินทางกันไปไม่ขาดสาย บางคนไปเป็นสิบๆ ครั้ง กลายเป็นเรื่องให้ฉุกคิด ยิ่งนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อพสกนิกรปวงชนชาวไทยโดยไม่เลือกว่าจะอยู่ในที่ทุรกันดารเพียงใด การเข้ากราบพระบรมศพจึงถือเป็นช่วงเวลาเดียวและช่วงเวลาสุดท้ายที่พวกเราคนไทยทุกคนจะมีโอกาสถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดที่สุด

เริ่มจากเตรียมความพร้อม ชุดดำสุภาพหัวจรดเท้า และที่สำคัญ บัตรประชาชน

ตอน 6 โมงเช้า เราไปขึ้น Shuttle Bus ของ ขสมก. ซึ่งให้บริการฟรีสำหรับประชาชนที่ประสงค์จะเดินทางเข้ากราบพระบรมศพ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.00 น. โดยภาครัฐจัดไว้ให้ตามเขตต่างๆ นั่งไปจนถึงรอบบริเวณพระบรมมหาราชวัง และเดินเท้าต่อ สำหรับรถเมล์ฟรีที่บริการส่งถึงสนามหลวงเลย จะมีที่หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเท่านั้น สามารถเช็คเขตพื้นที่ต่างๆ ได้ตามผังซึ่งจัดทำโดย กองบังคับการตำรวจจราจร


ขอบคุณภาพจาก : กองบังคับการตำรวจจราจร

เมื่อมาถึงเขตสนามหลวง ให้มองหาป้าย ‘จุดคัดกรอง ทางเข้าสนามหลวง’ ประตูไหนก็ได้ จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ จุดนี้จะต้องแสดงบัตรประชาชน พร้อมตรวจกระเป๋า แนะนำว่าให้เอาแต่ของที่จำเป็นไปเท่านั้น เช่น ร่ม ยาดม สำหรับผู้สูงอายุ จะมีรถเข็นให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะต้องเดินเท้าอีกพอสมควร ส่วนเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ไม่ต้องกังวล ภาครัฐจัดโรงอาหารไว้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นเต็นท์ขนาดใหญ่สีฟ้าอยู่ภายในบริเวณสนามหลวง พร้อมห้องพยาบาล ห้องน้ำตามจุดต่างๆ

ป้ายจุดคัดกรอง 3 อยู่บริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใครใกล้ประตูไหน แนะนำให้เดินไปประตูที่ใกล้ที่สุด เพราะขั้นตอนต่างๆ ด้านในจะนำทางไปยังจุดรอคิวเดียวกัน

บริเวณจุดคัดกรอง

เดินไปตามทางจนเจอป้ายบอกทางไปเข้ากราบพระบรมศพ มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ

น้ำดื่มฟรี บริการประชาชน ระหว่างทาง

ห้องน้ำมีทั้งแบบอาคาร และ รถสุขา

จุดพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีเต็นท์บริการผู้สูงอายุ / ผู้พิการ ให้บริการรถเข็นโดยการดูแลของพี่ๆ ทหารด้วย

ชุดไม่พร้อม จัดการอย่างไร

เดินมาจนใกล้ถึงจุดรอคิว จะเจอ จุดบริการยืมผ้าถุงสำเร็จรูป ตั้งแต่เวลา 7.00-21.00 น.โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
• สำหรับผู้หญิง ใครสวมกางเกง หรือกระโปรงไม่คลุมเข่า สามารถขอยืมผ้าถุงได้ จุดนี้ต้องแลกบัตรประชาชน และสามารถแลกคืนได้บริเวณทางออกพระราชวัง เจ้าหน้าที่บริการนำไปให้ ไม่ต้องกลับไปคืนที่จุดเดิม เสริมนิดนึงว่าพอสวมผ้าถุงแล้ว อะไรที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงจะเอาออกมายากนิดนึง

• สำหรับผู้ชาย หากไม่มีกางเกงสีดำ หรือไม่สามารถหายืมได้ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ยืมผ้าถุงเช่นกัน
• เสื้อ สุภาพบุรุษสวมเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อมีปกสีดำ ไม่พับแขน สุภาพสตรีสวมเสื้อสีดำสุภาพ ไม่ควรเป็นผ้าบาง เช่น ชีฟอง ลูกไม้ ที่บางเกินไป
• รองเท้า
หากไม่มีสีดำ สามารถใส่รองเท้าสีสุภาพได้ เราสังเกตเห็นว่าผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ใส่รองเท้าแตะสีดำแบบสุภาพ เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้ผ่านได้

จุดบริการยืมผ้าถุง เจ้าหน้าที่บริการดีมาก

รอคิวไม่นาน มีความดีใจ ปนใจหาย

เราเข้าไปนั่งรอคิวตอน 7.30 วันที่เราไปปริมาณคนไม่หนาแน่น อาจเพราะเป็นวันธรรมดา บริเวณนี้เจ้าหน้าที่จัดเก้าอี้เป็น 4 แถว เรียงยาวตามแนวโค้งของสนามหลวง หัวแถวอยู่ฝั่งถนนหน้าพระธาตุ มีพัดลมปัดเป่าความร้อน มีเจ้าหน้าที่ใจดีตามให้บริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น เป็นมิตรจนเราไม่อยากปฏิเสธ มารู้ตัวอีกทีว่า ฉันแบกน้ำมาสองขวดแล้ว

