กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยคืน 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2559 มีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” ชาวไทยเรียก “ฝนดาวตกวันแม่” แนะชมหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ปีนี้โชคดีไร้แสงจันทร์รบกวน ลุ้นให้ปลอดฝนเห็นด้วยตาเปล่าทั่วไทย
เตรียมดู “ฝนดาวตกวันแม่” คืนวันที่ 12 สิงหาคม 59

credit: http://www.goldpaintphotography.com/
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ฝนดาวตกในรอบปีมีเป็นจำนวนมาก แต่ฝนดาวตกที่นักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือให้ความสนใจไม่แพ้ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และ ฝนดาวตก เจมินิดส์ คือ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคม ของทุกปี ในเมืองไทยเราจึงเรียกว่า “ฝนดาวตกวันแม่” ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2559 ตามเวลาในประเทศไทย จะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกดังกล่าวได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีสีสันสวยงาม ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะเห็นฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ถึง 150 ดวง/ชั่วโมง ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนดาวตกสูงสุด คือ ประมาณ 02.00-03.00 น. โดยเฉพาะบริเวณประเทศทางฝั่งตะวันออกของไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยในเวลาดังกล่าว กลุ่มดาวเพอร์เซอุสจะอยู่ที่ตำแหน่งกลางท้องฟ้าพอดีและถือเป็นปีที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าประมาณเที่ยงคืน ถ้าสภาพอากาศปลอดโปร่งจะสามารถสังเกตเห็นได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมาก แต่คงต้องลุ้นกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน มักจะมีเมฆปกคลุม จึงทำให้มองเห็นค่อนข้างยาก
ภาพโลกโคจรเข้าไปในสายธารของสะเก็ดดาว ซึ่งดาวหางสวิฟท์- ทัตเทิล ได้เหลือทิ้งไว้ หลังจากที่มาเยือน ระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งครั้งล่าสุดที่ดาวหางดวงนี้เข้ามาใกล้คือ ปี ค.ศ. 1992
(ภาพโดย Bob King :http://astrobob.areavoices.com )
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกของเราหันเข้าหาทิศทางที่ดาวตกพุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ในขณะที่เวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก จะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราไม่เร็วนัก มีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ จึงสังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ ทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม– 24 สิงหาคม ของทุกปี
ตำแหน่งของกลุ่มดาวเพอร์เซอุสอยู่ด้านล่างของกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ซึ่งเป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือ
คราวนี้เรามาดูกันว่า ดาวตก เกิดจากอะไร
ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาว (meteoroid) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของดาวหางและดาวเคราะห์น้อย เคลื่อนเข้าสู่บรรยากาศโลก หากสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีเมฆหมอก แสงจันทร์ และแสงไฟฟ้ารบกวน โดยทั่วไปสามารถมองเห็นดาวตกบนท้องฟ้าได้เฉลี่ยราว 6 ดวงต่อชั่วโมง ดาวตกที่สว่างมากเรียกว่าลูกไฟ (fireball) หากระเบิดเรียกว่าดาวตกชนิดระเบิด (bolide) ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดเสียงดัง
เส้นทางที่สะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนที่เป็นสายไปในแนวเดียวกันในอวกาศเรียกว่าธารสะเก็ดดาว (meteoroid stream) แรงโน้มถ่วงของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาวเคราะห์ ส่งผลรบกวนต่อธารสะเก็ดดาว เมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว ซึ่งเกิดขึ้นหลายช่วงของปี จะทำให้เห็นดาวตกหลายดวงดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นมุมมองในเชิงทัศนมิติ ลักษณะเดียวกับที่เราเห็นรางรถไฟบรรจบกันที่ขอบฟ้า เรียกปรากฏการณ์ที่เห็นดาวตกดูเหมือนพุ่งมาจากจุดเดียวกันนี้ว่าฝนดาวตก (meteor shower)

ในรอบปีมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะและจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมง แต่ก็ยังเรียกว่าฝนดาวตก ดาวตกจากฝนดาวตกสามารถปรากฏในบริเวณใดก็ได้ทั่วท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นย้อนไปตามแนวของดาวตก จะไปบรรจบกันที่จุดหนึ่ง เราเรียกจุดนั้นว่าจุดกระจาย (radiant) ชื่อฝนดาวตกมักตั้งตามกลุ่มดาวหรือดาวฤกษ์ที่อยู่บริเวณใกล้จุดกระจาย
ดาวตกจากฝนดาวตกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจุดกระจายขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าแล้ว ฝนดาวตกแต่ละกลุ่มจึงมีช่วงเวลาที่เห็นได้แตกต่างกัน แสงจันทร์และแสงจากตัวเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตดาวตก จึงควรหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืด ยิ่งฟ้ามืดก็จะยิ่งมีโอกาสเห็นดาวตกได้มากขึ้น อัตราตกของฝนดาวตกมักสูงสุดในช่วงที่จุดกระจายอยู่สูงบนท้องฟ้า จึงควรเลือกเวลาสังเกตให้ใกล้เคียงกับช่วงที่ตำแหน่งของจุดกระจายอยู่สูงสุด ซึ่งสามารถหาได้จากการหมุนแผนที่ฟ้า หรือซอฟต์แวร์จำลองท้องฟ้า หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีแสงจันทร์รบกวน และสังเกตก่อนที่ท้องฟ้าจะสว่างในเวลาเช้ามืด
บางปี ฝนดาวตกบางกลุ่มจะมีอัตราตกสูงเป็นพิเศษ เกิดขึ้นเมื่อโลกโคจรผ่านธารสะเก็ดดาวในส่วนที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่น ปัจจุบัน วิธีการพยากรณ์ว่าจะมีฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงมากเมื่อใด กระทำโดยสร้างแบบจำลองทำนายการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาว แล้วคำนวณว่าโลกจะมีเส้นทางผ่านธารสะเก็ดดาวนั้นเมื่อใด

ที่มา: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, สมาคมดาราศาสตร์ไทย