เชียงราย

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / เชียงราย

จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่อยู่ทางตอนเหนือที่สุดของประเทศไทย ตั้งศาลากลางที่ตำบลเวียง อำเภอเมือง เชียงราย อาณาเขตทิศเหนือจรดแขวงเมืองสาด และแขวงท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพพม่า โดยมีทางหลวงแผ่นดินทะลุผ่านถึงกันทางถนนที่เชื่อมต่อไปยังประเทศพม่าที่ ด่านพรมแดนแม่สาย อำเภอแม่สาย และในอนาคตที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่4 ถนนสายR3A ที่อำเภอเชียงของ ส่วนทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกจดทิวเขาหลวงพระบางซึ่งปันเขตแดนไทยกับประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว และติดต่อกับจังหวัดพะเยา ทิศใต้กับจังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง และเชียงใหม่ ส่วนทิศตะวันตกกับจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเรียกว่าภูลังกา เป็นยอดเขาที่มีเส้นแดนติดกันทั้ง 3 จังหวัดบนยอดเขา

จังหวัดเชียงราย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

คำขวัญประจำจังหวัด: เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง

ที่ตั้ง จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือ ถึง 20 องศา 30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 45 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 824 กิโลเมตร

 

สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในเชียงราย

 สามเหลี่ยมทองคำ (อังกฤษ:Golden Triangle)

สามเหลี่ยมทองคำ

     หมายถึงพื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย (จังหวัดเชียงราย) ลาว (แขวงบ่อแก้ว) และพม่า (แขวงท่าขี้เหล็ก, รัฐฉาน) มีลักษณะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมบรรจบกัน โดยมีแม่น้ำโขงตัดผ่านชายแดนไทยและลาว นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค นอกจากนี้สามเหลี่ยมทองคำยังมีทิวทัศน์ที่งดงามโดยเฉพาะยามเช้า ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางสายหมอก เดิมสามเหลี่ยมทองคำเป็นที่รู้จัก ในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวรอยต่อระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบันมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย

สามเหลี่ยมทองคำในส่วนของประเทศไทย อยู่ในเขตบ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีท่าเรือขนาดเล็กขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน และลาว เมื่อมองจากฝั่งไทยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นหมู่บ้านในฝั่งลาวอย่างชัดเจน ส่วนทางพม่าซึ่งอยู่ด้านตะวันตกนั้น ไม่มีหมู่บ้านหรือสิ่งก่อสร้างให้เห็นในระยะใกล้ๆ

บริเวณดังกล่าวยังเป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำโขงและแม่น้ำรวก ที่เรียกว่า สบรวกบริเวณนี้มีเคยมีชนกลุ่มน้อย และกองกำลังติดอาวุธอยู่หลายกลุ่ม พื้นที่ในแถบนี้เคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ เช่น มีโรงงานผลิตเฮโรอีนและกระจายอยู่ตามชายแดน ส่วนการลำเลียงฝิ่นจะไปเป็นขบวนลัดเลาะไปตามไหล่เขาพร้อมกำลังคุ้มกัน ว่ากันว่ายาเสพติดและฝิ่นจะถูกแลกเปลี่ยนด้วยทองคำในน้ำหนักที่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของชื่อ สามเหลี่ยมทองคำ

นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปยังสามเหลี่ยมทองคำในช่วงฤดูหนาว และไปถ่ายรูปกับป้าย “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่ติดตั้งไว้ริมฝั่งแม่น้ำโขงด้วย นอกจากนี้ยังนิยมนั่งเรือเที่ยวชมทิวทัศน์จุดบรรจบของพรมแดนไทย ลาว และพม่า ค่าเช่าเรือประมาณ 300 – 400 บาท (นั่งได้ 6 คน) นอกจากนี้ยังสามารถล่องแม่น้ำโขงไปเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น สิบสองปันนา คุนหมิง ได้อีกด้วย แต่หากต้องการจะชมทิวทัศน์มุมกว้าง ของสามเหลี่ยมทองคำบริเวณสบรวกและเพื่อนบ้าน ต้องขึ้นไปบนดอยเชียงเมี่ยง ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง

 วัดร่องขุ่น (Wat Rong Khun)

วัดร่องขุ่น

     ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองน้ำไหล ตำบลโป่งน้ำร้อน และตำบลสักงาม อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 65 กม. ออกแบบและก่อสร้าง โดยอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2540 โดย บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และขยายออกเป็น 12 ไร่ อุโบสถ ประดับกระจกสีเงินแวววาววิจิตรงดงามแปลกตา ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก

 ดอยแม่สลอง

ดอยแม่สลอง

      ตั้งอยู่ตำบลแม่สลองนอกมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีเทือกเขาสลับซับซ้อน และมีที่ราบระหว่างเชิงเขา มีระดับความสูงของสันเขา 950-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้วยสภาพที่ตั้งและภูมิประเทศดังกล่าวเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้มีทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชนเผ่าอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจีนฮ่อ เย้า อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ บริเวณหมู่บ้านสันติคิรี เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 ซึ่งอพยพจากประเทศพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพันคือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ปี 2504 ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาว จะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะจะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น และที่ดอยแม่สลองนี้ยังเป็นแหล่งปลูกชาจีนที่มีคุณภาพของภาคเหนืออีกด้วย มีทั้งชาอู่หลงก้านอ่อน ชาโสม และชาเขียว

จุดน่าสนใจและกิจกรรมบนดอยแม่สลอง – ชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านอาข่า (หมู่บ้านเจียงจาใส) และอนุสรณ์ชาวไทยเชื้อสายจีน

 วนอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า

วนอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า

      เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงราย อยู่ในอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่อิงฝั่งขวาและป่าแม่งาว ท้องที่บ้านร่มฟ้าทอง หมู่ที่ 9 และบ้านร่มฟ้าไทย หมู่ที่ 10 ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 พื้นที่วนอุทยานเป็นยอดเขาสูงในเทือกเขาดอยผาหม่น ติดชายแดนไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ถึง 1,628 เมตร ซึ่งเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามราวภาพวาด ด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสลับซับซ้อนดูกว้างไกล การจะเดินขึ้นไปชมทะเลหมอกควรจะขึ้นไปยอดภูตั้งแต่ฟ้ายังมืด เพราะเมื่อฟ้าเริ่มสว่างจะทำให้เห็นสายหมอกค่อย ๆ ก่อตัวเป็นภาพต่าง ๆ ดูสวยงามราวกับมีช่างวาดฝีมือมาแต่งแต้ม สร้างความประทับใจไปอีกนาน ภูชี้ฟ้า มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง แซมด้วยทุ่งโคลงเคลงที่มีดอกสีชมพูอมม่วง ซึ่งจะบานระหว่างเดือนกรกฎาคม-เดือนมกราคม

ดอยผาตั้ง

ดอยผาตั้ง

      เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น ซึ่งเป็นเทือกเขาแนวพรมแดนไทย-ลาว สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยผาตั้งถือเป็นเป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และทะเลหมอกที่สวยงามไม่แพ้ภูชี้ฟ้า รถยนต์สามารถขึ้นเกือบถึงจุดชมวิวบริเวณเนินร้อยสามได้ บนจุดชมวิวจะเป็นแนวเขาซึ่งชมวิวได้ตลอดแนว นอกจากนั้นบนดอยยังมีจุดที่น่าสนใจ คือ ผาบ่อง ประตูสยามสู่ลาว เป็นช่องหินขนาดใหญ่คนเดินลอดได้อยู่ในแนวหน้าผา มองเห็นทิวทัศน์ประเทศลาวได้ ช่องเขาขาด เป็นช่องเขาที่หินขาดจากกันมองเห็นแม่น้ำโขงพาดผ่านตรงช่องเขาขาดพอดี โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ดอกนางพญาเสือโคร่งและดอกเสี้ยวจะบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ และด้วยอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การทำการปลูกพืชเมืองหนาว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยผาตั้งจึงทำอาชีพเกษตร ปลูกบ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา ซึ่งจะให้ผลผลิตมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการกระจายรายได้แก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี บนดอยผาตั้ง มีที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร สามารถไปเที่ยวได้ตลอดปี

