เทคนิคการปรับแรงดันในหู ขณะดำน้ำ

Home / ทิปท่องเที่ยว / เทคนิคการปรับแรงดันในหู ขณะดำน้ำ

เพื่อนๆ เคยรู้สึกว่าปรับแรงดันในหูลำบากมั่งไหมครับ หูของคนเรานั้นเป็นช่องอากาศที่มีท่อเชื่อมต่อกับด้านหลังของคอ ด้วยท่อ Eustachian หากเราไม่เพิ่มแรงดันในหูส่วนกลาง เพื่อให้สมดุลย์กับแรงดันภายนอกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การบาดเจ็บของหูเรา อาจจะรู้สึกตึงๆ ในตอนแรก และรู้สึกเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความลึกที่เราดำน้ำลงไป

เทคนิคการปรับแรงดันในหู ขณะดำน้ำ

 วิธีการที่จะปรับแรงดันให้เกิดความสมดุลย์ ก็คือ การเปิดท่อ Eustachian ซึ่งมักจะปิดอยู่เสมอตามปกติ ท่อแต่ละอันจะมีวาล์วด้านล่างที่เรียกกันว่า “Eustachian Cushion” มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อจากจมูกไปสู่หูชั้นกลาง การเปิดท่อดังกล่าวนี้จะทำให้อากาศที่มีแรงดันสูงจากคอของเรา เข้าไปสู่หูชั้นกลางได้โดยง่าย

การกลืน มักจะมีผลในการเปิดท่อ Eustachian นี้ เมื่อเราทำการกลืน กล้ามเนื้อเพดานปากจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิด และปล่อยให้อากาศเข้าไปในหูจากคอ ทำให้เกิดการปรับแรงดัน เวลาเรากลืนน้ำลาย เราจึงรู้สึกเหมือนกับได้ยินเสียง “คลิก” ทุกครั้งนั่นเอง ในการดำน้ำ เราต้องปรับแรงดันที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก และรวดเร็วกว่าที่การกลืนอย่างเดียว จะทำได้เราจึงต้องใช้วิธีอื่นๆ เข้ามาช่วยด้วย

หากเราปรับแรงดันไม่ดีพอ หรือไม่ปรับแรงดัน เราจะรู้สึกเจ็บและอาจบาดเจ็บในหูชั้นกลางได้โดยง่าย เวลาดำน้ำ เมื่อเราดำลงไป แก้วหูของเราจะถูกดันเข้าไปด้านใน และเราจะรู้สึกว่ามีแรงกดดันในหูของเรา หากเราดำลึกลงไปอีกประมาณสี่ฟุต แก้วหูก็จะถูกดันเข้าไปมากขึ้นพร้อมๆ กับ “Round Windows” และ “Oval Windows” ระหว่างหูชั้นกลางกับหูชั้นใน เมือกต่างๆ ก็จะเริ่มเข้ามาบรรจุในท่อ Eustachian ทำให้การปรับแรงดันในหูยากยิ่งขึ้นไปอีก ปลายประสาทในแก้วหูของเราก็จะยืด และเราจะรู้สึกได้ว่ามีความเจ็บปวดเกิดมากขึ้น

ที่ความลึกหกฟิต แก้วหูก็จะยืดมากกว่าเดิม เนื้อเยื่อเริ่มจะฉีกขาดทำให้เกิดการอักเสบที่ต้องรักษาเป็นเวลานานกว่า สัปดาห์ เส้นเลือดเล็กๆ ในแก้วหูจะยืดหรือฉีกขาด ทำให้เกิดการบวมช้ำซึ่งอาจกินเวลานานถึงสามสัปดาห์ ท่อ Eustachian จะถูกปิดตายโดยแรงกดดัน ทำให้ไม่สามารถปรับแรงดันได้เลย จะรู้สึกเจ็บมากยิ่งขึ้น

ที่ความลึกแปดฟิต หากท่านโชคดี เลือดและเมือกต่างๆ ที่ถูกดูดจากเนื้อเยื่อรอบๆ จะเริ่มบรรจุเต็มในหูชั้นกลาง เราเรียกอาการนี้ว่า Middle Ear Barotrauma ของเหลวจะปรับแรงดันในหูและที่แก้วหูของท่าน จะรู้สึกเจ็บน้อยลงไปเรื่อยๆ และแทนที่ด้วยความรู้สึก “ เต็ม ” ในหูของท่านซึ่งจะอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์ จนกระทั่งของเหลวถูกซึมซับหายไป

ที่ความลึกสิบฟิต หากท่านโชคไม่ดี หรือดำลงไปโดยเร็ว แก้วหูของท่านก็จะฉีกขาด น้ำจะเข้าไปท่วมเต็มหูชั้นกลาง ความรู้สึกตอบสนองต่อความเย็นโดยฉับพลันที่เกิดขึ้นกับกลไกการทรงตัวของท่าน ใน Vestibular Canals อาจทำให้เกิดอาการงุนงงหลงทิศ (Vertigo) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแก้วหูแตกเพียงข้างเดียว ท่านจะรู้สึกเหมือนโลกหมุน และอาการจะหายไปเมื่อน้ำถูกทำให้อุ่นจากอุณหภูมิภายในร่างกายของท่าน หากท่านพยายามปรับแรงดันโดยการเป่าแรงๆ ขณะปิดจมูกไว้ ท่านอาจจะทำให้ “Round Windows” ฉีกขาดตามไปด้วย และอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ชั่วคราวหรือถาวร

เทคนิคการปรับแรงดันในหู ขณะดำน้ำ

วิธีการปรับแรงดัน

วิธีการในการปรับแรงดันนั้น ก็เพื่อเปิดส่วนล่างของท่อ Eustachian เพื่อให้อากาศเข้าไป

1. Valsalva Maneuver เป็นวิธีที่นักดำน้ำส่วนมากใช้กัน โดยการปิดจูมก ( รวมทั้งปากด้วย ) และเป่าลมออกทางจมูกที่ถูกปิดไว้นั้น ทำให้แรงดันกระทำต่อท่อ Eustachian และดันลมเข้าไป แต่วิธีการนี้มีปัญหาอยู่บางประการ นั่นคือวิธีการนี้จะไม่ทำให้กล้ามเนื้อที่เปิดท่อ Eustachian ทำงาน ก็จึงอาจไม่ได้ผลหากท่อนั้นถูกปิดโดยแรงกดดันภายนอกอยู่ นอกจากนั้น ก็อาจเป่าลมแรงเกินไปทำให้เกิดการบาดเจ็บในหูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้ “Round Windows” เกิดการฉีกขาดได้ นอกจากนี้ ก็ไม่ควรเพิ่มแรงกดดันวิธีนี้นานเกินห้าวินาทีด้วย

2. Toynbee Maneuver โดยการปิดจมูกเอาไว้ และกลืนน้ำลาย การกลืนจะดึงให้ท่อ Eustachian เปิดขณะที่การเคลื่อนไหวของลิ้น อัดอากาศเข้าไป

3. Lowry Technique คือการทำทั้งวิธี Valsalva และ Toynbee พร้อมกัน ขณะที่ปิดจมูก เป่าและกลืนในเวลาเดียวกัน

4. Edmonds Technique ขณะที่เกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและคอ ให้ทำการดึงกรามลงมาด้านหน้า และด้านล่าง ขณะที่ทำ Valsalva Maneuver

5. Frenzel Maneuver ให้ปิดจมูก และปิดด้านหลังของคอเหมือนกับกำลังยกน้ำหนัก ในขณะนั้นให้ทำเสียงอักษร K วิธีการนี้จะทำให้ลิ้นด้านหลังยกขึ้น กดอากาศเข้าไปในท่อ Eustachian

6. Voluntary Tubal Opening โดยการเกร็งกล้ามเนื้อเพดานปากและกล้ามเนื้อคอ ขณะที่ดันกรามไปด้านหน้าและ ด้านล่าง คล้ายๆ กับการเริ่มต้นหาว กล้ามเนื้อดังกล่าวจะดึงท่อ Eustachian ให้เปิด วิธีนี้ต้องใช้การฝึกฝนมาก แต่เมื่อควบคุมได้แล้วจะสามารถเปิดท่อ Eustachian ไว้ได้เป็นเวลานานสำหรับการปรับแรงดันอย่างต่อเนื่อง

นักดำน้ำสามารถฝึกทักษะเล่านี้ได้ทุกเวลา เราอาจต้องฝึกทักษะการปรับแรงดันหลายวิธี และควรทำบ่อยๆ จะทำให้สามารถปรับแรงดันในหูได้เป็นอย่างดียิ่งขึ้น

เมื่อไรที่ควรปรับแรงดัน

ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี ควรปรับบ่อยกว่าที่คุณคิดไว้ ส่วนมากก็ได้มีการแนะนำให้ปรับแรงดันทุกสองฟิตของการดำลง และควรดำลงไปอย่างช้าๆ เช่นหากเราดำลงไปด้วยความเร็ว 60 ฟิตต่อนาที ก็ควรปรับแรงดันทุกๆ สองวินาทีนั่นเอง นักดำน้ำทั่วไป ปรับแรงดันน้อย และช้ากว่าที่ควรเป็นมาก

สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ ยิ่งลงไปลึกเท่าไร ก็ยิ่งต้องปรับแรงดันบ่อยน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากยิ่งลึก ความแตกต่างของแรงกดดันก็ยิ่งแตกต่างน้อยลงไปตามกฎของ Boyle เมื่อท่านลงไปถึงจุดที่ลึกสูงสุดที่กำหนดไว้ ควรปรับแรงดันอีกสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากความแตกต่างของแรงดันที่น้อยในความลึกนั้น อาจทำให้ท่านไม่รู้สึกเจ็บอะไร แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บในหูชั้นกลางได้

การปรับแรงดันให้ง่าย ควรมีเทคนิคดังนี้

1. ควรฟังเสียง “ คลิก ” ในหูเมื่อกลืนน้ำลาย หากเราได้ยิน หมายความว่าท่อ Eustachian ของเราเปิดอยู่
2. ควรเริ่มการปรับแรงดันในหู ( บนบก ) ก่อนที่จะดำน้ำสักพักหนึ่ง จะทำให้การปรับแรงดันเวลาดำจริงง่ายขึ้น
3. ควรดำน้ำด้วยท่าเอาขาลงก่อน จะทำให้การปรับแรงดันง่ายขึ้น เพราะจะยกท่อ Eustachian ไว้และของเหลวต่างๆ ในหูจะไหลลงด้านล่าง
4. ควรมองขึ้นด้านบน จะช่วยดึงท่อ Eustachian ขึ้นได้
5. ควรใช้เชือกในการดำลง เพื่อทำให้อัตราการดำลงไม่เร็วเกินไป และช่วยให้หยุดได้โดยง่ายหากมีปัญหา
6. ควรปรับแรงดันก่อนที่จะรู้สึกถึงแรงกดดันในหู
7. ควรหยุดหากรู้สึกเจ็บ ไม่ควรทนต่อความเจ็บเพราะท่อ Eustachian อาจจะถูกแรงกดดันภายนอกปิดไว้ หากรู้สึกเจ็บ ให้ขึ้นมาสักสองสามฟิต และพยายามปรับแรงดันใหม่อีกครั้ง
8. หลีกเลี่ยงการดื่มนม แอลกอฮอล์ และยาสูบ เนื่องจากจะทำให้เพิ่มการผลิตเมือก รบกวนเนื้อเยื่อที่ผลิตเมือก และมีผลต่อการปรับแรงดัน
9. อย่าปล่อยให้มีน้ำในหน้ากาก เนื่องจากน้ำในจมูกอาจรบกวนเยื่อเมือก และทำให้เกิดการผลิตเมือกมากขึ้น

ที่มา www.scubadiving.com/training