งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ และถวายเทียนพรรษา

Home / ข่าวท่องเที่ยว / งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ และถวายเทียนพรรษา

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ และถวายเทียนพรรษา
วันที่ 5 – 8 กรกฎาคม 2552
ณ วัดพระพุทะบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัดพระพุทธบาทฯในอดีต ยามหน้าแล้งกลางเดือนสาม เดือนสี่ ผู้คนจากทั่วสารทิศจะพากันหลั่งไหลไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเนืองแน่น ปัจจุบันคือวัดพระพุทธบาท  อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สมัยนั้นการขึ้นไปมิใช่เรื่องง่าย ต้องหยุดการทำงานต่างๆ เพื่อเตรียมสัมภาระ จัดหาทุนรอนค่าอาหาร ค่าจ้างช้างม้าเรือแพ การเดินทางยากลำบาก ทั้งชีวิตบางคนอาจมีบุญไปกราบได้เพียงครั้งเดียว บางคนไม่มีโอกาสแม้จะมีความตั้งใจสูงเพียงใด ประกอบกับแต่ก่อนผู้คนมักจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเป็นหมู่ใหญ่ ทั้งหมดล้วนแล้วมีความตั้งใจ  ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ถึง 3 ครั้งในชีวิตจะได้ขึ้นสวรรค์  ดังนั้นทุกคนจึงเพียรพยายามอย่างยิ่ง และเมื่อไปถึงได้กราบรอยพระพุทธบาท ต่างตั้งจิตอธิฐานตามใจปารถนา หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะตีระฆังที่แขวนเรียงรายไว้ด้วยหวังประกาศบุญ ให้เทพยาดาทุกชั้นได้อนุโมทนา ปัจจุบันนอกเหนือจากเดือนสาม เดือนสี่แล้ว ยังมีวันเข้าพรรษาอีกหนึ่งวันที่ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการรอยพระ พุทธบาท

การตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวจังหวัดสระบุรี ถือเอาวันเข้าพรรษา ในวันแรมค่ำ เดือนแปดของทุกปี จะมีประชาชนจากทุกสารทิศ พากันไปทำบุญตักบาตร เนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท เมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันนำดอกไม้ชนิดหนึ่ง คล้ายต้นกระชาย หรือต้นขมิ้น มีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว เรียกกันว่า ดอกเข้าพรรษา (ดอกไม้นี้จะพบในช่วงเข้าพรรษา) มารอใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่งพระภิกษุทั้งวัด จะเดินออกจากศาลาการเปรียญมารับดอกไม้จากพุทธศาสนิกชนที่รอนำดอกไม้ใส่บาตร เพื่อนำขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานบนพระมณฑป ซึ่งรอยพระพุทธบาทภายในวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารแห่งนี้เป็นที่เคารพและ ศรัทราของพุธทสาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่าพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง  และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง หลังจากพระสงฆ์เข้านมัสการรอยพระพุทธบาทที่มณฑปแล้ว ก่อนที่จะเข้าพระอุโบสถจะผ่านพุทธศาสนิกชนที่เฝ้ารออยู่ตรงบันไดนาคเพื่อที่ จะร่วมกันล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์  ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการชำระกิเลส ชำระบาป เพื่อจะได้บุญกุศลและความสุขทางจิตใจติดตัวกลับไป  

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางในช่วงวันเวลาดังกล่าว ททท. สำนักงานลพบุรี ขอแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว "ไหว้พระ ๙ วัด สุขใจใกล้กรุง" ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะเยี่ยมเยือนได้  อาทิ 
1. สักการะหลวงพ่อดำ หรือหลวงพ่อศรีพุทธมงคลมุณี พร้อมศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง ตำนานบ้านเสาร้องไห้ ต้นกำเนิดชื่ออำเภอเสาไห้ ณ วัดสูง อำเภอเสาไห้
2. วัดสมุหประดิษฐาราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปลงรักปิดทองสมัยปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม
3. วัดพระเยาว์ พระพุทธรูปทองคำ ที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายของพม่าที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใส พร้อมแวะชมผ้าพื้นเมืองฝีมือกลุ่มสตรีท่อผ้าไท-ยวน ณ ศูนย์ทอผ้าวัดต้นตาล 
4. วัดเขาแก้ววรวิหาร สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวก ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม และทรงสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง จากนั้นชมวีถีชีวิตและเรื่องราวของชาวไท-ยวน กับอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น ณ ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวไท-ยวน 
5. วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) สถานที่ซึ่งเคยเป็นที่พักแรมของกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือ พระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าทรงธรรม ภายในวัดค้นพบอักษรปัลวะ อักษรโบราณที่มีอายุกว่า 1,200 ปี และนมัสการพระพุทธรูปปางสมาธิภายในถ้ำ 
6. นมัสการรอยพระพุทธบาทวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร  สถานที่จัดงานตักบาตรดอกไม้            
7. วัดศาลาแดง นมัสการพระพุทธนิโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ เป็นพระพุทธรูปประจำทิศตะวันออก สร้างโดยกรมรักษาดินแดนที่สร้างไว้เพียง 4 องค์ ประจำทั้ง 4 ทิศ เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 
8. ชมภาพจำหลักพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเพื่อโปรดสรรพสัตว์ในโลก ในสมัยทวารวดี อายุกว่า 1,600 ปี ภายในวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ 
9. สักการะพระพุทธฉาย (พระฉายา/เงา) ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และนมัสการรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ณ วัดพระพุทธฉาย

โดยนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานลพบุรี  โทร. 0 3642 2768-9  ได้ทุกวันในเวลาราชการ

 ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย