จังหวัดสุรินทร์

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / จังหวัดสุรินทร์

จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ “อีสานใต้” มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้าง การทอผ้าไหม และมีปราสาทขอมมากที่สุดในประเทศไทย มีผู้คนหลายเผ่าและภาษา เช่น ไทยอีสานเขมร ส่วย หรือ กูย มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 10 และมีพื้นที่กว้างเป็นอันดับที่ 24

จังหวัดสุรินทร์

จังหวัดสุรินทร์คำขวัญประจำจังหวัด: สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

ที่ตั้ง จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างลองติจูด 103 และ 105องศาตะวันออก ละติจูด 15 และ 16 องศาเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 420 กิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์

สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในสุรินทร์

 

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ และ ๑๓ บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๓๖ เลี้ยวซ้ายไป ๒๒ กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง

           ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้าน ไม่สามารถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี การเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลางไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้าท่านได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังได้สัมผัสการดำรงชีวิตของชาวส่วย พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้วแต่ในปัจจุบันด้วยสภาวะเศรษฐกิจหากไม่อยู่ในช่วงใกล้งานแสดงช้างจะมีช้างอยู่ในหมู่บ้านน้อย หากต้องการชมการแสดงช้างในหมู่บ้านควรติดต่อล่วงหน้าที่กำนันตำบลกระโพ โทร. ๐ ๑๙๖๗ ๕๐๑๕,๐ ๔๔๕๑ ๒๙๒๕ หรือผู้ใหญ่บ้านตากลาง โทร. ๐ ๑๙๗๗ ๖๓๐๔

ปราสาทยายเหงา

ปราสาทยายเหงา

            ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ ๒ องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร จากลักษณะแผนผังของอาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท ๓ องค์ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ด้านหน้าปราสาท การเดินทาง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขะ ประมาณ ๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๔ (โชคชัย-เดชอุดม) ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๘๙-๑๙๐ แยกไปตามทางลูกรังอีก ๘๐๐ เมตร

ปราสาทจอมพระ

ปราสาทจอมพระ

           ตั้งอยู่หมู่ ๔ ตำบลจอมพระ ปราสาทจอมพระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก ๔ ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๑ เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ ๑ องค์เช่นเดียวกับที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอพิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. ๑๗๒๐-๑๗๘๐) ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก ๑ กิโลเมตร

เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ

เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ
อยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโชกเหนือ เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดที่ขึ้นในที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ ๖๒๕ ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ราบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

 โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน

โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน

             ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม ๓ หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ผ่านอำเภอปราสาท แยกไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๑ ที่จะไปอำเภอบ้านกรวดประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านตาเมียง ไปอีก ๑๓ กิโลเมตร

ปราสาทตาเมือน ศาสนสถานของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน ๑๗ แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย ปราสาทตาเมือนเป็นศิลปะขอมแบบบายนสร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่พบในดินแดนประเทศไทย มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านเหนือปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนด้านใต้มีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ๒-๓ ชิ้น

 

ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ด้านหน้า คือ ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงด้านหน้ามีสระน้ำเช่นเดียวกับอโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ ตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก ๑ หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้ มีข้อความเช่นเดียวกับจารึกที่พบที่อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ คือ กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือและกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ เช่น แพทย์ ผู้ดูแลสถานพยาบาล ปัจจุบันจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี

 

ปราสาทตาเมือนธม อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านประเทศกัมพูชา นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำและที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน
เนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปชมควรสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นก่อน

ปราสาทเมืองที

ปราสาทเมืองที
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองที ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี ๕ หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกันหลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง และอีก ๔ หลังอยู่ที่มุมทั้ง ๔ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๓ หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตูเนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี ๓ ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ จนถึงบ้านโคกลำดวน เลี้ยวซ้ายเข้าวัดจอมสุทธาวาส

วนอุทยานพนมสวาย

image
อยู่ในเขตตำบลนาบัว ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ใช้เส้นทางสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข ๒๑๔) ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ ๓ ยอด ยอดที่ ๑ มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง ๒๑๐ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ ๒ มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ ๒๒๘ เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ ๓ มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ และเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ จะมีการเดินขึ้นยอดเขาในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล

การเดินทาง

รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทางเข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข ๒๔) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอปราสาท จากอำเภอปราสาทแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ ถึงตัวเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง ๔๕๐ กิโลเมตร หรืออาจเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครราชสีมา ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ผ่านอำเภอจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สู่จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง ๔๓๔ กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร ๒ (หมอชิต) ไปจังหวัดสุรินทร์ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๙๓๖-๒๘๕๒-๖๖ www.transport.co.th บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดสุรินทร์ โทร. ๐ ๔๔๕๑ ๑๗๕๖ บริษัท กิจการราชสีมาทัวร์ โทร. ๐ ๔๔๕๑ ๒๑๖๑ นครชัยแอร์ โทร. ๐ ๔๔๕๑ ๕๑๕๑

รถไฟ
มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๑๖๙๐, ๐ ๒๒๒๐ ๔๓๓๔, ๐ ๒๒๒๐ ๔๔๔๔ และสถานีรถไฟสุรินทร์ โทร. ๐ ๔๔๕๑ ๑๒๙๕, ๐ ๔๔๕๑ ๕๓๙๓www.railway.co.th

เทศกาลและงานประเพณี

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง 

             จะมีการแห่แหนบรรดานาคด้วยขบวนช้างกว่า50 เชือก ข้ามลำน้ำมูลกันอย่างเอิกเกริก พิธีโกนผมนาค พิธีแห่นาคช้างไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ และพิธีอุปสมบทนาค

 

งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์

งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์

             ถือเป็นงานประจำปีระดับชาติ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาร่วมชมงานนี้ เป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และจังหวัดสุรินทร์ การแสดงของช้างประกอบด้วยการแสดงคล้องช้าง การชักคะเย่อระหว่างคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรด ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง เช่น เซิ้งบั้งไฟ เป็นต้น