พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ พระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ย้อนหน้าประวัติศาสตร์ไทย ชมภาพพระเมรุมาศ งดงามวิจิตรอย่างสมพระเกียรติ

Home / ข่าวท่องเที่ยว / ย้อนหน้าประวัติศาสตร์ไทย ชมภาพพระเมรุมาศ งดงามวิจิตรอย่างสมพระเกียรติ

ชมภาพพระเมรุมาศ
งดงามวิจิตรอย่างสมพระเกียรติ

พระเมรุมาศ เป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวสร้างขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า และพระยุพราช แบ่งเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ พระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และเมรุมาศทรงบุษบก ซึ่งถูกลดขนาดลง แต่ยังคงงามวิจิตรอลัง จนถึงปัจจุบัน

การสร้างพระเมรุมาศ คือการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพอยู่บนเขาพระสุเมรุ เมื่อสวรรคตจึงต้องตั้งพระบรมศพไว้บนพระเมรุมาศ เพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม ภูมิทัศน์โดยรอบจึงมีความวิจิตร งดงาม เลอค่า และรายล้อมไปด้วยสัตว์หิมพานต์ ที่ไม่เคยพบเห็นบนโลกมนุษย์ อาทิ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหม หงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา เป็นต้น ตลอดจนสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศด้วย

ขอบคุณรูปภาพจาก: คลิปเด็ดประเทศไทย

พระเมรุมาศทรงปราสาท สร้างขึ้นระหว่างสมัยรัชกาลที่ 1-4 มีทั้งแบบยอดปรางค์และยอดมณฑป คลุมทับพระเมรุทองที่ซ้อนอยู่ด้านใน โดยตั้งฐานพระเบญจาจิตกาธาน  (เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ) ไว้รองรับพระโกศพระบรมศพ ถือเป็นแบบแผนในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) สำหรับที่จัดงานสมัยนั้นเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี และไม่ได้มีงานพระเมรุบ่อยๆ จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” 

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชดำรัสว่า พระเมรุมาศทรงปราสาทใหญ่โตเกินไป สิ้นเปลืองทั้งแรงคนและกำลังทรัพย์ จึงเริ่มใช้ พระเมรุมาศทรงบุษบก ในพระราชพิธีของพระองค์เอง เมื่อปีพ.ศ.2454  ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา และได้ยึดถือกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พระเมรุมาศทรงบุษบก เป็นเพียงพระเมรุชั้นเดียว สร้างบนพื้นราบ ได้ถอดเอาพระเมรุใหญ่ ซึ่งเป็นพระเมรุทรงปรางค์ที่คลุมอยู่ภายนอกออกไป คงไว้เพียงพระเมรุทอง ที่ขยายให้ใหญ่ขึ้น เพื่อสะดวกกับการถวายพระเพลิง เป็นพระเมรุมาศสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น สำหรับพระเมรุมาศของพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคงสร้างเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทตามเดิม แต่ลดรูปแบบ เป็นเครื่องยอดต่างๆ เช่น ยอดปรางค์ ยอดมงกุฏ ยอดมณฑป ยอดฉัตร โดยไม่มีพระเมรุภายใน ส่วนงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไม่มีพระเมรุมาศ เพราะพระองค์เสด็จสวรรคตที่ต่างประเทศ

โดยสรุปแล้ว บริเวณท้องสนามหลวง หรือที่ชาวบ้านคุ้นชินกันว่า ทุ่งพระเมรุ นั้น มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงทั้งสิ้น 29 ครั้งด้วยกัน นับรวมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นคือ

พ.ศ.2339 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

พ.ศ.2342 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1

พ.ศ.2343 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

พ.ศ.2355 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พ.ศ.2361 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ

พ.ศ.2368 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พ.ศ.2369 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1

พ.ศ.2380 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสุลาไลย พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ 3

พ.ศ.2395 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2405 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

พ.ศ.2409 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2412 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2424 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

พ.ศ.2443 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

พ.ศ.2443 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์

พ.ศ.2454 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2463 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5

พ.ศ.2469 พระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนการเวียนรอบพระเมรุ เป็นรถปืนใหญ่แทน ด้วยเป็นไปตามพระราชประสงค์ที่ทรงโปรดการเป็นทหาร

พ.ศ.2471 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมเหสีลำดับที่ 3 ในรัชกาลที่ 5

พ.ศ.2472 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

พ.ศ.2472 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พ.ศ.2473 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

พ.ศ.2499 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในรัชกาลที่ 5

พ.ศ.2528 พระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โดยพระเมรุมาศเป็นทรงปราสาทแบบจัตุรมุข ยึดแบบพระเมรุมาศพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง แล้วมาปรับแบบให้เข้ากับพระราชบุคลิกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งมีลักษณะ สง่า นิ่มนวล จับตาจับใจ หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานชั้นบน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พ.ศ.2539 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยพระเมรุมาศเป็นทรงปราสาทจัตุรมุข โครงสร้างด้านนอกสร้างจากไม้ ภายในเป็นเหล็ก ใช้วัสดุเรซินตกแต่งพระเมรุมาศบางส่วน เพื่อความรวดเร็ว และลดปริมาณไม้ ประดับด้วยกระดาษทองย่นทั้งหลัง

พ.ศ.2551 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ การออกแบบพระเมรุยอดทรงปราสาท ยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 มาเป็นต้นแบบ สะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระองค์ไว้ในภูมิสถาปัตยกรรม ทางด้านวิศวกรรมเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งระบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ

พ.ศ.2555 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  เป็นพระเมรุทรงปราสาทยอดมณฑป

สำหรับ พระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสถาปัตยกรรมทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด มีความสูง 50.49 เมตร ออกแบบตามหลักราชประเพณีโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ โดดเด่นด้วยการถ่ายทอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบลงในภูมิสถาปัตยกรรม เน้นการใช้น้ำเป็นหลัก โดยการสร้างสระอโนดาด เป็นการขุดสระเพื่อใช้น้ำจริงๆ ตั้งอยู่ 4 มุมรอบพระเมรุมาศ ส่วนทางเข้าหลัก ได้ออกแบบภูมิทัศน์ที่สื่อถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่เกี่ยวกับป่า ดิน น้ำ และการเกษตร เช่น คันนาสีทองรูปเลขเก้าไทยบนแปลงนาขนาด 1 ไร่, กังหันชัยพัฒนา, แก้มลิง, ฝายน้ำล้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง 3 ภาพใหญ่ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม บอกเล่าเรื่องราวโครงการพระราชดำริทั่วภูมิภาคของไทย อย่างเห็นภาพและเข้าใจง่าย ตลอดจนงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ทุกๆ ส่วน ล้วนสร้างสรรค์ขึ้นอย่างปราณีต พิถีพิถัน เพื่อส่งเสด็จในหลวงร.9 สู่สวรรคาลัย อย่างสมพระเกียรติที่สุด

ทั้งนี้ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด หรือ โรงเรียน บางส่วนเอาไปใช้งานตามสถานที่ต่างๆ บางส่วนจะกลายเป็นสมบัติและถูกไว้เป็นจดหมายเหตุของชาติ หรือแม้กระทั่งนำไปประมูล

ขอบคุณรูปภาพจาก: kingrama9