7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 3

Home / ภาคตะวันออก, สมาชิกพาเที่ยว / 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 3

เป็นทริปที่ในฝันที่ไกลจากบ้านที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เป็นทริปที่ใช้ชีวิตอยู่บนรถทั้งวันทั้งคืนเป็นครั้งแรกของชีวิต
เป็นทริปที่เมื่อได้มองขึ้นไปสุดขอบฟ้าแล้ว มันไม่ใช่ขอบฟ้าเดิมที่คุ้นเคย

อ่านคำเตือนก่อนรับชม ได้ที่นี่ http://travel.mthai.com/member-blog/85970.html
หมอๆ ตะลุยโลก http://www.facebook.com/worldwantswandering

7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 3

7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 3

5.วันเดินทาง

5.1 การโหลดสัมภาระสำหรับสองสายการบินที่ไม่เหมือนกัน การเตรียมขวดเปล่าจากไทยไป

นี่เป็นสิ่งที่ควรนึกถึงเมื่อเรานั่งเครื่องบินต่างสายการบินกัน เค้าจะมีน้ำหนักสูงสุดไม่เท่ากัน บางที่ดูถึงความยาวและความกว้างของกระเป๋าด้วย ฉะนั้นเชคให้ดีๆครับ ใช้ได้กับสายการบินทุกที่บนโลกเลย เทคนิคนี้

ต่อมาเรื่องการเตรียมขวดน้ำเปล่า เนื่องจากน้ำในยุโรปแพงมาก เพราะเป็นน้ำแร่ น้ำประปาบ้านเค้าดื่มได้ สะอาด ให้เราเตรียมขวดเปล่าๆ ใส่ไว้ในกระเป๋าเลยครับ ขวดเล็ก เอาใส่กระเป๋าเล็กที่ติดตัวขึ้นเครื่องไปก็ได้ครับ สนามบินที่ผมไป เค้าให้เอาขึ้นได้  ตอนผ่าน immigration แต่อันนี้ไม่รับรองผล 100% ขึ้นอยู่กับนโยบายสนามบินแต่ละแห่ง และเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจนะครับ

5.2การเชคอิน และ เลือกที่นั่ง (นั่งขวาขาไป นั่งซ้ายขากลับ) ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อที่นั่งก่อน
ถ้าเราบินจากไทยไปยุโรป ฝั่งขวาจะเป็นแผ่นดิน ฝั่งซ้ายจะเป็นทะเลครับ ถ้าเลือกได้ ก็นั่งฝั่งขวาครับ มีอะไรสวยๆให้ดูมากกว่า แต่ของผมฝั่งไหนก็เหมือนกันนะ ขาวจั๊วะเลย พูดไป ก็อยากร้อง T-T

1402227018-DSC8737-o

6. การนอนสนามบิน 2 แห่ง (นอนตรงไหน มีเน็ตฟรีมั้ย มีปลั๊กมั้ย เทคนิค และการเข้าเมืองอย่างถูกที่สุด)

ลองเปลี่ยนทัศนคติใหม่ การนอนสนามบิน ไม่ใช่สิ่งน่าอาย มีนักเดินทางทำกันมากมาย เพื่อประหยัดงบประมาณการเปิดห้องพักโรงแรม หรือ ค่านั่งรถบัสหรือรถไฟเข้าเมืองที่ไกลจากสนามบิน เรามาลองดูกันครับว่าสนามบิน 2 แห่งนั้น มีอะไรให้กับนักเดินทางบ้าง

อย่าลืมเอาถุงนอนพกติดตัวไปด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับการนอนในสนามบิน

6.1 ออสโล : Oslo Gardermoen Airport
นอนตรงไหน : หลังเดินออกมาจาก Arrivals ให้เลี้ยวซ้าย จะมองเห็นที่นั่งพิงยาวอยู่ เลือกนอนได้เลยครับ แต่ถ้าคิดว่านอนไม่ไหว หลังเสาใหญ่ๆ ก็ปูถุงนอนๆไปเลย แต่เวลาปูนอนก็น่าจะซักเลยเที่ยงคืนไปแล้วครับ เพราะคนไม่ค่อยมีไฟลท์ลงกันมาแล้ว หรือจะเป็นฝั่งแถวทางไปขึ้นรถไฟเข้าเมือง ที่จะมีเครื่องบินเล็กอยู่ มีบริเวณใต้บันไดเลื่อนครับ ที่เอาตัวเข้าไปนอนได้ นอกจากนี้ ยามดึกมากๆ ร้านอาหารหรือคาเฟ่จะปิดให้บริการ เราก็ไปนอนได้ครับ แต่ไม่ใช่นอนยัน 9 โมงเช้านะครับ เพราะคาเฟ่ ร้านอาหารเค้าต้องเตรียมตัวเปิดร้านนะ

มีเน็ตฟรีมั้ย : ไม่มี ต้องจ่ายเงินเล่นครับ แต่ในกรณีที่เปิด roaming จะเล่นได้ฟรี 2 ชั่วโมงครับ สังเกตได้จากมือถือ จะมีชื่อผู้ให้บริการทางโทรศัพท์ อันนั้นคือ ลองต่อเล่น Wifi ได้ แต่ถ้าขึ้น No service มา ไม่ต้องลองครับ เล่นไม่ได้ T T
มีปลั๊กมั้ย :ไม่มีครับ ต้องใช้ Power Bank ชาร์จมือถือครับ

คำแนะนำ : พก eye cover หรือ ear plug ไอที่ปิดตา ปิดหู เพราะที่สนามบินจะมีทั้งเสียงและแสงรบกวน และอย่าให้ของมีค่าห่างจากตัวเราเป็นอันขาด เพราะของหายคงไม่มีใครรับผิดชอบแน่ๆ นี่แหละคือความท้าทายการนอนสนามบินครับ นอกจากนี้เรื่องอาหารการกิน ในสนามบินอาหารแพงมากครับ แพงแค่ไหนก็เริ่มที่คนละ 350 บาท สำหรับแซนวิช ฮอทดอกครับ ถ้าใครไม่มีปัญหาก็ซื้อทานได้เลย ถ้าใครอยากประหยัดงบ ก็เอาข้าวกระป๋องกับอาหารซองโรซ่า (ฉีกกินได้เลย) จากไทยเนี่ยแหละ ไปกินกัน

1402227232-DSC01349-o

การเข้าเมืองอย่างถูกที่สุด : นั่งรถไฟ NSB คนละ 90 NOK ต่อคนสำหรับขาเดียว (ราวๆ 500 บาท)
อย่าขึ้นรถไฟโดยไม่มีตั๋ว จะมีพนักงานตรวจตั๋วเสมอ อย่าสับสนกับ Flytoget รถไฟความเร็วสูง ราคาคนละเรื่องกันครับ ดูตารางเดินรถไฟที่หน้าจอ ให้ดูที่คำ NSB มันจะมาไม่ถี่เท่า Flytoget บางทีต้องรอเกือบชม.ก็มี ใช้เวลาเดินทางเข้าเมืองไปจอดที่ Oslo Sentralstasjon (สถานีรถไฟหลักใจกลางเมือง) ราวๆ 30 นาที

เวปไซต์รถไฟ NSB >>>https://www.nsb.no/en/our-destinations/airport-by-train

1402227327-2014040318-o 1402227350-2014040318-o

6.2 เฮลซิงกิ : Helsinki-Vantaa airport

นอนตรงไหน : ได้ทั้งบริเวณก่อนออกจากประตู Arrivals และบริเวณหลังเดินออกจาก Arrivals ไปแล้ว ในส่วนเชื่อมต่อระหว่าง Terminal 1 และ 2 จริงๆก็นอนได้หมดแหละครับ ถ้าจะนอนจริงๆ

มีเน็ตฟรีมั้ย : มีครับ เล่นได้ฟรี ตลอดเวลา สุโค่ย อิไต อิไต

มีปลั๊กมั้ย : มีครับ หัวกลมสองขา กระจัดกระจายทั่วสนามบิน สุโค่ย อิไต อิไต

คำแนะนำ : เนื่องจากได้เดินสำรวจแล้วพบว่า ที่นอนที่เวิร์คสุดคือ ที่นอนที่ยังไม่ออกจาก ประตู Arrivals ครับ จะมีทำเลเก้าอี้แบบไม่มีที่เท้าแขน ให้เราเหยียดตัวนอนยาวได้ โดยมุมที่ควรนอน คือ มุมแถวเก้าอี้ที่มีฉากกำบัง ติดกับร้านอาหารชั้นลอย ใครจะเดินผ่านไปมาก็ไม่มีผลกระทบกับเราเท่าไหร่ แถมมีห้องน้ำต้ังอยู่ใกล้ๆ เวลาจะนอนให้ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ถุงเท้าก็สวมไว้ด้วยครับ เพราะอากาศในสนามบินที่นี่ค่อนข้างหนาวเลย พวกผมต้องตื่นขึ้นมาใส่ถุงเท้ากับใส่โค้ทกลางดึกเลยทีเดียว แต่ถ้าหลังออกจากประตู Arrivals ไปแล้ว ก็หามุมที่เป็นเก้าอี้ยาวๆ ไม่มีที่เท้าแขน จัดไปได้เลยครับ

1402227514-2014040606-o
การเข้าเมืองอย่างถูกที่สุด : นั่งรถ Shuttle bus คนละ 6.3 ยูโร
มีรถบริการจากสนามบินตั้งแต่ 5.45 am ถึง 1.10 am ไปจอดที่สถานีรถไฟหลักของเมือง
มีรถบริการไปสนามบินตั้งแต่ 5.00 am ถึง 0.00 am ออกจากสถานีรถไฟหลักของเมือง
(รถจะออกทุก 20-30 นาที) ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

รายละเอียดตารางการเดินรถบัส http://media.finnair.com/files/pdf/FINNAIR_CITY_BUS_TIMETABLE.pdf

1402227568-DSC8403-o

ใครสนใจการใช้ชีวิตยามราตรีที่สนามบินทั่วโลก
เข้าไปที่ http://www.sleepinginairports.net/

ส่วนใครอยากเห็นบรรยากาศการนอนสนามบินแบบวีดีโอ เราทำไว้ให้แล้วครับ

 7. ปูพรมเรื่องแสงเหนือ (อย่างง่ายๆ)  แต่คนไปล่าแสงเหนือจำเป็นต้องรู้

1402227835-Jokulsarlo-o

7.1 การเกิด
เนื่องจากผมชอบทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย จึงขออธิบายสั้นๆว่า แสงเหนือ เกิดจากดวงอาทิตย์ กับ โลก มีอะไรลึกซึ้งกันครับ เท่าเนี่ยแหละครับ สั้นมั้ย!?!?
พูดแค่นี้ เดวจะงง คือโลกเรามีแท่งแม่เหล็กฝังอยู่ภายใน

“มีขั้วแม่เหล็กใต้ อยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ
มีขั้วแม่เหล็กเหนือ อยู่ใกล้ขั้วโลกใต้”

ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ ไม่ใช่ดาวเคราะห์ มีการปะทุ มีการระเบิดที่พื้นผิวตลอดเว
พอมันปะทุ มันจะปลดปล่อยอนุภาคอิเล็กตรอนออกไปทั่วอวกาศ เรียกว่า ลมสุริยะ หรือ Solar wind

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ผิวดวงอาทิตย์ปะทุขึ้น จะปลดปล่อยอนุภาคอิเลกตรอนทุกทิศทุกทางไปในห้วงอวกาศ เรียกว่าลมสุริยะ (Solar wind)
เดวจะงง อิเล็คตรอน คืออะไร มันก็คือ อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ เป็นส่วนนึงของอะตอม อะตอมเป็นอนุภาคที่ไม่สามารถแบ่งแยกต่อไปได้อีกแล้ว

มาต่อที่การเกิดออโรร่า เมื่อลมสุริยะพุ่งมาที่โลก  มันจะวิ่งเข้าหาขั้วแม่เหล็กโลกตามเส้นแรงแม่ เหล็ก ผ่านชั้นบรรยากาศ แต่ด้วย ลองคิดสภาพความเร็วของลมสุริยะที่ระดับความเร็ว1,000 กม. ต่อวินาที อนุภาคลมสุริยะ ชน เข้ากับ อนุภาคก๊าซชั้นบรรยากาศโลก จะเกิดความไม่เสถียรของอนุภาคทันที ลองนึกเล่นๆ เรายืนอยู่เฉยๆ มีไออ้วนคนนึงวิ่ง 4×100 มาชนเราอย่างเร็ว ถาม เรายังยืนอยู่นิ่งๆได้ป่าวหละ นั่นแหละครับ หลักการเดียวกัน เมื่ออนุภาคชนกัน มันเลยต้องมีการคายพลังงานออกมา เราจึงเห็นมันในรูปของสี เช่น สีเขียว ซึ่งเป็นการคายพลังงานของออกซิเจน เป็นต้น

ส่วนเรื่องของสี ขออธิบายดังนี้ครับ สีขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส สีที่เห็นส่วนใหญ่คือสีเขียวหรือขาวอมเขียว ซึ่งเกิดจากอิเลกตรอนชนกับอะตอมของแก๊สออกซิเจนที่ชั้นความสูงไม่มาก  บาง ครั้งจะเห็นสีแดงที่ปลายด้านล่างเกิดจากอิเลกตรอนกระทบกับโมเลกุล ของออกซิเจนหรือไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศที่อยู่ระดับต่ำลงมา  แต่อิเลกตรอน ที่กระทบกับโมเลกุลของไนโตรเจนที่อยู่สูงสุดชั้นบรรยากาศ จะทำให้เกิดแสงออโรราสีน้ำเงินหรือม่วง

ส่วนใครอยากเข้าใจถ่องแท้เรื่องของแสงเหนือ ที่นี่เลยครับ >>> http://cherokee.exteen.com/20100205/entry

7.2 สถานที่เห็นแสงเหนือได้

1402227970-DSC2733-o

แสงเหนือ โดยส่วนใหญ่ เห็นได้ที่ไหนบ้าง ?
1.Alaska, US
2.Northern parts of Canada : Yukon, British Columbia, Yellowknife, Alberta, Ontario
http://www.canadiangeographic.ca/magazine/jf13/map/
3.The southern half of Greenland: Kangerslussuaq, Tassilaq
4.Iceland
5 Northern Norway : Tromso , Lofoten Islands, Svalbard Islands
6.Northern Sweden : Kiruna, Luleå
7.Northern Finland Utsjoki,Ivalo, Hetan, Lapland
8.Murmansk, Russia

ลองเลือกไปดูตามใจชอบ ตามกำลังทรัพย์ และความชื่นชอบในแต่ละประเทศครับ

7.3 ช่วงเวลาที่เหมาะกับการล่าแสงเหนือ พร้อมตารางแสดงกลางวัน-กลางคืนของไอซ์แลนด์ แยกเป็นเดือน

ปกติแล้วแสงเหนือ มันก็มีทั้งปีครับ เพียงแต่ว่า บริเวณแถบขั้วโลก จะมีกลางวันกลางคืน ที่ไม่เหมือนบ้านเรา บางเดือน ไม่มีกลางคืน บางเดือนมีกลางคืนที่ยาวนาน ฉะนั้นแล้ว การล่าแสงเหนือที่ดี ก็ควรมีกลางคืนที่ยาวนาน เพราะกลางวันแสงจากดวงอาทิตย์ทำให้ยังไงก็ไม่เห็นแสงเหนือ

“ช่วงปลายเดือน ต.ค. ถึง ต้นเดือน เม.ย.” จึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการล่าแสงเหนือ

แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้ว คิดว่า ปลายเดือนก.พ. ดีที่สุดครับ เพราะกลางคืนจะนานกว่ากลางวันอยู่ ในขณะที่ช่วงธ.ค. หรือ ม.ค. กลางคืนมันนานมากเกินไปครับ คือยังไม่ทันไรก็มืดแล้ว การไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ก็ต้องพับโครงการไปด้วยเพราะความมืดขณะที่ ปลายมี.ค. ถึงต้น เม.ย. ที่พวกเราไปกัน เป็นช่วงที่กลางวันกับกลางคืน พอๆ กันครับ แต่กว่าจะมืดสนิทก็ปาเข้าไป 3-4 ทุ่มเลย T T

ตารางช่วงระยะเวลาพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกในแต่ละเดือน โดยคร่าวๆ

1402228418-ScreenShot-oหมายเหตุ : ตัวอักษรสีแดง และ น้ำเงิน ที่ผมพิมไว้ แสดงถึงว่าช่วง 4 เดือนนั้น กลางวัน กับ กลางคืน ยาวนานพอๆกันคือประมาณ 12 ชั่วโมง

วันหยุดยาวบ้านเราครั้งต่อไป อย่างเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทยวันสงกรานต์ ไปล่าแสงเหนือ ดีมั้ย?

1402228674-DSC0498-o

ช่วงปีใหม่ 24 ธ.ค.- 3 เม.ค. (11 วัน)
ช่วงสงกรานต์ 10 เม.ย. – 20 เม.ย. (11 วัน)

คำตอบคือ ได้ครับ แต่ แต่ แต่…ช่วงปีใหม่พระอาทิตย์ขึ้น 11.15 am ตก 3.30 pm กลางวันยาวนานเพียง 4 ชั่วโมง 15 นาที
ช่วงสงกรานต์พระอาทิตย์ขึ้น 6.00 am ตก 8.40 pmกลางวันยาวนานถึง 14 ชั่วโมง 40 นาที

บทวิเคราะห์ ถ้าจะไปล่าแสงเหนือช่วงปีใหม่ น่าจะได้แค่ล่าแสงเหนือครับ วิวอะไรตอนกลางวัน คงไม่ทันได้ดูครับเหมาะสำหรับคนที่อยากมาอารมณ์ countdown และมาล่าแสงเหนือเป็นหลักช่วงสงกรานต์ กว่าฟ้าจะมืดสนิทก็เที่ยงคืนไปแล้วครับ (ขนาดปลายมี.ค. ต้นเม.ย.ที่ผมไป 4 ทุ่มยังไม่มืดสนิทเลยครับ T T) เวลาเห็นแสงเหนือจริงๆก็จะได้ราวๆ 3-4 ชั่วโมงครับเหมาะสำหรับคนที่อยากมาอารมณ์ มาเที่ยวชมวิวตอนกลางวัน ถ่ายรูปกันมันครับ สว่างนานมากๆ แสงเหนือไว้เป็นโบนัสมากกว่าสรุปถ้าจะมาล่าแสงเหนือเป็นหลัก-ปีใหม่ดีกว่า ถ้าจะมาเอาวิวกลางวันเป็นหลัก-สงกรานต์ดีกว่าแต่ถ้าจะเอาทั้งวิวทั้งแสง เหนือ – มีนา กับ ตุลา ดีกว่า(เพราะกลางวันกลางคืนยาวนานพอๆกันคือ 12 ชั่วโมง)

