จังหวัดลำพูน

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / จังหวัดลำพูน

จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ เดิมมีชื่อว่า นครหริภุญชัย สร้างเมื่อ พ.ศ.1200 โดยฤาษีวาสุเทพ ได้เกณฑ์ พวกเมงคบุตรเชื้อสายมอญมาสร้างระหว่างแม่น้ำ2สายคือแม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง เมื่อสร้างเสร็จได้เชิญพระธิดาพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงละโว้ พระนามว่า จามเทวี มาครองเมือง มีกษัตริย์ครองเมืองหลายราชวงศ์ จนมาถึงสมัยกรุงธนบุรี เจ้ากาวิละได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ทําการขับไล่พม่าจนสําเร็จได้ไปครองเมืองเชียงใหม่ และให้เจ้าคําฝน น้องชายครองเมืองลําพูน ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ลําพูนมีฐานะเป็นเมืองขึ้น มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงพลตรีเจ้าจักรคําขจรศักดิ์ เป็นเจ้าผู้ครองนคร และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จึงได้ยกเลิกตําแหน่งเจ้าผู้ครองนคร

จังหวัดลำพูน

Image.aspx

คำขวัญประจำจังหวัด:  พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญชัย

ที่ตั้ง เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในภาคเหนือมีเนื้อที่4,407 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล1,800 ฟุต มีแม่น้ำสําคัญไหลผ่าน4 สาย คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำลี้

สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในลำพูน

 วัดจามเทวี

วัดจามเทวี

         หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.1298 เป็นฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ.1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า กู่กุด หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ
      นอกจากนั้นยังมี รัตนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่
17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง4.40 เมตร สูงจรดยอด11.50 เมตร องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

 อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

      ตั้งอยู่ตำบลในเมือง บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่2 ตุลาคม พ.ศ.2525

 ดอยขะม้อ

ดอยขะม้อ 

       อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่หลังนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เป็นภูเขาไฟโบราณ รูปทรงสัณฐานคล้ายฝาชี บนยอดมีปล่องกว้าง 3 เมตร ลึกประมาณ 6 เมตร สูง 58 เส้น ตอนล่างเป็นบ่อ มีน้ำตลอดปี ประชาชนนับถือกันมาแต่โบราณว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงตัก เมื่อถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปปนกับน้ำพระราชทาน แล้วจึงนำขึ้นสรงองค์พระธาตุและเมื่อพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะต้องนำน้ำในบ่อนี้อัญเชิญไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย 

     ตั้งอยู่ถนนอินทยงยศเยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2470 โดยพระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เสร็จเมื่อ พ.ศ.2517 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อพ.ศ.2522 ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปะสมัยหริภุญชัย ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่17-19 และศิลปะล้านนา มีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่19-25 เปิดทำการเวลา09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ10 บาท ชาวต่างประเทศ30 บาทสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร (053) 511186

 

กู่ช้าง-กู่ม้า

กู่ช้าง-กู่ม้า 

      เป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ2 กิโลเมตร กู่ช้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ชื่อ“ภูก่ำงาเขียว” ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียวที่ทรงอานุภาพและอิทธิฤทธิ์ในสงคราม ส่วนกู่ม้า เป็นสถูปทรงระฆัง เชื่อว่าเป็นสุสานม้าทรงของพระโอรสพระนางจามเทวี

 

วัดพระบาทห้วยต้ม

วัดพระบาทห้วยต้ม 

      เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอไปทางใต้ประมาณ10 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข106 บริเวณกิโลเมตรที่46-47 เข้าไปประมาณ5 กิโลเมตร บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัด และมีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม บูรณะก่อสร้างจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน

 

