วัดประจำรัชกาล วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน) เป็น สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แห่งนี้กัน ซึ่งถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก (ราชวรมหาวิหาร) ประจำรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 9 ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถแห่งนี้ด้วย

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2412 และนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก อำนวยการก่อสร้างโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

ครั้นเมื่อวัดสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5

ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธอังคีรส อยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ซึ่งหล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 – ต้นรัชกาลที่ 5 กระไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

และเดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415

พระพุทธอังคีรส พระประธาน วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ที่ฐานบัลลังก์กระไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แห่งนี้ นอกจากจะคงความวิจิตรงดงามในเชิงสถาปัตยกรรมไทยแบบพระราชนิยมแห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระอารามนี้ยังประกอบด้วย เขตสุสานหลวงจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ อันเป็นบริเวณเฉพาะที่นับเนื่องด้วยราชสกุลและสายสัมพันธ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 เขตสุสานหลวงจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

สุสานหลวง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสุสานหลวงขึ้นในที่อุปจารชานกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก (ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัด) เป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิดคือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดา ได้อยู่รวมกันหลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว

 เขตสุสานหลวงจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

และเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวน ซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม

 เขตสุสานหลวงจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้

  • สุนันทานุสาวรีย์ พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
  • รังษีวัฒนา พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
  • เสาวภาประดิษฐาน พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
  • สุขุมาลนฤมิตร์ พระราชทานแก่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูล https://th.wikipedia.org
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19364