7.4 เทคนิคการล่าแสงเหนือให้ประสบความสำเร็จที่สุด

1402228841-Jokulsarlo-o

1.ที่พัก อย่ามีที่นอนที่แน่นอน ให้ walk-in เข้าไปหลังได้ดูพยากรณ์อากาศ และพยากรณ์อวกาศแล้วว่ามีโอกาสได้เห็นมากกว่าไม่ได้เห็น เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า ที่พักที่เรานอนจะฟ้าเปิดวันนั้นมั้ย ถ้าฟ้าเปิดจะมีลมสุริยะพัดผ่านมายังโลกรึเปล่า ส่วนถ้าเช่ารถ camper van คือมีที่นอนอยู่ในรถแล้ว ก็ไม่มีปัญหา ยืดหยุ่นสูงมาก อยากขับไปจอดนอนไหนก็ได้ แต่ถ้าดูพยากรณ์แล้ว ฟ้ามันเน่าสนิท ทั้งประเทศ อย่างนี้อยากไปนอนไหน ก็แล้วแต่ชอบเลยครับ

2.เช็คพยากรณ์อากาศ พยากรณ์อากาศในเว็ปไซต์ของ Iceland เชื่อถือได้ในระยะเวลาสั้น ไม่เกิน 1 วัน ถ้าเป็นกรณี 3 วันล่วงหน้า ดูเอาขำๆ อย่ายึดเป็นจริงจัง เพราะอากาศแปรปรวนมาก ถ้าเปิดดูพยากรณ์แล้วบอกว่าคืนนี้ ฟ้าปิด มีเมฆมาก ข้อมูลนี้ค่อนข้างน่าเชื่อถือ ให้รีบย้ายที่มั่นโดยด่วนไปในที่ที่ฟ้าเปิดให้ทันในช่วงกลางคืน (จะกล่าวถึงเรื่องนี้อีกทีสำหรับพยากรณ์อากาศ)
เช็คพยากรณ์แสงเหนือจาก Kp index
“Kp index พารามิเตอร์น่ารู้ เมื่อต้องออกตามล่าหาแสงเหนือ”

มันคืออะไร???
Kp index เป็นตัววัดการสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กโลก โดยวัดจากลักษณะการสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งดีดกลับในด้านกลางคืนของโลกหลังโดนพายุสุริยะที่วิ่งมาจากการระเบิดของ พื้นผิวดวงอาทิตย์ พอโดนจะยืดยาวออกและดีดกลับ จังหวะที่ดีดกลับจะเกิดแรงสะเทือน ตีออกมาเป็นสเกลที่มีตั้งแต่ 0-9 (0 คือ ไม่มี,9 คือ สั่นสะเทือนสูงสุด)

มันใช้งานจริงยังไง???
ถ้า 0-1 คือ หมดลุ้น เตรียมนอนเอาแรงได้ โอกาสไม่เห็นสูงมาก
ถ้า 1-2 คือ พอลุ้น 50-50 โอกาสเห็นได้ เท่ากับ โอกาสไม่ได้เห็น
ถ้า >2 คือ เตรียมไม่ได้นอนได้เลยคืนนั้น ระเบิดออโรร่าเต็มท้องฟ้าแน่ๆ

มันทำนายล่วงหน้าได้นานมากมั้ย จะได้จองตั๋วเครื่องบินรอไว้???
ทำนายได้ล่วงหน้าแค่ 2 วัน ฉะนั้น ไปลุ้นเอาหน้างานโลดดดดด

มันเชื่อถือได้มากแค่ไหน???
ถ้าไกลๆ เช่น 2 วันล่วงหน้า ดูไว้ขำๆ คลาดเคลื่อนได้มาก
ถ้าใกล้ๆ เช่น 3 ชั่วโมงล่วงหน้า ค่อนข้างน่าเชื่อถือเลยหละ

เราจะดูค่า Kp-index จากไหนได้???
www.spaceweatherlive.com/en/auroral-activity/kp
www.aurora-service.eu/aurora-forecast/

คำเตือน
ทั้งนี้ทั้งนั้น พยากรณ์อากาศ…สำคัญกว่า…พยากรณ์แสงเหนือ
ถ้าฟ้าอย่างเน่า Kp 9 ก็มองอะไรไม่เห็นหรอก
ขณะที่บางที Kp 0-1 อาจมีแสงเหนือเล็มๆที่ปลายขอบฟ้าก็เป็นได้ ถ้าเป็นค่ำคืนที่ฟ้าใสแจ๋ว หมู่ดาวน้อยใหญ่เผยตัวกันบนท้องฟ้า แถมยังมีทางช้างเผือกแสดงโชว์ให้ดูอีกด้วย

ปล. ในส่วนของเวปพยากรณ์แสงเหนือ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าจำเป็นน้อยมากๆครับ เพราะว่าผมลองศึกษาวิธีการดูการพยากรณ์พอสังเขป แล้ว เอามาเทียบกับสถานการณ์จริงๆแล้ว เชื่อถือได้น้อยมาก คือ ฟ้าเปิดทั้งคืน เวปพยากรณ์แสงเหนือบอกว่า Kp-2 ผมยังไม่เห็นอะไรเลยครับทั้งคืน แถมคืนสุดท้ายก่อนกลับ ทางเวปแจ้งเลยว่า Kp – 4 ถึง 5 พอเอาเข้าจริง มันก็ไม่มีครับ
แต่สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องค่าพารามิเตอร์ของแสงเหนือ มีบทความที่เขียนไว้ดีมากเลยครับ จากพี่พิริยะ ในบทความเรื่อง “แสงเหนือเดาล่วงหน้าได้ไหม“ http://www.piriyaphoto.com/auroraprediction/
มันอาจจะยากสำหรับคนที่เพิ่งเร่ิมอ่านครับ ค่อยๆนะครับ ใจเย็นๆ  ตอนผมเริ่มอ่าน ผมก็งงๆครับ หลังๆ ก็ค่อยๆเข้าใจมากขึ้นครับ

3.นอนเก็บแรง รีบนอนในวันที่ฟ้าเน่าสนิท หรือ ไม่มีลมสุริยะพัดผ่านมาแน่ๆ ถึงฟ้าเปิดมากทั้งคืน แต่ถ้าไม่มีลมสุริยะพัดผ่านมาเลย เราก็จะเห็นแต่ดาว ดาว และดาว ฉะนั้นแล้ว เราควรนอนเอาแรงให้เต็มที่ เพราะถ้าคืนไหนฟ้าเปิดและระเบิด คืนนั้นไม่ได้นอนแน่ๆ แล้วถ้าไม่ได้นอนหลายๆคืน มันเหนื่อย มันล้ามากนะครับ พวกผมเจอแสงเหนือ 2 คืนติด คืนที่ 3 แทบไม่อยากไปล่าแล้วครับ คือตามันจะปิดแล้วครับ เพราะตอนกลางวันก็ขับรถไปเที่ยวกันตลอดด้วย โชคดีที่คืนที่ 3 มีแสงเหนือแบบเล็กน้อย และเมฆมาก เราจึงขอหลับกันเป็นตายยาวตั้งแต่ ห้าทุ่ม ยัน แปดโมงเช้า

4.อยู่ในที่มืด หนีให้ห่างจากตัวเมืองให้ไกลที่สุด อย่างน้อย 50 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้มีแสงจากเมืองรบกวนการชมแสงเหนือ กรณีนี้ อาจเข้าใจผิดกันว่า อยู่ในเมืองจะไม่มีวันเห็นแสงเหนือเหรอ ขอตอบว่า มีโอกาสเห็นครับ ถ้าฟ้ามันระเบิดจริง แต่ถ้าเรายกกล้องถ่าย แสงจากไฟเมือง จะทำให้ฟ้าและเมฆติดสีส้ม แลดูอุบาทว์ทุเรศยิ่งนักสำหรับคนไม่ซีเรียสเรื่องการถ่ายภาพเก็บความประทับ ใจกลับบ้าน หรือ กลับมาขายทอดตลาดแบบเรา อยู่ในเมืองได้ครับ แต่สำหรับช่างภาพที่จริงจังกับไฟล์ภาพ โปรดถอยห่างจากเมืองครับ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่

5.สำรวจพื้นที่ เราควรไปเห็นสถานที่ ที่เราอยากไปถ่ายแสงเหนือ ในตอนกลางวัน ก่อนจะกลับไปถ่ายจริงๆในเวลากลางคืนครับ เพราะเวลากลางคืน มันจะมืดมาก ทางเดินในไอซ์แลนด์เดินค่อนข้างลำบากครับ ไม่มีไฟข้างทางด้วย มีแต่ไฟฉายที่เราเตรียมไป แต่ถ้าเคยไปมาแล้ว จะเดินไปตั้งป้อมถ่ายภาพได้เร็วมาก แต่ในกรณีที่มันไม่ทันจริงๆ แล้วฟ้าดันเกิดเขียวทั้งฟ้า แบบนี้ก็ หามุมจอดรถที่ไหล่ทาง ที่ดูปลอดภัย แล้วหามุมไหล่ทางถ่ายรูปเอามันตรงนั้นแหละครับ ถนนในไอซ์แลนด์รถสัญจรไปมาน้อยมาก แต่ก็มีมาตลอดทั้งคืนครับ

6.เติมน้ำมันให้เต็ม ไม่ต้องกั๊กครับ ทางระหว่างปั๊มนึงไปอีกปั๊มนึง ไม่ถี่ยิบเท่าในไทยครับ เพราะเราต้องขับรถทั้งกลางวันกลางคืน อย่าให้เรื่องน้ำมันมาเป็นอุปสรรคในการล่าแสงเหนือเลยครับ

7.5 เทคนิคการถ่ายแสงเหนือ

ขั้นเตรียมตัว

1.เสื้อผ้ากันหนาว นี่ขอจัดเต็มนะครับ อย่าไปงกกับอุปกรณ์กันหนาวครับ จำเป็นจริงๆ ถ้าเป็นไปได้ ปิดทุกอย่างให้เหลือแต่ตาก็จะดีครับ พอลมมาปะทะหน้าซักที แม่คุณเอ้ยยย ทรมานสุดๆ ล่าแสงเหนือ มีแต่หนาวมาก กับ หนาวโคตรๆครับ รองเท้า ถุงมือ อะไรนี่เอาสำหรับลุยหิมะ กันลมเลยนะครับ เพราะส่วนที่หนาวที่สุด คือ ปลายมือปลายเท้าครับ ที่จะเริ่มชาก่อนจนไร้ความรู้สึก

2.ไฟฉาย ถ้าให้ดี ควรมีไฟฉาย Headlight ครับ เพราะเราจะได้มีสองมือที่ว่างในการถ่ายภาพได้สะดวก ถ้าไม่มีจริงๆ ก็คงต้องใช้ปากคาบไฟฉายแทนแล้วหละ อย่าลืมนะครับ ตอนนั้นอุณหภูมิมันติดลบ หนาวสุดๆ มือมันทำงานได้ไม่ถนัดเหมือนสาดน้ำสงกรานต์เดือนเมษาครับ

3.อุปกรณ์กล้อง
-ขาตั้ง ขอแบบที่แข็งแรงพอ ไม่ใช่กางไป ขาหัก ที่จบเลยนะครับ มันไม่ได้หาซื้อง่ายเหมือนมาบุญครองบ้านเราครับ
-สายลั่นชัตเตอร์ หรือ รีโมทลั่นชัตเตอร์ เพราะต้องใช้สปีดชัตเตอร์ที่ยาวนานหลายวินาที จึงต้องมีเพื่อไม่ให้ภาพสั่นครับ
-กล้องถ่ายภาพ ในทริปนี้ มีกล้อง 3 ประเภท คือ
1.Mirrorless (Sony รุ่น NEX-5R)-ปลา
2.DSLR ชนิด กล้องตัวคูณ (Nikon D7000)-วิน
3.DSLR ชนิด ฟูลเฟรม (Nikon D610) –โจ้

-เลนส์กล้อง สำหรับการถ่ายแสงเหนือ เราต้องถ่ายท้องฟ้ายามกลางคืน เก็บมุมกว้าง และต้องการเลนส์ที่มีความไวแสงที่มาก เลนส์ที่แนะนำว่าควรต้องมีในการล่าแสงเหนือคือ “Wide Lens” ควรเป็น F 2.8 หรือต่ำกว่า จะเป็น F 1.4 ก็ได้ยิ่งดี

ถามว่ามีเลนส์ F 4.0 เอาไปใช้ได้มั้ย ตอบว่า
ได้ครับ แต่ต้องเพิ่ม ISO เพื่อถ่ายในระยะเวลา 5-12 วินาที ทำให้ภาพเกิด Noise ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพมาก ก็เอาไปได้ครับ

ถามต่อก็ใช้ ISO น้อยๆ ลาก speed shutter นานๆดิฟระ
ตอบว่า ได้ครับ แต่ดาวมันจะเคลื่อนที่ครับ ปกติเค้าจะใช้สูตร 400/ช่วงเลนส์ สำหรับกล้องตัวคูณเพื่อป้องกันไม่ให้ถ่ายภาพกลางคืนบนท้องฟ้าแล้วดาวเคลื่อน เป็นเส้น แทนจะเป็นจุด เช่น 400/11 mm คือ 36 วินาที หรือ สูตร 600/ช่วงเลนส์ สำหรับกล้องฟูลเฟรมครับ

-แบตกล้อง สำหรับกล้อง DSLR ควรมีอย่างน้อยที่สุด 2 ก้อนขึ้นไป ลองคิดดู แสงเหนือกำลังระเบิด เลนส์มุมกว้างกล้องเพิ่งซื้อมาอย่างดี กล้องอย่างแพง แต่แบตดันหมดนี่ ชีวิตบัดซบเลยนะครับ
-เมมโมรี่การ์ด เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึง เนื่องจากภาวะอาการ “ถ่ายมันส์” ที่ไอซ์แลนด์ มีวิวขั้นเทพให้กดชัตเตอร์รัวๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน การพกหน่วยความจำที่ดีและเร็วที่เพียงพอก็จะไม่ทำให้ชีวิตบัดซบเช่นกัน ข้อแนะนำคือ ควรพกเมมโมรี่การ์ด Class 10 ขึ้นไป ถ้าต้องการถ่ายภาพทำ Time-Lapse เพื่อการประมวลผลที่รวดเร็วและทันใจ ขนาดความจุ จะขึ้นกับชนิดกล้อง กล้องตัวคูณ ย่อมใช้หน่วยความจำที่น้อยกว่ากล้องฟูลเฟรม แบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์ดูว่า ปกติ ไปเที่ยวถ่ายรูป ทริปๆนึง ใช้เมมมากแค่ไหน แล้วก็มาเปรียบเทียบเอา แต่ผมจัดไป 64 GB คือ SD card 32 GB 2 แผ่นครับ
-โน้ตบุ๊ค เนื่องจากการไปทริปที่ระยะเวลายาวนานเกิน 1 สัปดาห์ การจะพกเมมไปแล้วคิดว่าถ่ายพอนั้น อาจจะไม่แน่เสมอไป จึงควรพกโน้ตบุ๊คและ External Harddisk เพื่อโอนไฟล์รูปที่เราถ่ายเก็บไว้ครับ ส่วนโน้ตบุ๊คอะไร ก็มีอะไรก็เอาไปแบบนั้น เอาให้เก็บให้พอเป็นใช้ได้

เรามาดูรายละเอียดพอสังเขปของกล้องแต่ละตัวกันนะครับ เผื่อสำหรับคนสนใจ ใครโอเคแล้ว ผ่านได้เลยครับ

การถ่าย Landscape และแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์ด้วยกล้อง Mirrorless

อุปกรณ์หลักที่ใช้ถ่ายภาพครั้งนี้ได้แก่
o    กล้อง Sony รุ่น NEX-5R (http://www.sony.co.th/product/nex-5rl)
o    เป็นกล้อง Mirrorless ที่มีเซนเซอร์แบบ Exmor™ APS HD CMOS ความละเอียด 16.1 ล้านพิกเซล
o    ISO Sensitivity AUTO (ISO100-25600)
o    ความไวชัตเตอร์ 1/4000 to 30 sec, Bulb
o    ข้อดี คือ น้ำหนักเบา สามารถพกใส่กระเป๋าใบเล็กได้สบาย อีกทั้งเลนส์ของกล้อง Mirrorless ก็มีขนาดเล็ก และเบา ทำให้เราสามารถแบกกล้อง พร้อมกับเลนส์ครบทุกช่วงลุยขึ้นเขา ลงห้วยได้อย่างคล่องตัว

–    เลนส์ที่ใช้เป็นเลนส์มุมกว้างกลุ่ม E-Mount ได้แก่ E 16mm F2.8 (SEL16F28) และ E 10-18mm F4 OSS (SEL1018) สำหรับถ่ายภาพแสงเหนือ และ Landscape ส่วนเลนส์อื่นๆได้แก่ เลนส์ซูมมาตรฐาน เลนส์ซูมไกล

