10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / 10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

ใครหลายคนคงคิดว่า สถานที่หาความรู้อย่าง “ห้องสมุด” หายากในกรุงเทพฯ มักจำกัดอยู่ตามสถานศึกษาต่างๆ นั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกนัก ความจริงแล้วห้องสมุดในกรุงเทพฯ มีหลายที่ อาจจะมีมากพอๆ กับห้างสรรพสินค้าเลยทีเดียว ทางนิตยสาร BK ได้เปิดเผย 10 ห้องสมุด ที่น่าใช้บริการในกรุงเทพฯ อย่างน้อยหนึ่งในสิบห้องสมุด ที่พวกเราได้นำเสนอ จะต้องผ่านตาสมาชิกผู้อ่านมาแล้วอย่างแน่นอน..

10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ Bangkok-library

1. ห้องสมุดเนลสันเฮย์ (Neilson Hays Library)
ห้องสมุดเนลสันเฮย์ เป็นห้องสมุดเก่าแก่อายุนับ 100 กว่าปี ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในห้องสมุดที่สวยงามและคลาสสิคที่สุดของห้องสมุดเมืองไทย นอกจากจะมีเต็มไปด้วยหนังสือภาษาอังกฤษที่น่าสนใจมากมาย ห้องสมุดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กๆ มาเที่ยวพักผ่อนด้วยอย่างยิ่ง

10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

ณ ห้องสมุดสุดแสนจะคลาสสิคแห่งนี้ มีมุมเล็กๆมุมหนึ่งที่ชื่อว่า Children’s Corner ณ มุมแห่งนี้เต็มไปด้วยนิทานและวรรณกรรมเยาวชนที่น่าสนใจมากมาย

อาจกล่าวได้ว่านอกเหนือจากความคลาสสิก อันเป็นมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหลของห้องสมุดอายุนับร้อยปีนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ทุกคนเข้ามาก็น่าจะเป็นมุมเล็กๆ สำหรับเล่านิทานที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะสดใสของเด็กๆ นี่เอง เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30น.-17.00น. (ปิดวันจันทร์)

2. หอสมุด ปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong Library)
หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ชื่อเดิมคือ “ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และเปลี่ยนเป็น “ห้องสมุดธรรมศาสตร์” ในเวลาต่อมา ก่อตั้งขึ้นพร้อม กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ.2477 อาคารหอสมุด เริ่มแรก ตั้งอยู่ที่อาคารโดมชั้น 2 ต่อมาในปี พ.ศ 2504 ได้ย้ายไปอยู่ที่ อาคารสำนักงานเลขาธิการซึ่งเป็นอาคาร 5 ชั้น อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท่าพระอาทิตย์ อาคารนี้ใช้เป็นที่ทำการห้องสมุดมานานมากกว่า 30 ปี จนทรุดโทรมและเกิดการทรุดตัว เมื่อมีอาคารหอสมุดใหม่ที่อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี ห้องสมุด จึงย้าย มาอยู่อาคารใหม่ ซึ่งเป็นชั้นใต้ดิน 3 ชั้น และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2540 (เริ่มขนย้ายเข้าสู่อาคารใหม่เมื่อ 3 มีนาคม 2540)

10 ห้องสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

ห้องสมุดธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดปรีดี พนมยงค์”ตามมติที่ ประชุมคณบดีครั้งที่ 18/2540 (วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540) เพื่อเป็นเกียรติ และเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และรัฐบุรุษอาวุโส

ปัจจุบัน “หอสมุดปรีดี พนมยงค์” ทำหน้าที่เสมือนหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับยกย่องจากนักวิชาการว่า “เป็นห้องสมุดสาขาสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

เปิดบริการ จันทร์-ศุกร์ 8.00-21.30น. และ เสาร์-อาทิตย์ 9.00-21.30น.

3. The Reading Room
ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room เปิดให้บริการหนังสือเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยกว่า 1,000 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วยสูจิบัตรนิทรรศการ หนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ ทฤษฎีศิลป์ นิตยสารและสื่ออิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ โดยแบ่งข้อมูลเป็นสองส่วนคือ ส่วนฐานข้อมูลศิลปะร่วมสมัยไทย และส่วนหนังสืออ้างอิงรวมถึงสูจิบัตร นิทรรศการศิลปะจากประเทศอื่นๆ

ห้องสมุด The Reading Room

นอกจากการเก็บข้อมูลและการทำงานวิจัยต่างๆแล้ว The Reading Room ยังเน้นการจัดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะการเสวนาพูดคุย การจัดฉายภาพยนตร์และการทำ workshop ทางศิลปะและสาขาอื่นๆ เช่น สาขาภาพยนตร์ วรรณกรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เปิดบริการ วันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13.00- 19.00น.

4. ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมพินี ด้านหลังพระบรมรูปอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 และเปิดดำเนินงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะอาคารชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร ต่อมาในปีพ.ศ. 2534 ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดโดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 198 ตารางเมตร

lumpini_dll

จุดเด่นของห้องสมุดแห่งนี้ คือ ความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประชาชน กับบริษัท Microsoft นั่นเอง โดยทางไมโครซอฟท์ ได้สนับสนุนทางเทคนิค ดังนี้
– คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในมุมเรียนรู้ด้วยตนเอง และห้องคอมพิวเตอร์
– CAI และสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta เพื่อการเรียนรู้มากมาย
– WIFI hotspot เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
– จัดบุคลากรมาสอนการใช้โปรแกรมต่างๆ

เปิดให้บริการ วันอังคาร – เสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.00 น. วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ปิดบริการในวันจันทร์

5. ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร
ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม แห่งนี้ ตั้งอยู่ ณ ชั้นใต้ดินของ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ย่านสยาม แหล่งช้อปปิ้ง เดินเล่นชื่อดัง บรรยากาศภายในก็เงียบสงบ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้สมาธิ เพื่อการอ่านหนังสือ

นอกจากหนังสือที่ให้บริการแล้วที่นี่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการอีกด้วย

ห้องสมุดศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

การเข้าใช้บริการห้องสมุดของที่นี่ เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอด แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ห้องสมุดที่นี่ ต้องลงชื่อก่อนเข้าใช้บริการ นอกจากนี้ ที่นี่มี WIFI ฟรี ให้ใช้ แต่ต้องมาแจ้งที่เคาน์เตอร์บริการทุกครั้ง
เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนรหัสสำหรับการเข้าใช้ทุกวัน

เปิดบริการ วันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ปิดทำการ วันจันทร์ และวันนักขัตฤกษ์

6. หอสมุดแห่งชาติ
สำนักหอสมุดแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2448 โดยปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน เขตดุสิต ซึ่งเริ่มเปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวม สงวนรักษา และอนุรักษ์มรดกทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมของชาติ ในรูปแบบเอกสารต่างๆ

หอสมุดแห่งชาติ

หอสมุดแห่งชาติ มีหน้าที่ให้บริการความรู้ และข่าวสารแก่ประชาชน ที่เพียบพร้อมด้วยทรัพยากรสารสนเทศ ให้บริการการอ่าน ศึกษาค้นคว้า แก่ผู้ใช้ทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยไม่มีขีดจำกัด ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00น. วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00น. และวันนักขัตฤกษ์

7. ห้องสมุดสยามสมาคม
ห้องสมุดสยามสมาคม ตั้งอยู่ในสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งของกรุงเทพฯ ตั้งขึ้นในรัชสมัย ร.5 เพื่อส่งเสริมความรู้ทางด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง

ห้องสมุดสยามสมาคม สยามสมาคม

อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีพื้นที่แบ่งสัดส่วนไว้ชัดเจน ทั้งในส่วนของอาคารสมัยใหม่ และห้องสมุดครบวงจรเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ให้บริการสมาชิกและผู้สนใจทั่วไป โดยรวบรวมสิ่งพิมพ์ต้นฉบับทางวิชาการ แผนที่โบราณ ภาพถ่ายและหนังสือหายากทั่วโลก เน้นความเงียบสงบและความเป็นส่วนตัว มีผลงานศิลปะหลากหลายแขวนประดับเรียงรายตามฝาผนัง พร้อมฟังเพลงแจ็สเบาๆ อย่างสบายอารมณ์ และหากสนใจก็สามารถซื้อกลับบ้านได้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชอบความเงียบสงบเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ หรือนักอ่านที่ต้องการมุมที่ไม่มีใครมารบกวน

ที่อยู่: 131 ถนน สุขุมวิท แขวง คลองเตยเหนือ เขต วัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 โทรศัพท์:02 661 6470 ชั่วโมง: เปิดให้บริการ :  9:00-17:00น. หยุดวันนักขัตฤกษ์

8. อุทยานการเรียนรู้ (TK Park)
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์แหล่งการเรียนรู้เพื่ออนาคต โดยเน้นการปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และการแสวงหาความรู้ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทันสมัย รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกระจายความรู้ และเป็นแหล่งข้อมูลสาธารณะที่ง่ายในการเข้าถึง และสะดวกในการใช้เพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต

อุทยานการเรียนรู้

ห้องสมุดที่นี่ ไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่เก็บหนังสือเท่านั้น ยังสร้างสรรค์พื้นที่ที่เรียกว่า “อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างปรากฎการณ์มหัศจรรย์ในหมู่เยาวชน และผู้ที่รักการอ่านทุกคนด้วยประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในรูปแบบของ “ห้องสมุดมีชีวิต” ที่ประกอบไปด้วยหนังสือและสื่อครบครันทันสมัย เหมาะสำหรับผู้ใฝ่หาความรู้ไม่อยู่นิ่ง

อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบและบริการ อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 Dazzle Zone เลขที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 02 257 4300 โทรสาร 02 257 4332 เปิดบริการ อังคาร – อาทิตย์ 10.00 – 20.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์)

9. ห้องสมุดมารวย
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ในนาม “ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นแหล่งสารสนเทศด้านตลาดการเงิน ตลาดทุน และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะปรับปรุงรูปลักษณ์ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ห้องสมุดมารวย” ในปี พ.ศ.2547 เพื่อเป็นเกียรติแด่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 5 

ห้องสมุดมารวย ห้องสมุดกรุงเทพ

ตั้งอยู่บนพื้นที่ 688 ตารางเมตร รองรับผู้ใช้บริการได้ 228 ที่นั่ง แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเน้นบรรยากาศที่โล่ง โปร่งสบาย ผ่อนคลาย และจุดบริการอินเตอร์เน็ต ห้องสมุดมารวย เป็นห้องสมุดที่ทันสมัย มีรูปลักษณ์เฉพาะตัว อินเทรนด์โดนใจคนรุ่นใหม่มากแห่งหนึ่ง มีหนังสือมากมายหลายหลายรูปแบบให้เลือกอ่านกันทั้งไทยและเทศ ที่สำคัญบรรยากาศของห้องสมุดนั้นยังแสนสบาย ชวนให้อยากที่จะนั่งอ่านหนังสืออีกด้วย

ที่อยู่: ถนน รัชดาภิเษก แขวง คลองเตย คลองเตย, กรุงเทพมหานคร 10110 โทรศัพท์:02 229 2072 ชั่วโมง: วันนี้เปิดทำการ · 8:30-0:00

10. ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี (TCDC) เป็นศูนย์ข้อมูลด้านการออกแบบแห่งแรกของเอเชีย ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 4,490 ตารางเมตร ห้องสมุดนี้ใช้เงินลงทุนถึง 200 ล้านบาทในการก่อสร้างและตกแต่ง โดยได้ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกชื่อดังของเมืองไทยเป็นผู้ออกแบบและจัดการพื้นที่

ห้องสมุดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ทีซีดีซี ประกอบด้วย ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือ วารสาร และมัลติมีเดียต่างๆ ทางด้านการออกแบบถึง 15,000 รายการ, นิทรรศการถาวรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการออกแบบ และนิทรรศการหมุนเวียน, ห้องประชุมขนาด 130 ที่นั่ง รวมไปถึงพื้นที่ Creative Space สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่มาจัดแสดงผลงาน, ร้านจำหน่ายสินค้าดีไซน์และร้านอาหาร, ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ Material ConneXion Bangkok ห้องสมุดที่รวบรวมตัวอย่างวัสดุที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากทั่วโลกเพื่อให้ทดลองสัมผัส, บริการสืบค้นข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์, ห้องอ่านหนังสือ ห้องชมภาพยนตร์ และจุดฟังเพลง The Lounge ห้องสมุดเฉพาะสำหรับ สมาชิกที่รวบรวมหนังสือด้านการออกแบบ ชั้นเยี่ยมและหนังสือหายาก

ที่อยู่ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ชั้น 6 ดิเอ็มโพเรียม สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ เปิดบริการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.30-22.00 น.

ข้อมูลและภาพ : นิตยสาร BK / libraryhub.in.th / th.kidlander.com / library.tu.ac.th / iurban.in.th / edtguide.com / เรียบเรียงโดย Travel MThai

10 ห้องในสมุดกรุงเทพ ที่น่าเข้าใช้บริการ

50 เหตุผล ความเป็นกรุงเทพฯ ในสายตาชาวต่างชาติ

50 เหตุผล ความเป็นกรุงเทพฯ ในสายตาชาวต่างชาติ

6 ภาพแปลก กรุงเทพฯ ในสายตาชาวต่างชาติ