ดอยหัวแม่คำ

ดอยหัวแม่คำ

      จากเชียงรายใช้เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยแม่สลอง แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านอีก้อสามแยกแล้ว แยกเข้าเส้นทางที่ไปบ้านเทอดไทยจากนั้นจะพบทางแยกอีกครั้ง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าบ้านห้วยอิ้น ระหว่างทางจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาซึ่งตั้งอยู่เป็นระยะ บ้านหัวแม่คำอยู่เกือบสุดชายแดนพม่า เส้นทางเป็นทางลูกรังคดโค้งไปตามทิวเขา ใช้เวลาเดินทางราว 3 – 4 ชั่วโมง ดอยหัวแม่คำเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอีก้อ ม้งและมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอจะแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ เป็น 7 วัน 7 คืน และในเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วยดอกบัวตอง สีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักบนดอยหัวแม่คำ มีบ้านพักและเต็นท์ให้บริการ หรือจะนำเต็นท์มาเองก็ได้

พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง

พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง

       เชียงราย อารยนครอายุกว่า 700 ปี มีมนต์เสน่ห์ล้ำลึกของวัฒนธรรมล้านนา กลมกลืนกันอยู่ในโอบล้อมของผืนป่า ที่เริ่มคืนความเขียวชะอุ่มภายหลังเกิดโครงการพัฒนาดอยตุงฯ กว่า 30 ปีที่ผ่านมาด้วยบารมีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชาวเขาและชาวพื้นราบในบริเวณรายรอบดอยตุง ยอดสูงสุดของดอยนางนอน พรมแดนไทย-พม่า ได้เปลี่ยนวิถีจากการปลูกและเสพฝิ่น ถางป่าตัดไม้ และทำไร่เลื่อนลอย หันมาทำเกษตร ปลูกพืชผักเมืองหนทำไร่กาแฟและแมคคาเดเมีย สร้างผลงานเย็บปักถักทอที่เชื่อมต่อวัตถุดิบพื้นถิ่น และหัตถศิลป์พื้นเมืองสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันแบบสากล ในขณะที่กลุ่มชน 30 ชาติพันธุ์ ยังคงอาศัยอยู่อย่างสงบ ตามไหล่เขาและบนดอยสูง แนบแน่นอยู่กัประเพณีดั้งเดิมของตน โดยไม่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนกิน

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง

      ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภูเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีพระวิหารที่เก่ามากซึ่งพังทลายเกือบหมดแล้ว และเจดีย์รายแบบต่างๆ 4 องค์

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง)

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง)

      หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร

ทะเลสาบเชียงแสน

ทะเลสาบเชียงแสน

      หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย  มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,711 ไร่ ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2528 เดิมเป็นเพียงหนองน้ำขนาดเล็ก จนมีการสร้างฝายกั้นทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้น จนเกิดเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นสบายและหมอกลอยปกคลุมทั่วไป ทะเลสาบเขียงแสนยอังเป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำที่ย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาว หลายชนิดเป็นนกหายาก เช่นเป็นแมนดาริน เป็ดเทาก้านดำ เป็ดเบี้ยหน้าเขียว เป็ดหัวเขียว เป็นต้น บริเวณทะเลสาบมีรีสอร์ทเอกชนให้พักหลายแห่ง

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

      หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 10 กิโลเมตร ตัวอาคารล้อมรอบด้วยสวนอันสวยงาม เป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่น เมื่อสมัยที่มีการใช้กันอย่างถูกกฏหมายและผลกระทบของการเสพติดฝิ่น อีกทั้งยังทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง ในหัวข้อฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่างๆและยาเสพติดอื่นๆ หอฝิ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชมบุคคลทั่วไป ต่างชาติ 300 บาท คนไทย 200 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 50 บาท เด็กอายุ12-18 ปี 50 บาท (เฉพาะคนไทย)เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ฟรี

 