อุปกรณ์เสริมได้แก่
–    ขาตั้งกล้อง ซึ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคง รองรับน้ำหนังตัวกล้อง และเลนส์ได้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยไม่ให้อุปกรณ์สั่นไหว โดยการเลือกใช้ขาตั้งกล้อง mirrorlessนั้น อาจใช้ขาตั้งกล้องที่มีน้ำหนักเบากว่ากล้อง DSLR ได้ เนื่องจากส่วนของทั้ง Body และ Lens ของ Mirrorless นั้น มีขนาดเบากว่ามากเมื่อเทียบกับกล้อง DSLR ทั่วไป
–    รีโมต คอนโทรล สำหรับกดสั่งชัตเตอร์ จะช่วยลดการสั่นไหวจากการที่เราต้องสัมผัสกล้องในการกดชัตเตอร์ ลดความสั่นเบลอของภาพ
–    แบตเตอรี่สำรอง โดยส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกว่าแบตเตอรี่หมดค่อนข้างเร็วกว่ากล้อง DSLR เมื่อเทียบจากการใช้งานที่เท่าๆกัน ยิ่งถ้าต้องถ่ายกลางคืนที่ต้องใช้การเปิดหน้ากล้องนานๆ ยิ่งหมดเร็วทีเดียว นอกจากนี้การถ่ายแสงเหนือท่ามกลางอากาศหนาวๆก็จะทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้น อีก ดังนั้นพกแบตเตอรี่สำรองไว้หลายก้อนหน่อยจะอุ่นใจกว่าค่ะ
–    Electronic Viewfinder เป็นช่องมองภาพแบบ Tru-Finder (เมื่อมองผ่านช่องEVF นี้จะเห็นภาพที่เสมือนจอภาพที่แสดงบนจอ LCDกล้อง) เนื่องจากกล้อง Sony NEX-5R นี้ไม่มีช่องมองภาพติดมากับตัวกล้อง (แต่จอ LCD สามารถพับขึ้นได้ถึง 180องศา ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง เพราะบางคนก็ชอบที่จะปรับจอขึ้นมาถ่ายรูปตัวเองได้สบายๆเลย) อุปกรณ์นี้จะมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพกลางแดดจ้าที่จะทำให้เรามองเห็นจอ LCD ไม่ชัด โดยต่อ EVFนี้เข้ากับช่องด้านบนซึ่งเป็นช่องเดียวกับ Flash ข้อเสียคือราคาค่อนข้างแพง (8,990 บาท) ถ้าไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มมากนัก อาจแก้ปัญหาเมื่อต้องไปถ่ายในที่แจ้ง คือพับหน้าจอขึ้นเล็กน้อยเพื่อเลี่ยงแสงสะท้อนบนจอ LCD ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

ประสบการณ์ในการถ่ายแสงเหนือด้วยกล้อง Mirrorless
อุปสรรคในการถ่ายแสงเหนือด้วยกล้อง Mirrorless ครั้งนี้คือการโฟกัสภาพ เพราะแสงออโรร่าเมื่อดูด้วยตาเปล่า หรือมองผ่านกล้องนั้นมีความสว่างน้อยมาก จึงควรใช้การโฟกัสแบบ Manual และตั้งโฟกัสไปที่ Infinity ซึ่งเลนส์ของกล้อง DSLRหลายๆตัวก็จะมีปุ่มให้ปรับไปโฟกัส Infinityได้เลย ไม่ต้องหมุนหาจุดโฟกัสเอาเอง แต่จากการที่ใช้เลนส์ Sony E-Mount ของกล้อง Mirrorless ทั้ง E 16mm F2.8 (SEL16F28) และ E 10-18mm F4 OSS (SEL1018) ซึ่งเลนส์ทั้งสองตัวนี้ไม่มีปุ่มให้ปรับไปโฟกัส Infinity ดังนั้นจึงต้องพยายามหมุนเลนส์ แต่ยากพอสมควรในการหมุนปรับ เพราะถ้าหมุนเลยไปนิดเดียวภาพก็จะหลุดระยะชัดได้ ทางแก้คือพยายามหาแหล่งกำเนิดแสงไกลๆเช่น ดวงไฟ แสงรถผ่าน แสงไฟบ้าน มาช่วยให้เราหมุนหาโฟกัสได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะใช้ไฟฉายส่องไปจุดไกลๆ ช่วย แต่กรณีนี้จะสร้างปัญหาให้กับช่างภาพคนอื่นๆในละแวกนั้นที่มาล่าแสงเหนือ ด้วยกัน เพราะแสงของเราจะไปรบกวนการถ่ายภาพของเขาค่ะ
อาจจะมีทางเลือกใหม่ๆ ได้แก่ หา Adapter แปลงให้สามารถนำเลนส์ของ Nikon หรือ Canon ที่สามารถปรับไปที่ระยะ Infinity ได้ มาใส่กับกล้อง Mirrorless แต่ขนาดเลนส์อาจจะไม่สมดุลย์ และมีขนาดหนักขึ้นค่ะ

สุดท้ายนี้รูปที่ออกมาอาจไม่งามดั่งใจมโนไว้….แต่ประสบการณ์ และความผิดพลาดต่างๆ คือการเรียนรู้เพื่อที่จะออกล่าแสงเหนืออีกครั้ง ☺

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402229853-1001564910-oปลา

1402229724-pla-o———————————————————————————————————–
สำหรับกล้องตัวคูณ และเลนส์ที่ใช้ในทริป
Nikon d7000 body with Lens kit 18-105 mm F3.5 VR        ราคา 29,000 บาท
Nikon AF-S DX VR 55-200mm f/4-5.6G IF-ED                    ราคา 4,500 บาท
Tokina AF 11-16mm f/2.8                                    ราคา 16,000 บาท
ประสบการณ์ในการถ่ายภาพแสงเหนือ สำหรับ Nikon D7000
ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยแน่ใจครับว่า ประสิทธิภาพกล้องตัวคูณ จะเปิด ISO ขนาด 3200 แล้วจะ Noise บานมั้ย เพราะไม่เคยถ่ายมาก่อนครับ ปกติถ่ายแต่ ISO 100-400 พอมาถ่ายจริงก็พบว่า ใช้ได้เหนือความคาดหมายเลย แน่นอนครับว่ามี Noise เกิดขึ้น ถ้าสำหรับลงภาพใน FB หรือ pantip อาจจะโอเคครับ แต่สำหรับคุณภาพที่สำหรับไปขายภาพในเวปไซต์นี่ จะได้หรือไม่ ผมยังไม่ได้ลองครับ เลยบอกไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่า คนที่ยังไม่มีกล้อง Full Frame แล้วไม่ได้จริงจังถึงคุณภาพไฟล์ภาพที่อยากได้มุมกว้างมากกว่ากล้องตัวคูณ และ Noise ที่น้อยกว่า จากคุณสมบัติของกล้อง Full Frame กล้องตัวคูณในทุกรุ่น ไม่ใช่แค่ D7000 กับเลนส์ Wide F 2.8 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าพอใจครับ

