เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่ 2

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่ 2
เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52 ตอนที่2 (มาแล้วครับ)
985-amazing_thailand  “เที่ยวไทยครึกครึ้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก”

           วันนี้เราจะเข้าสู่สุโขทัยครับ โดยเริ่มต้นที่ ศาลพระแม่ย่า ตามตำนานเล่าว่า เมื่อประชาชนเรียกพ่อขุนรามคำแหงว่า “พ่อเมือง” จึงเรียกแม่ของพ่อขุนรามคำแหง (พระนางเสือง) ว่า “พระแม่ย่า” ซึ่งมีผู้คนมาสักการะขอพร แก้บนมากมาย Bonboy ก็ขอพรและปิดทองกับพระรูปพระแม่ย่าจำลองด้วยครับ

 

 (อาจารย์ คฑา บรรยายที่มาของศาลพระแม่ย่า)

 

 (หลังศาลมีศาลาพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย)

 

 

 (อาจารย์ คฑา ปิดทองที่พระแม่ย่าจำลอง)

          ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในศาลาขนาดใหญ่งดงามมากๆครับ

          จากนั้นก็เดินทางไปดู ศิลปินที่แกะสลักพระพุทธรูปจากไม้ นับว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่หาดูได้ยาก และเป็นความสามารถเฉพาะตัวจริงๆ โดยนายช่างท่านนี้บอกว่า กำลังถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ลูกหา การแกะสลักอาศัยเพียงสิ่วกับขวานเท่านั้น ส่วนจะออกมาเป็นรูปแกะสลักสามมิติได้อย่างไรก็ต้องอาศัยจินตนาการและฝีมือล้วนๆ

 

  (ช่างแกะสลักไม้ ทำไปได้ยังไงเนี่ย)

 

 

 (นี่ก็ พระพุทธรูปปางลีลาจากท่อนไม้)

           แล้วก็ถึงเวลาที่ผมชอบที่สุด คือ เวลาแห่งการ “กิน” ผมกินที่ร้านขนมจีนบ้านนา ร้านอาหารที่อยู่เลยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยออกมานิดหน่อย มีขนมจีนห้าสี ส้ม(แครอท) เขียว(ชาเขียว) ม่วง(อัญชัน) ขาว และเหลือง(เก๊กฮวย) ท่านผู้อ่านคงไม่อยากจะเชื่อว่า ทีมงานเอร็ดอร่อยกันมากกกกก….จนลืมถ่ายรูปมาฝาก (คุณคงคิดว่า แล้วมันจะบอกทำม้าย….ฮ่าฮ่า เดี๋ยวคราวหน้าค่อยเอาร้านอาหารร้านนี้มาฝากกันครับ

           อิ่มมากแล้วก็มาชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งมีรถรางพาทั่วบริเวณและมีวิทยากรบรรยาย ลักษณะของอุทธยานประกอบด้วย ตัวพระราชวังและวัด ซึ่งเฉพาะแค่วัดล้อมรอบบริเวณก็เป็นหลักร้อยแล้ว ตามความเชื่อสมัยก่อนที่ว่า เมื่อมีศักดิ์ มีบารมี ก็ให้สร้างวัดประจำตัว หรือประจำตระกูลไว้  ดังนั้นวัดในบริเวณนี้จึงเป็นวัดที่สูงศักดิ์ มีความเชื่อตามคติขอม (แบบพราหมณ์) เดิมหลงเหลืออยู่บ้างเนื่องจากสุโขทัยยึดอำนาจขอมมา และอาจจะสร้างวัง-วัดจากพื้นที่ขอมเดิม ดังนั้น ตัววัด จึงมีเจดีย์ที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (แบบทรงพระปรางค์) ผสมกับทรงระฆังคว่ำ (แบบเจดีย์ลังกา) ในบริเวณมีสระน้ำหลายสระเรียกว่า ตระพัง แสดงถึงการชลประทานที่ดี

 

 (สิ่งก่อสร้างแบบ พระปรางค์ ที่กล่าวเป็นศิลปะจากขอม)

           เราได้ขับผ่านบริเวณที่เป็นต้นไม้ ผลไม้ หนาทึบ ซึ่งได้รับการบรรยายว่า เป็นพื้นที่ที่ปลูกใหม่ ตามศิลาจารึกว่า บริเวณนี้มี หมากพร้าว หมากม่วง (มะพร้าว มะม่วง) และอื่นๆ ที่พ่อขุนราม ทรงให้พื้นที่ ใครใคร่ปลูกก็ได้ ผลไม้ที่เกิดมาเจ้าของก็มาเด็ดไปกินไปขาย

           ในบริเวณมีอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกจำลองและกระดิ่ง (ขนาดใหญ่เท่าระฆัง) ไว้เคาะเพื่อร้องทุกข์ตามระบบ “พ่อปกครองลูก” ในสมัยนั้น

 

 (ระฆังร้องทุกข์พ่อขุนรามจำลอง อาจารย์ คฑา มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไรล่ะนั่น)

 
(“พ่อกูชื่อ…แม่กูชื่อ…พี่กูชื่อ…” พยายามอ่านเข้าไป)
 

 (อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้คิดค้นลายสือไท หรือต้นกำเนิดอักษรไทยนี่เอง)

