เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่ 1

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่ 1

เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่ 1

“เที่ยวไทยครึกครึ้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก”

 

สวัสดีครับ ชาว MThai ทุกท่าน วันนี้ Bonboy ณ MThai จะพาท่องเที่ยวทริปที่ชื่อว่า “เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52” ไปกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาจารย์คฑา ชิณบัญชร นักพยากรณ์ชื่อดังครับ ครั้งนี้ไปกันที่ อ่างทอง สุโขทัย กำแพงเพชร ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2552 (ต้องขออภัยที่นำมาออกอากาศช้า…เพราะว่า ต้องเรียบเรียงข้อมูลอิงข้อเท็จจริงด้วยครับ)

ก่อนอื่นก็ต้องเล่าที่มาที่ไปซักนิดนึงว่า Bonboy ไม่ได้รับเชิญในการนี้ตั้งแต่แรกครับ (อ้าว) แต่บังเอิญว่า พี่แอ็ททีมงาน Gossipstar เขามาชวนให้ไปไหว้พระด้วยกัน เพราะเห็นว่าพักนี้ ผมหน้าหมองๆเครียดๆ ซึ่งผมก็ตอบรับทันที (เพราะรู้ตัวเหมือนกันว่าต้องการที่พึ่งทางใจอย่างด่วน) แล้วก็เลื่อมใส อาจารย์คฑา ชิณบัญชรมานานแล้วครับ เพราะว่าอ่านเนื้อหาดูดวงใน horoscope.mthai.com และ ในนิตยสาร gossipstar ก็แม้น..แม่น อยากเจอตัวเป็นๆว่า ทำไมถึงดูดวงได้แม่นโคตรขนาดนี้ แต่ถึงจะบังเอิญอย่างไรก็ต้องขอบอกว่า ไม่ผิดหวังที่ได้มา และพี่ๆน้องๆทีมงานทั่วสารทิศที่ได้รับเชิญในทริปเดียวกันก็อบอุ่นกันทั้งนั้นเลยครับ

เอาล่ะ เรามาเริ่มกันที่วันแรก มุ่งหน้าสู่อ่างทอง ไปที่วัดม่วง อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางมากๆ เราจะเห็นองค์พระพุทธรูปสีทองท่านั่ง (ปางมารวิชัย) แต่ไกลเลยครับ

 

 (โกตา วิทยากรในเช้าวันนี้)

              โกตา ซึ่งเป็นวิทยากรรับเชิญ เล่าว่า ตัวเองเป็นคนสนิทของ หลวงพ่อเกษม ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงสายวิปัสสนา หลวงพ่อเกษมนิมิตว่า มีพระรูปหนึ่ง (หลวงพ่อขาว) บอกแก่ท่านว่า มีวัดเก่าแก่ที่ถูกทำลายสมัยอยุธยา อยากให้มาช่วยฟื้นฟูสร้างเสียใหม่ แล้วจะมีคนมาช่วยก่อสร้างให้ใหญ่โตเอง เมื่อหลวงพ่อเกษมมายังพื้นที่แห่งนี้ก็เกิดเหตุมหัศจรรย์หลายเรื่อง มีเศรษฐีนำเงินมาบริจาค รวมทั้งได้รับแรงกำลังศรัทธาจากชาวบ้าน สร้างสรรค์ผลงานปูนปั้น และก่อสร้างสิ่งต่างๆจนเกิดเป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ผสมระหว่างศาสนาพุทธแบบไทยๆ แบบมหายานตามคติจีน และตามคติพราหมณ์

ดังนั้น เราจึงสังเกตเห็นรูปปั้นเทวรูปพระพรหม พระศิวะ พระพิฆเนศ เทพประจำนักษัตร โป๊ยเซียน เจ้าแม่กวนอินพันมือ ที่สวยงามและผสมผสานความศรัทธาด้วยกัน จุดท่องเที่ยวคือ วิหารแก้ว อุโบสถล้อมกลีบบัว รูปปั้นนรก-สวรรค์ และพระพุทธรูปทองปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