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402232886-Jokulsarlo-oวิน

———————————————————————————————————–
สำหรับกล้องฟูลเฟรม และเลนส์ที่ใช้ในทริป
Nikon d610 body                     ราคา 50,500 บาท
Nikon 16-35 F4 VR              ราคา 37,000 บาท
Nikon 70-200 F4 VR              ราคา 38,000 บาท
Tamron 24-70 F2.8 VR          ราคา 27,000 บาท
Samyang 14mm F2.8             ราคา 13,000 บาท

ประสบการณ์ในการถ่ายภาพแสงเหนือ สำหรับ Nikon D610
เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์จากกล้องตัวคูณ เป็นกล้องฟูลเฟรม ด้วยราคาหลักแสนบาท แน่นอนว่าคุณภาพที่ได้มันย่อมสูงกว่า และดีกว่า กล้องตัวคูณอย่างเห็นได้ชัด ทั้งมุมมองที่กว้างขึ้นจากเลนส์ Wide หรือ การลด Noise ของภาพก็ทำได้ดีมากกว่าภาพจากกล้องตัวคูณ หากใครมีงบประมาณถึง ย่อมแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้รุ่นใหญ่เลยดีกว่า แต่ถ้าใครไม่งบไม่ถึง ก็มองว่ายังไม่จำเป็นถึงขึ้นต้องซื้อกล้อง Full Frame และเลนส์ใหม่ทั้งหมด เพื่อมาถ่ายแสงเหนือ เพราะกล้องตัวคูณ ก็สามารถถ่ายแสงเหนือได้ดีเช่นกัน ขอให้เลือกเลนส์ที่ดีในการถ่ายก็พอ

ตัวอย่างไฟล์ภาพ

1402233024-Jokulsarlo-oโจ้

——————————————————————————————————–

ลองมาดูกันว่าในสถานการณ์จริงๆ แล้ว เราเตรียมตัวไปเผชิญลมหนาวด้านนอก เพื่อล่าแสงเหนือกันยังไง มีคลิปให้ชมครับ

7.6 ขั้นตอนขณะถ่ายภาพแสงเหนือ

1.สังเกตสีของท้องฟ้า ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แสงเหนือ จะเป็นแถบสีเทาๆ ถ้าคนไม่เคยเห็นจะไม่แน่ใจ ให้ยกกล้องขึ้นมาถ่าย โดยยังไม่ต้องตั้งขาตั้ง โดยอาจเซตค่ากล้องดังนี้
“ISO 6400,Speed 3-5 sec, F2.8”
ถ้าใช่ รูปหลังกล้องจะมีแสงสีเขียวชัดเจน
ถ้าไม่ใช่ รูปหลังกล้องจะเป็นสีเทาทึมๆเช่นเดิม

2.พาตัวเองไปอยู่ในที่ปลอดภัย ไร้แสงรบกวนจากรถที่วิ่งมาตามถนน ตั้งขาตั้งกล้องให้มั่นคง รู้ว่าลก มือไม้สั่น ตื่นเต้น ทำไรไม่ถูก พยายามเลือกฉากหน้า เป็นภูเขา ธารน้ำแข็ง บ้านคน หรือโบสถ์เท่าที่เป็นไปได้

3.ให้ Set ค่ากล้องเป็น Mode Manual ดังนี้
ISO 800-3200 แสงเหนือสว่างมาก ก็ ISO 800 แสงเหนือสว่างน้อยก็ ISO 3200
F 2.8 หรือ ต่ำกว่า เพื่อเก็บภาพกลางคืนที่ให้ความสว่างที่มากกว่า ในสปีดชัตเตอร์ที่ยาวนานเท่ากัน
Shutter Speed 5-30 sec. ถ้าแสงเหนือสว่างมากก็แค่ 5 sec ถ้าแสงเหนือสว่างน้อยก็ 30 sec แต่ระยะเวลาที่แนะนำคือ 5-15 sec เพราะแสงเหนือมันเปลี่ยนรูปร่างอยู่ตลอดเวลาครับ ถ้าอยากถ่ายให้มันดูเหมือนมีรูปร่างต้องเปิดชัตเตอร์ไม่นานมากครับ
เปลี่ยน Mode Auto focus เป็น Manual focus พร้อมโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ ระวังฉากหน้าที่เลือกมา เพราะการเลือกฉากหน้าที่ใกล้มากๆ เมื่อโฟกัสภาพไปที่ระยะอนันต์ จะทำให้ฉากหน้าเบลอได้
ถอดฟิลเตอร์ทุกชนิดที่ติดอยู่กับตัวเลนส์ให้หมดครับ
ปรับโหมดจากกดชัตเตอร์ด้วยมือ เป็นกดชัตเตอร์ด้วยการควบคุมจากสายลั่นหรือรีโมทไร้สาย
เปิดโหมด High ISO Noise Reduction ให้เป็น “ON”
เปิดโหมด Long Exposure Noise Reduction ให้เป็น “ON” ข้อแนะนำสำหรับโหมดนี้ ถ้าคนที่ต้องการถ่ายภาพ Time lapse จำเป็นต้อง “OFF” ครับ
ถ่ายภาพในโหมดไฟล์ RAW เพื่อนำมาปรับแต่ง White Balance ได้ในภายหลัง
ปิดไฟฉาย ไฟรถ ไฟทุกชนิดที่ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงที่จะรบกวนการถ่ายภาพแสงเหนือ
เพลิดเพลินกับแสงเหนือ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้เหมือนกับว่า “คืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายที่จะได้เห็นแสงเหนือแล้วในชีวิต”

ขอบคุณบทความและภาพ คุณ cescassawin (หมออัศวิน) จาก http://pantip.com/topic/32164247

 โปรดติดตาม 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 4

รวมลิงค์ 7 ตอน ตามล่า แสงเหนือ

7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 1

– 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 2

– 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 3

– 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 4

7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 5

– 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนที่ 6

โปรดติดตาม 7 หมื่นตามล่าฝัน 17 วันทำได้ไง ไปล่าแสงเหนือ ตอนจบ