ผ่านไป 10 นาที เจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้กลุ่มของเราลุกขึ้น และเดินเป็นแถวตามที่นั่งไปยังเขตพระราชวัง เรามาถึงก่อน 8 โมง เลยได้เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ถ้าเลยเวลานี้เจ้าหน้าที่จะจัดไปเข้าอีกประตูหนึ่ง สรุปคือเรามีหน้าที่เดินตามอย่างมีระเบียบ ระหว่างเดินนั้นก็สังเกตเห็นว่า 80% ของผู้เข้ากราบฯ เป็นผู้สูงอายุ บวกกับคนเบาบางกว่าวันแรกๆ ใจหายไปอีก

จุดรอคิว

เริ่มเดินแถวเข้าวัง

เจ้าหน้าที่ทหารบริการเข็นรถให้ผู้สูงอายุ

ทหารคอยตรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย และดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

เข้าเขตพระราชวัง งดถ่ายรูป ไม่สะพายกระเป๋า

เมื่อเข้าเขตพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ งดถ่ายรูป พร้อมลดกระเป๋าลงด้วยการถือไว้ด้านข้าง ไม่สะพายกระเป๋า เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ขยับจาก 4 แถวเหลือ 2 แถว จุดนี้แนะนำให้เสียสละให้กันและกันด้วยนะจ๊ะ สลับๆ กันไปบ้าง และอย่าลืมเอื้อเฟื้อแก่คนชรา

ทางเข้าประตูวิเศษไชยชาญ

มาถึง ณ ที่ประดิษฐานพระบรมศพ ก่อนขึ้นกราบ ต้องถอดรองเท้า เจ้าหน้าที่มีบริการถุงใส่รองเท้าให้ยืม พร้อมถือติดตัวไปกับสัมภาระที่นำมา ไม่มีบริการรับฝากของใดๆ แถวที่หนึ่งและสองเดินขึ้นคนละทาง เมื่อเข้าไปถึงภายในจะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดกลุ่มให้เข้ากราบ

เชื่อหรือไม่ว่า ตลอดเส้นทางตั้งแต่นั่งรอคิว เดินเข้าวัง สังเกตบริบทรอบข้าง ความใจหายมาเป็นพักๆ แต่ก็ไม่สะกดใจเท่าวินาทีที่เราได้ก้มลงกราบเบื้องหน้าพระบรมศพ ในใจกลั่นวาจาแห่งความจงรักภักดี พร้อมน้ำตาเอ่อล้นออกมาแบบไม่รู้ตัว คืออีกช่วงเวลาที่เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต

ได้กราบพ่อแล้ว ก้าวลงบันไดด้วยความอิ่มเอมปนอาลัย

หลังจากคืนถุงรองเท้าเรียบร้อย จะมีเจ้าหน้าที่มอบภาพพระราชทาน พระบรมฉายาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้แก่ประชาชนเป็นที่ระลึก และมีสมุดไดอารี่พร้อม บัตรอวยพรภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำหน่ายเพื่อนำเงินสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช และช่วยเหลือผู้ประสพอุทกภัยทางภาคใต้

ทางออกประตูเทวาพิทักษ์  เจ้าหน้าที่ยังจัดอาหาร เครื่องดื่ม และของว่างพระราชทานไว้บริการเป็นอย่างดี จุดนี้ใครที่ขอยืมผ้าถุงไว้ ก็อย่าลืมแลกคืนพร้อมบัตรประชาชน

ของว่างบริการประชาชน

จุดคืนผ้าถุงและรับบัตรประชาชน

หันไปมองบรรยากาศรอบด้านเต็มไปด้วยความชื่นมื่นของผู้ที่ได้มาสักการะ บวกรอยยิ้มของเจ้าหน้าที่ ยกนาฬิกาขึ้นมาดูอีกที เพิ่งจะ 8 โมง ตั้งแต่นั่งรอจนถึงเข้ากราบ เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งถือเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในชีวิตที่จะได้เข้ากราบพระองค์ท่านเพื่อน้อมรำลึกถึงสิ่งที่ท่านได้อุทิศและเสียสละความสุขส่วนพระองค์ตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ท่านเพื่อให้พวกเราได้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็น

นอกจากช่วงเวลาดีๆ ที่อยากแบ่งปันแล้ว เราอยากให้คนที่ยังไม่เคยไปได้สัมผัสความรู้สึกแบบเดียวกัน อย่ากังวลเรื่องความยุ่งยาก เพราะเจ้าหน้าที่ของภาครัฐได้จัดการบริการไว้เป็นระบบ อำนวยความสะดวกในทุกเรื่อง แค่นำกายและใจไปกราบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็น พ่อของแผ่นดิน ในโอกาสสุดท้ายของชีวิตเรา