 (อาจารย์ คฑา ชิณบัญชร บรรยายวิธีอธิษฐานขอพรต่อพระพรหม)

 

  (ศาลเจ้าแม่กวนอินพันมือ)

              วิหารแก้ว ภายในเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อขาว (ในนิมิตของหลวงพ่อเกษม) และรูปปั้นเกจิอาจารย์และเทวรูปคติพราหมณ์ มีความสวยงาม ตกแต่งด้วยกระจกหลายชิ้นด้วยกัน

 

  (ด้านหน้าวิหารแก้ว)

(ภายในวิหารแก้ว พระประธานคือหลวงพ่อขาว)

ต่อมาคือ อุโบสถล้อมกลีบบัวเป็นกำแพง ซึ่งเปรียบเทียบดั่งความสงบและการตรัสรู้ มีต้นสาละโดยรอบ (พระพุทธเจ้ากำเนิดใต้ต้นสาละ) สวยงามมากๆ

  (ดอกสาละ)

  (กำแพงกลีบบัวรอบอุโบสถ)

          แล้วก็เดินทางผ่านบริเวณที่เรียกว่า นรก เป็นรูปปั้นจำลองการทรมานชดใช้กรรมในขุมนรก ตามความชั่วแบบต่างๆ เช่นการเป็นคนอกตัญญูต้องกลายเป็นเปรต การพูดโกหกจะต้องโดนดึงลิ้นยาว การมีชู้จะต้องปีนต้นงิ้ว (มีกิ๊ก ที่ทำให้มีคนลำบากใจก็บาปนะจ๊ะ) ดูแล้วก็ ไม่อยากทำชั่วอีกเลย ผมคงจะไม่มีชู้กับใครเขาอีกแล้วครับ (ซะงั้น…)

 

 (รูปปั้นเปรต ย้ำเตือนให้พวกเรากระทำแต่ความดี)

           จากนั้นก็เข้าสู่บริเวณของพระพุทธรูปทองคำมหึมา อยากทราบว่ามหึมาขนาดไหนลองดูรูปที่ผมไปยืน ณ พระหัตถ์ของพระพุทธรูปนะครับ พระองค์นี้มีนามว่า พระศรีศากยมุนีศรีวิเศษไชยชาญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่ง  อาจารย์คฑา ชิณบัญชร ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เป็นปางที่พระพุทธเจ้ากำลังบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ และมีพญามารมาชี้หน้ายั่วโทสะ พระพุทธรูปแสดงความนอบน้อมเพื่อเอาชนะความโอหังของพญามารด้วยการลดมือชี้ไปยังพื้นดิน (แทนที่จะชี้หน้าใส่กัน) ทำให้พระแม่ธรณีร้อนใจต้องแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อปกป้องพระองค์ จึงเป็นที่มาของการใช้สติและความนอบน้อมเพื่อเอาชนะทิษฐิของผู้อื่นครับ
939-attachment

  (พระศรีศากยมุนีศรีวิเศษไชยชาญ)

          ณ จุดที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปชี้ลง เราสามารถไปยืนข้างใต้ แล้วอธิษฐานขอพรได้ครับ

 

  (Bonboy แตะพระหัตถ์และอธิษฐานขอพร)

            เมื่อเดินกลับ ในบริเวณใกล้ๆกันนั้น จะมีบริเวณที่เรียกว่าเป็น รูปปั้นนิทานสอนใจ จากตำนาน ชาดก และบทประพันธ์ต่างๆ สอนถึงความดี ความชั่ว จากนั้น จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า สวรรค์ที่ มีเทพต่างๆตามคติความเชื่อแบบผสมเช่นกัน