วัดมหาวันวนาราม

วัดมหาวันวนาราม

        วัดมหาวันวนาราม ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูนวัดมหาวันวนารามสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองหริภุญไชย พระนางจามเทวีนั้นเดิม อยู่ที่อาณาจักรละโว้ เมื่อฤาษีวาสุเทพสร้างหริภุญไชยขึ้น พระนางจามเทวีได้เสด็จมาปกครองเป็น ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาหริภุญไชยนั้นได้พาไพร่พลที่มีความรู้สาขาต่างๆ พร้อมพระสงฆ์ ประมาณ500 องค์มาด้วย รวมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญอีก2 องค์ คือ พระแก้วขาว (พระเสตัง คมณี)   และพระศิลาดำ (พระพุทธสิกขิ) เมื่อถึงหริภุญไชย พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างวัดมหาวัน เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์และนำพระศิลามาประดิษฐานไว้ด้วย (ส่วนพระแก้วขาวนั้นพระเจ้าเม็งรายแห่งล้านนาได้อัญเชิญไปเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ และประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ใน จ.เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน) ต่อมาหริภุญไชยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤาษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้าง พระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อใช้ออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมา ในยุคหลัง เมื่อเจดีย์บรรจุพระปรักหักพังลง ชาวบ้านจึงพบพระเครื่องที่เก็บไว้ต่างนำกันไปบูชาและ พบกับอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ พระเครื่องเหล่านี้คือ  พระรอดมหาวันที่โด่งดังนั่นเอง

การเดินทาง

ทางรถยนต์
ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข1 (พหลโยธิน) ผ่านดอนเมือง รังสิต แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่32 ผ่านจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท เข้าจังหวัดนครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข1 ผ่านจังหวัดกําแพงเพชร จังหวัดตาก ตรงเข้าสู่จังหวัดลําปาง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข11 เข้าจังหวัดลําพูน รวมระยะทาง 670กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ8 ชั่วโมง

ทางรถประจําทาง
ใช้เวลาเดินทางประมาณ9 ชั่วโมง บริษัท ขนส่ง จํากัด มีรถประจําทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศ บริการทุกวันจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกําแพงเพชร2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่936-3660,936-3666(ลําพูน) โทร. (053) 511-173

บริการรถปรับอากาศวีไอพี
บริษัทอินทราทัวร์ (ผ่านประตูน้ำ) โทร.208-0840, 208-0580 (ลําพูน) โทร. (053) 511-369
บริษัทสมบัติทัวร์ โทร. 282-3938, 281-4258 (ลําพูน) โทร.(053) 511-372
ผู้โดยสารต้องลงรถที่ดอยติ และต่อรถสองแถวเข้าไปลําพูน ประมาณ5 กิโลเมตร

 

ทางรถไฟ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟไปจังหวัดลําพูนทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร.223-7010, 223-7020

 

ทางเครื่องบิน

โดยสารเครื่องบินสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แล้วต่อรถมาลําพูนอีกทอดหนึ่ง รายละเอียดสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จํากัด โทร. 280-0060, 628-2000 ส่วนรถประจําทาง สายเชียงใหม่-ลําพูนมีบริการทุกวันรถออกที่หน้าประตูเมืองเชียงใหม่ และปลายทางที่พิพิธภัณฑ์ เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย ใช้เวลาเดินทางประมาณ30 นาที

 

เทศกาลและงานประเพณี

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย 

       เป็นประเพณีเก่าแก่ มีขึ้นในวันเพ็ญเดือนหกหรือที่ชาวลําพูนเรียกว่า วันแปดเป็งของทุกปี โดยมีพิธีสรงน้ำ และงานสมโภชพระธาตุหริภุญชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงพระธาตุเป็นประจําทุกปี นอกจากชาวลําพูนแล้ว ยังมีชาวจังหวัดใกล้เคียงและ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าชมงานนี้อย่างหนาแน่น

งานเทศกาลลําไย

งานเทศกาลลําไย 

       เป็นงานใหญ่ประจําปีของชาวจังหวัดลําพูน ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ภายในงานจะมีขบวนแห่ รถลําไยที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม การประกวดธิดาลําไย และการออกร้านค้า ประกวดผลิตผลทางการเกษตร และจําหน่ายสินค้าพื้นเมือง

งานฤดูหนาว และ กาชาดจังหวัดลําพูน
จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ สนามกีฬากลางจังหวัด
ภายในงานมีนิทรรศการของส่วนราชการ การแสดงมหรสพ การจําหน่ายผลผลิตทางการเกษตร

งานของดีศรีหริภุญชัย
เป็นงานแสดงและจําหน่ายสินค้า ผลิตผลทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปนานาชนิด ซึ่งเกษตรกร และกลุ่มแม่บ้านของจังหวัดเป็นผู้ผลิต ในงานมีขบวนแห่ของกลุ่มแม่บ้าน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การประกวดเรือนชนบท การออกร้านขายสินค้าหัตถกรรมในราคาย่อมเยา