การเดินทาง

     การคมนาคมจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดเชียงราย กระทำได้โดยการโดยสารรถไฟสายเหนือลงที่สถานีรถไฟนครลำปางเป็นระยะทางหกร้อยสี่สิบสองกิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงตัวเมืองเป็นระยะทางอีกสองร้อยสามสิบสี่กิโลเมตร รวมเป็นแปดร้อยเจ็ดสิบหกกิโลเมตร หรือจะโดยสารรถทั่วไปจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถึงตัวเมืองเป็นระยะทางเก้าร้อยสี่สิบสามกิโลเมตร

การเดินทางไปจังหวัดเชียงรายโดยรถยนต์และรถทัวร์ (โดยสารประจำทาง) สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่
1. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย (สายเอเชีย หรือสายเก่า) จากรังสิตมาตามถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ที่อำเภอวังน้อย จากนั้นผ่านจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี เข้าทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้งที่ จ.ชัยนาท ตรงไป จ.นครสวรรค์ ผ่าน กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่ อ.เถิน ตรงไปจังหวัดลำปาง ผ่าน อ.งาว แล้วตรงไปจังหวัดพะเยา จนเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 830 กิโลเมตร

2. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-เชียงราย (สายใหม่) ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 เมื่อไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ให้แยกขวามือไปตาม ทางหลวงหมายเลข 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก) จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) จากจังหวัดพิษณุโลก ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ จนถึงอำเภอเด่นชัย ให้เลี้ยวไปทางจังหวัดแพร่ ตามทางหลวงหมายเลข 101 (แพร่-น่าน) จนถึงอำเภอร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 103 ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่อำเภองาว จังหวัดลำปางเข้าสู่จังหวัดพะเยา แล้วตรงต่อไปจนถึงเชียงราย ระยะทางประมาณ 804 กิโลเมตร

3. เส้นทากรุงเทพฯ-นครสวรรค์-ลำปาง-เชียงใหม่-เชียงราย ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 จนไปถึงจังหวัดลำปาง จึงเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 11 (ลำปาง-เชียงใหม่) ผ่านไปจังหวัดลำพูน แล้วเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ผ่านดอยสะเก็ต แม่ขะจาน เวียงป่าเป้า เข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 900 กิโลเมตร มีทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านลำพูนมาลำปาง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 ผ่าน จ.ตาก จ.นครสวรรค์ เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ

       นอกจากนี้จังหวัดเชียงรายยังมีท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ 1ใน 6 ของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน) ที่มีสายการบินใช้บริการระดับต้นๆของประเทศไทย

 

เทศกาลและงานประเพณี

 ปอยหลวง

ปอยหลวง

      งานบุญปอยหลวงเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพทางสังคมหลายประการ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานทำบุญปอยหลวงยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน

 งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง

งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง

      จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาว ล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้า หลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุ เมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน์

 ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ

ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ

     หรือที่เรียกตนเองว่า “อาข่า” มีเชื้อสายจากจีน-ธิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม

โรงแรมที่พักที่น่าสนใจในเชียงราย

โรงแรมภูใจใส รีสอร์ท แอนด์ สปา (Phu Chaisai Mountain Resort & Spa)

โรงแรมสวนทิพย์วนา รีสอร์ท (Suanthip Vana Resort)

โรงแรมเดอะ มันตรินี่ บูติค รีสอร์ท เชียงราย (The MANTRINI Boutique Resort Chiang Rai)

โรงแรมเดอะ อิมพีเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล รีสอร์ท (Imperial Golden Triangle Resort, The)

โรงแรมโพธิ์วดล รีสอร์ทแอนด์สปา (Phowadol Resort & Spa)

โรงแรมลาลูนา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (Laluna Hotel & Resort)

โรงแรมเดอะ ปาล์ม การ์เดนท์ โฮเต็ล (The Palm Garden Hotel)

โรงแรมคาทิลิยา เมาน์เทน รีสอร์ท แอนด์ สปา (Katiliya Mountain Resort & Spa)

โรงแรมดิอิมพีเรียล ริเวอร์ เฮ้าส์ รีสอร์ท (The Imperial River House Resort)

โรงแรมริมกก รีสอร์ท (Rimkok Resort Hotel)