ช่วงกลางวันเราไปทานอาหารกันที่ร้าน แม่ลาปลาเผา อันมีสัญลักษณ์เป็นขวดน้ำยักษ์ที่ทำมาจากขวดน้ำเล็กๆมาเรียงกันแล้วฉาบปูน อาหารขึ้นชื่อ ก็ชื่อ “ปลาช่อนเผา” เนื้อเหนียวนุ่ม กับน้ำจิ้มมะขามเปียกหวานหอม ไม่วายจะต้องซื้อเค้กปลาช่อนกลับไปทานด้วย ชิมแล้วได้กลิ่นเค้กเนยนมหอม ไม่มีกลิ่นคาวเลย สูตรเฉพาะของเขาจริงๆ

  (เค้กปลา สูตรแม่ลาปลาเผา)

             กินอิ่มแล้วก็ตรงเข้ากำแพงเพชร ที่วัดปราสาท ทีมงาน อบต. ของตำบลคณฑี (อ่านว่า คนดี ได้ความหมายดีอีกแบบนะนี่) ซึ่งต้องขอชมเชยว่า ทีมงาน อบต. แห่งนี้มีระบบการจัดการ และการนำเสนอของเด็ดของตำบลได้อย่างดี มีวีดีทัศน์ฉายแนะนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราทราบว่า ตำบลแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย มีของกินขึ้นชื่อคือ กระยาสารทที่ต้องทานคู่กับกล้วยไข่ ขาวอวบหวานมัน รสชาตตัดกันกำลังดี

  (อดใจไม่ไหว กินเกือบหมด แล้วเพิ่งนึกได้ว่าต้องถ่ายรูปมาฝากผู้อ่าน -_-“)

              จากนั้นเดินทางเข้าสู่ภายในวัดที่มี หลวงพ่อโตสมัยสุโขทัย และพระพุทธรูปปางลีลาที่มีลักษณะที่อ่อนช้อยงดงาม สามารถแตะมือเพื่ออธิษฐานขอพรได้ (เพียงหนึ่งอย่างเท่านั้น เมื่อได้พรนั้นแล้ว ค่อยมาขอใหม่ ชาวบ้านแนะนำอย่างนั้นครับ) วัดนี้มีส่วนที่เสียหายสึกกร่อนจากอดีตไปบ้าง แต่ทาง อบต. ก็ได้เก็บรักษาใส่ตู้ไว้เพื่อให้ชมเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

  (วัตถุโบราณที่ทาง อบต. แห่งนี้ เก็บรักษาเป็นอย่างดี)

 

 (นกยก อบต. คณฑี กำลังอธิบายให้อาจารย์ คฑา ชิณบัญชรและคุณรักจิตต์ กิตติคำรณ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

 

 

 

 (หลวงพ่อโต ในวัดปราสาท)

 

  (อธิษฐานขอพรด้วยการแตะพระหัตถ์ ขอได้แค่อย่างเดียวเหรอ …อยากได้เป็นสิบเป็นร้อย งกจริงๆเลยเรา)

          ปางลีลา เกิดจากจินตนาการของศิลปินที่คิดไปถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์หลังเยี่ยมพระมารดา เกิดเป็นท่วงท่าย่างก้าวที่เปี่ยมด้วยความศรัทธา

อาจารย์คฑา ชิณบัญชร ให้ข้อมูลเสริมว่า พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย จะมีใบหน้าวงรี ใบหน้ายิ้ม และมีท้องน้อยยื่นเล็กน้อย เป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยอยุธยาแล้วพระพุทธรูปจะมีใบหน้ากว้างและขึงขังกว่า ทั้งนี้เพราะ สุโขทัย มีความสงบร่มเย็นกว่า (สุโขทัย แปลว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข”) ต่างจากสมัยอยุธยาที่มีแต่ศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก (ใครอยากรู้ไปดูหนัง ศรีสุริโยทัย และนเรศวรของท่านมุ้ย หรือหาหนังสืออ่านเอานะครับ)

