ที่เที่ยวอยุธยา ท้าวทองกีบม้า หมู่บ้านญี่ปุ่น อยุธยา

หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.อยุธยา ตามหาท้าวทองกีบม้า ราชินีแห่งขนมไทย

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.อยุธยา ตามหาท้าวทองกีบม้า ราชินีแห่งขนมไทย

หมู่บ้านญี่ปุ่น จ.อยุธยา
ตามหาท้าวทองกีบม้า ราชินีแห่งขนมไทย

หนึ่งในตัวละครสำคัญของละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส นั่นก็คือ แม่มะลิ หรือชื่อตามประวัติศาสตร์ว่า มารี กีมาร์ (Marie Guimar) สตรีผู้ครองตำแหน่ง ท้าวทองกีบม้า ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ราชินีขนมไทย วันนี้เราจะพามาตามหาเธอกันที่ หมู่บ้านญี่ปุ่น และศึกษาทุกเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งหมู่บ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศไทยมายาวนาน

ย้อมอดีตกลับไป สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา จุดเริ่มต้นของ หมู่บ้านญี่ปุ่น มาจากชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น ซึ่งภายในหมู่บ้านนั้นสันนิษฐานว่ามีชาวญี่ปุ่นอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ พ่อค้า โรนิน หรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน รอบนอกเกาะเมืองเหมือนชาติอื่นๆ โดยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับชุมชนชาวโปรตุเกส ส่วนชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา จะอยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน คั่นด้วยคลองเล็กๆ และในสมัยนั้นจะมีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตนเอง ซึ่งก็คือ นากามาซา ยามาดา  เป็นผู้มีอำนาจและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  มีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น จนได้รับแต่งตั้งเป็นออกญาเสนาภิมุข ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จนสิ้นชีวิต จากนั้นไม่นานหมู่บ้านญี่ปุ่นก็ถูกเผาทำลาย

ปัจจุบันนี้ที่ตั้ง หมู่บ้านญี่ปุ่น (Japanese Village) ก็ยังตั้งอยู่ในที่ตั้งเดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ในตำบลเกาะเรียน อำเภอสำเภอล่ม จังหวัดอยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นโดย สมาคมไทย – ญี่ปุ่น ร่วมมือกับ นักวิชาการไทย และนักวิชาการญี่ปุ่น เพื่อรำลึกถึงชาวญี่ปุ่นผู้มีบทบาทสำคัญ และมีความจงรักภักดีต่อราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิมด้วย

ด้านในมีอาคารจัดแสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ แบ่งออกเป็นอาคาร 9 ส่วน ประกอบด้วยบอร์ดนิทรรศการ การจัดแสดงสิ่งของและวีดีทัศน์ 3 ภาษา ได้แก่

1. ห้องวีดีทัศน์ นำเสนอภาพรวมของพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทั้งไทยและญี่ปุ่น

2. แผนที่เดินเรือมายังกรุงศรีอยุธยา แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา

3. แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ แสดงความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยา จากอดีตสู่ปัจจุบัน

4. ห้องจัดแสดงใต้ท้องเรือ จำลองการขนสินค้านำเข้าและส่งออกในสมัยอยุธยา

5. ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา

6. ห้องจัดแสดงเรื่องราวของชุมชนชาวญี่ปุ่นในพระนครศรีอยุธยา นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเข้ามาของคนญี่ปุ่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ ศาสนา รวมทั้งการลดจำนวนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งสืบเนื่องจากการปิดประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบของแอนิเมชั่น

7. ลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น แสดงด้วยตารางลำดับเหตุการณ์เปรียบเทียบเหตุการณ์โลก ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 คราวตั้งอาณาจักรอยุธยาถึงปัจจุบัน

8 ห้อง e-book

9. เรือโบราณจำลอง จัดแสดงแบบจำลองเรือโบราณที่มีหลักฐานว่าเข้ามาติดต่อกับพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบันสมาคมไทย – ญี่ปุ่น ได้สร้างอาคารนิทรรศการและมัลติมีเดีย “ยามาดะ นางามาซะ ออกญาเสนาภิมุข และท้าวทองกีบม้า” ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ภายในจัดแสดงเรื่องราวและหุ่นจำลองของ นากามาซา ยามาดา ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา ที่กล่าวถึงไปแล้วในเบื้องต้น

อีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องราวและหุ่นขี้ผึ้งของ ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ซึ่งเป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส ได้สมรสกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทั่งในช่วงปลายของชีวิต เธอเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ และนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในกรุงสยาม เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีสวนและศาลาญี่ปุ่น ให้นั่งพักผ่อนสบายๆ ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้ หลังจากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาวยุ่นกันจนเหนื่อย ถ้าเพื่อนๆ มีแพลนมาเที่ยววัดไชยฯ พุทไธศวรรย์ หรือตระเวนหากุ้งเผาอร่อยๆ ทาน ก็อย่าลืมแวะมาที่หมู่บ้านญี่ปุ่น นี้กันด้วยนะ เดินดูสนุก ได้สาระประโยชน์เพียบ แถมมีมุมถ่ายรูปสวยๆ อีกต่างหาก

ค่าเข้าชม :  คนไทย 50 บาท / นักเรียน 20 บาท

ที่ตั้ง : หมู่บ้านญี่ปุ่น ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดทำการทุกวัน 08.30-16.30 น.

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : donmueangairportthai, thai.tourismthailand, wikipedia, museumsiamtwitter intimewithgotarch, wikipedia/Ayutthaya, twitter nanta_sasakul