งานเทศกาลท่องเที่ยวอีสาน 2552 : Amazing I-San Fair 2009

Home / ข่าวท่องเที่ยว / งานเทศกาลท่องเที่ยวอีสาน 2552 : Amazing I-San Fair 2009
วันที่ 15-18 มกราคม 2552
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 
รูปจาก music.mahidol.ac.th


ชมพิธีเปิดงาน Amazing I-San Fair 2009 วันที่ 15 มกราคม 2552

นำเสนอในชื่อชุด “ม่วนซื่น โฮแซว Amazing อู่อารยธรรม” เป็นการนำเสนอศิลปหัตถกรรม แหล่งท่องเที่ยว และวิถีชีวิต ของภาคอีสานผ่านบทเพลงโคราช โดยศิลปินดีเด่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาเพลงพื้นบ้านโคราช พ่อคำปั่น บ้านแท่น โดยมีการแสดงนาฎศิลป์ นำเสนอภาพดังนี้
– ระบำอัปสรา ถอดแบบมาจากภาพสลักปราสาทหินถิ่นอีสาน
– ระบำไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นระบำที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้กรมศิลปากร ประดิษฐ์ท่ารำถวาย โดยมีอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสังคีตศิลป์ เป็นผู้แต่งเพลงและประดิษฐ์ท่ารำ ร่วมด้วยนายทรงศักดิ์  ประทุมศิลป์  อาจารย์พิเศษด้านนาฎศิลป์พื้นบ้านอีสานวิทยาลัยนาฎศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ช่วย
– ระบำบ้านเชียง เป็นการแสดงที่มีแรงจูงใจจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่จะมีการแต่งกายตามเอกลักษณ์ และลักษณ์เครื่องประดับ ที่ขุดค้นพบที่บ้านเชียง
– ฟ้อนขิดไหมไทอีสาน เป็นการแสดง วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าไหม คือ การลงข่วง และการทอผ้า มานำเสนอในรูปแบบการฟ้อน
– เรือมตร็อด เป็นการแสดงแบบอีสานใต้ ที่นิยมเล่นในงานรื่นเริง

การออกบูธของโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว และร้านค้าร้าอาหารมากมาย

กิจกรรมการแสดงบนเวที ในวันที่ 15-18 มกราคม 2552
นำเสนอศิลปะการแสดงทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ และนำการแสดงที่หาชมได้ยากในปัจจุบันมาแสดง อาทิ การแสดงโส้ทั่งบั้ง ฟ้อนกลองตุ้ม ฟ้อนภูไท เป็นต้น

งานด้านสาธิตกิจกรรม
นำเสนอถึงความหลากหลาย และ  ความโดดเด่นของภูมิภาคอีสาน ที่นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรมแล้ว ความทันสมัยที่เข้ามาชาวอีสานก็ไม่ได้เมินเฉย สามารถนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เป็นแบบอีสาน… ในรูปแบบของคนอีสาน โดยนำเสนอ ผ่านงานต่างๆ ดังนี้


รูปจาก pantown.com


3.1 การบายศรีสู่ขวัญ

เริ่มต้นการชื่นชมวัฒนธรรมอีสาน ด้วยการรับพร ด้วยการบายศรีสู่ขวัญในแบบชาวผู้ไทยถิ่นโคกโก่ง  ชมการ สาธิตและเรียนวิธีการทำขันหมากเบงเพื่อใช้บูชาพระธาตุ
ลองลิ้มเครื่องดื่มของชาวผู้ไทย ที่เรียกว่าอุ และทดลองดูดอุแบบชาวผู้ไทยที่เรียกว่า ขี่ข้างคู่ ที่ต้องดูดอุพร้อมสาวงามชาวผู้ไทย และไม่ลืมกับวัฒนธรรมที่แสนหวานด้วยการฟ้อนรำกับสาวผู้ไทย

3.2 งานลงลาย เพื่อให้สอดรับกับลายเขียนสีบนผาแต้มที่มีการจำลองไว้ในงาน

(1) งานเขียนลายบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
งานเขียนลายในแบบแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง
(2) งานเขียนลายหน้ากากผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
งานเขียนลายตามความเชื่อที่สืบทอดต่อเนื่องจนกลายเป็นความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
(3) งานเขียนลายบ้านกุดนาขาม อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร
งานเขียนลายที่เริ่มต้นด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชนินาถ
จนเกิดลวดลายไทยที่งดงาม จากใจรักของคนกุดนาขาม
(4) งานเขียนลายเบญจรงค์ บ้านโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
งานเขียนลายเบญจรงค์ที่สามารถทำได้ทั้งสืบทอดและพัฒนาให้สอดคล้องกับผืนดินถิ่นอีสาน
และที่นี่ นอกจากการวาดลายเบญจรงค์ ลงบนเครื่องเคลือบแล้ว ยังสามารถวาดลายเบญจรงค์
ลงบนวัสดุอื่นๆ ที่หาได้ในถิ่นที่อีกด้วย

3.3 การประชันเครื่องเสียงแดนอีสาน บ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

พร้อมแสดงในแบบผู้รู้จักเครื่องดนตรีเป็นอย่างดี

3.4 งานปั้น

(1) เครื่องปั้นดินเผา บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
งานปั้นที่เกิดจากประสบการณ์ที่ส่งต่อกันมา วัตถุดิบสำคัญที่ไม่มีที่ไหนเหมือน
ด้วยว่าเนื้อดินบ้านด่านเกวียน มีส่วนผสมของแร่เหล็กกับ แร่สัมฤทธิ์ ที่เป็นเงาดำ
และทนทานโดยไม่ต้องเคลือบ
(2) งานปั้นหม้อบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
งานปั้นหม้อ ที่อยู่กับคนโบราณทั้งชีวิต ใช้เป็นอุปกรณ์ตั้งแต่เกิดจนตาย
เป็นทั้งที่เก็บของกิน ของใช้ และทรัพย์สมบัติ ในพื้นที่มรดกโลก

3.5 งานทอผ้างาม

(1)  ผ้ามุก ผ้าหมี่ สาวไทยโส้ บ้านพะทาย อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
งานผ้าทีมีกรรมวิธีการทอแบบพิเศษ ที่ทอทบไปมาจนผืนผ้ามีลายคล้ายสายสร้อยร้อยไว้ทั้งผืน
(2)  ผ้าเบญจสาเกต  บ้านหวายหลึม อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
ผ้าเบญจสาเกต หรือ ผ้าลายสาเกตนคร ที่เป็นลายโบราณ 5 ลาย ประกอบด้วย ลายดคมเจ็ด
ลายหมากจับ ลายนาคน้อย ลายค้ำเภา และลายคองเอี้ย ที่ถูกทอหลอมรวมเป็นผืนเดียวกัน
(3)  ผ้ากลุ่ม ชลบถพิบูลย์ ชุมชนผ้าทอมืออีสาน (i-san textiles) ผ้าลายใหม่ ในแนวศิลปะแดนอีสาน

3.6 งานสานจากไม้

(1) งานจักสาน บ้านหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
งานหัตถกรรมจักสาน ที่เริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างไผ่ นำมาถักทอสานต่อ
จนเป็นเครื่องใช้มากมาย แล้วเพิ่มคุณค่าด้วยการรมควันเพื่อความสวยงาม
และช่วยรักษาผลงานจากแมลงมด มอด ไม่ให้มาทำลาย
(2) งานทอเสื่อกก บ้านนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
เสื่อกกลายมัดหมี่ ที่สืบสานงานฝีมือตามภุมิปัญญาดั้งเดิม แล้วพัฒนาลายตามโลกสมัยใหม่
อาทิ เสื่อกกลายลิเวอร์พูล ที่สาวกหงส์แดงเห็นแล้วต้องทึ่งว่า Amazing


รูปจาก watmuensarn.com


3.7 เครื่องเงิน มีวิญญาณ เครื่องเงินปะเกือม บ้านโชค เขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ปะเกือม สิ่งสิริมงคลในอดีตที่นิยมมอบให้กันเพื่อแสดงความรัก ความใส่ใจ ของบรรพบุรุษบ้านโชค ที่ความเชื่อเหล่านั้นยังคงส่งต่อให้กัน แต่ประยุกต์ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ด้วยการทำเป็นเครื่องประดับที่สวยงาม ที่ยังคงสอดใส่ความเชื่อแห่งความเป็นสิริมงคลไว้อยู่ในทุกชิ้นงาน

*** น่าพูดถึง
1.  ไหม มูน มัง คือ การนำเสนอวิธีการทอไหมมัดหมี่แบบโบราณของช่างทออีสาน การทอผ้าปูมลายโบราณ
2.  การแสดงผ้าสิ่นสตรีโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวอายุมากกว่า 100 ปี
3.  การแสดงผ้าจากโครงการวิจัยและพัฒนาลายผ้าอีสานร่วมสมัย จำนวน 40 ผืน ซึ่งทุกผืนแจ้งจดลิขสิทธิ์แล้ว
4.  ผู้สนใจสามารถออกแบบลายผ้ามัดหมี่กลิ่นอายอีสาน ที่เป็นตัวคุณ ที่มีเพียงผืนเดียวในโลก ได้ภายในงาน

สอบถามรายละเอียด
TAT Call Center 1672

ข้่อมูล : เที่ยว-ไทย.com