           หลังจากชมโดยรอบแล้ว Bonboy ก็มีโอกาสเดินชมเก็บภาพถ่ายรูป ซึ่ง ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของบริเวณอาคารสถานที่กรุงสุโขทัยสมัยก่อน บรรพบุรุษของพวกเรามีความรู้ความสามารถน่าเลื่อมใสจริงๆครับ

967-attachment

(บริเวณวัดมหาธาตุครับ เอ่อ พี่ครับ พี่ไม่ได้ focus ที่ผมนี่นา)

 (ต้องแบบนี้สิครับ ยังหล่อได้อีกนะเรา เหอๆ)

 

 (พระพุทธรูปในบริเวณที่มักจะมีกำแพงห้อมล้อมแบบพอดีองค์)

 

 (อีกมุมหนึ่งครับ)

         จากนั้น เราก็เดินทางออกจากเขตกำแพงพระราชวัง ไปยังเขตนอกกำแพงเมือง เพื่อเยี่ยมชมวัดอื่นๆบ้าง ซึ่งเป็นวัดที่ชาวบ้านสร้างขึ้น หนึ่งในวัดที่เราไปคือ วัดสะพานหินซึ่ง ตั้งอยู่บนยอดเนินเขา แต่ต้องเดินผ่านกองหินเรียงรายเกือบจะเป็นระเบียบ แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยเป็นบันไดซักเท่าไหร่ (นี่มั้ง เลยเรียกว่า สะพานหิน) ตามความเชื่อโบราณว่า การสร้างวัดบนเขาจะได้ความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า เพราะอยู่ใกล้สวรรค์ชั้นฟ้า และแน่นอนว่า พระพุทธรูปองค์ใหญ่ และเสาศิลาแลงที่ตั้งอยู่บนเขา แสดงถึงแรงงานและแรงศรัทธาของคนสมัยนั้นได้ดี ทั้งๆที่ไม่มีเครื่องทุนแรงใดๆเหมือนในสมัยนี้

 

 (วัดเจดีย์งาม)

 

 (ณ ทางขึ้นวัดสะพานหิน)


 (ทดสอบความศรัทธา วัดตั้งอยู่ปู๊น….ความเป็นจริงมันชันมากๆครับ แต่ถ่ายมาเหมือนเป็นทางราบ)

 

 (อาจารย์คฑา บอกว่า เดินผ่านไปก่อนเลย ไม่ต้องห่วงฉัน แฮ่กๆๆ)

 

 (ถึงแล้วครับ พระประธาน ณ ยอดเขา ของวัดสะพานหิน…แฮ่กๆๆ ด้วยคน)

           อาจารย์คฑาย้ำเตือนให้เรามองจากยอดเขาลงไป เห็นป่าเขาและพื้นที่นาเขียวชอุ่ม นี่แหละ “เศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงตรัสถึง” และนี่ก็คือ “พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่บรรพบุรุษตั้งแต่สมัยสุโขทัยดำรงไว้ให้พวกเราได้มีพื้นดินได้อาศัยอยู่” นอกจากจะได้เสริมมงคลกับการไหว้พระแล้ว Bonboy รู้สึกว่า ได้ความรู้สึกที่ปลื้มในการเป็นคนไทย และรักบรรพบุรุษ รักในหลวงมากขึ้นด้วยครับ

           ระหว่างนั้น (ท่ามกลางการเดินลงเขาเส้นทางสะพานหินอันทุลักทุเล) ก็มีคนทักว่า ผมตัวขาวผ่องเหมือนอาจารย์คฑา ไม่แน่ใจว่าเป็นพ่อลูกพลัดพรากกันมาหรือเปล่า อาจารย์คฑาแกก็บ้าจี้ เรียกไปถ่ายรูปคู่กัน ประชันความโอโม่ โดยให้โพสท่าเทพพนม ท่าไม้ตายของอาจารย์คฑาครับ (จริงๆแล้ว อาจารย์คฑา ขี้เล่นและเฮฮามากๆครับ และก็มีความรู้ทางศาสนาเยอะเสียด้วย)

 

                ได้รับความรู้ครบถ้วนแล้ว จากนั้น เราก็กลับมาที่อุทยานอีกครั้ง เพื่อชมความงามของพระที่วัดศรีชุม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่ได้สัดส่วนที่งดงามมาก

 

 (หน้าวัดศรีชุม ภาพมุมแคบที่ได้เห็นใบหน้าพระพุทธรูป ดูคลาสสิกมากๆ)

 

 (อีกมุมหนึ่งของพระประธานในวัดศรีชุม)

    เราได้ทำสังฆทานและปล่อยโคมยี่เป็งเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุบนสรวงสวรรค์ครับ เป็นอันจบภารกิจวันที่สอง

 

 (แสงเทียนส่องแสง รามคำแหงส่องทาง เอ๊ย ไม่ใช่ละ…แสงธรรม กับการทำสังฆทานครับ)

 

 (อธิษฐาน ลอยโคมด้วยกัน ขอให้รวยๆ ขอให้ได้ลาภ เลื่อนขั้นสูงสู้งงงง….ง)

 

 (พุ่งขึ้นไปเลย ลูกพ่อ)

ติดตามตอนสุดท้ายของทริปมงคลได้ตอนหน้าครับ

กลับไปอ่านตอนที่ 1

ภาพโดย: พี่แอ๊ท Gossipstar