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์ว่า วัดแห่งนี้ไม่ถูกทำลายไปมากนัก เพราะว่าชาวบ้านสมัยนั้นมีไหวพริบดี รู้ว่าหากพม่ามายึดเมืองใดจะทำสัญลักษณ์เสารูป “หงส์” ไว้ที่หน้าหมู่บ้านหรือวัด แล้วหันหน้าหงส์ไปที่กรุงหงสาวดี (เพื่อแสดงการจงรักภักดีในฐานะเมืองขึ้น) ดังนั้นชาวบ้านจึงทำเสาหงส์ไว้หน้าวัด ทำให้พม่าเข้าใจว่า ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่นี้ไปแล้วจึงยกทัพผ่านไปโดยไม่ได้ทำอันตรายต่อ ศาสนสถานแห่งนี้

 

  (เสาหงส์แสดงถึงเป็นการเมืองขึ้นต่อหงสาวดี)

          เรื่องคติในการยึดเมืองและการตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติต่างๆก็ต่างกันไป ไทย-ลาว จะใช้วิธีการอัญเชิญพระที่ศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนั้นๆมาไว้ที่เมืองหลวง (ดังเช่น พระแก้วมรกตที่เราอัญเชิญมาไว้ยังกรุงเทพฯ) ในขณะที่พม่าจะใช้วิธีการสร้างเสาหงส์ และอาจจะทำลายบางพื้นที่นั้นเสีย เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางชุมชนและการศึกษา การทำลายพื้นที่วัดก็เท่ากับหยุดยั้งความเจริญและทำลายกำลังใจของเมืองนั้นๆ

ทีมงาน อบต. ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เรา แต่ยังมีขนมกล้วย ขนมฟักทอง และน้ำสมุนไพรให้ชิมอีก รวมทั้งนำเด็กๆน้องๆนักเรียนมาแสดงการร่ายรำแบบพื้นบ้านให้ดูด้วยครับ ถึงว่าน้องๆจะไม่ใช่มืออาชีพมีรำหลุดคิวกันบ้าง และความน่ารักของเด็กๆ และความตั้งใจของชาวบ้านชนะใจทีมงานมากๆครับ

 

  (การแสดงของนักเรียน)

 

 

 (น้องคนนี้ ตัวป่วน ไม่ได้แสดงกับเขา แต่ก็มากระโดดโลดเต้นด้วย ต้องลากมาถ่ายรูปซะหน่อย)

            วันแรกจบด้วยการลอยกระทงที่ลำน้ำปิง ซึ่งมีสาขาลำน้ำไหลผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย บ้างก็เล่าว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาแม่น้ำคงคา บ้างก็ว่าเป็นการบูชาโลหะปราสาท แต่ในครั้งนี้ (ซึ่งไม่ใช่วันลอยกระทง) อาจารย์คฑา ชิณบัญชร เสริมความมงคลของทีมงาน (รวมทั้งท่านผู้อ่านนะครับ) ด้วยการลอยกระทงบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าที่สถิตยังเมืองบาดาลมีนาคคอยบูชา ซึ่งเชื่อว่า พระบรมสารีริกธาตุกระจายให้เก็บรักษาอยู่ในสามโลก คือ โลกมนุษย์ สวรรค์ และบาดาล

 

  (กระทงที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้คณะสื่อ)

  (คณะสื่อมวลชนลอยกระทงกันครื้นเครง)

             เสร็จจากวันแรก ก็เข้าโรงแรมพักผ่อนครับ ติดตามตอนที่ 2 เข้าสู่สุโขทัยเลยครับ คลิก!!
ภาพโดย: พี่แอ๊ท Gossipstar
ข้อความถุกแก้ไขเมื่อ 21 มิ.ย. 52 เกี่ยวกับชื่อหลวงพ่อเกษม ขอบคุณท่านผู้อ่านที่แจ้งทีมงานให้ตรวจสอบครับ