ที่เที่ยวปทุมธานี พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เที่ยวปทุมธานี เที่ยวพิพิธภัณฑ์ เที่ยวใกล้กรุงเทพ

พาทัวร์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้น้องใหม่ย่านปทุมธานี

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / พาทัวร์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้น้องใหม่ย่านปทุมธานี

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้น้องใหม่ ย่านปทุมธานี มาที่เดียวได้ทั้งความสนุกและความรู้อันน่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อม ๆ กัน

พาทัวร์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้น้องใหม่ย่านปทุมธานี

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีเนื้อที่กว่า 47,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บนถนนรังสิต – นครนายก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 

โดยนำเสนอสาระผ่านนิทรรศการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามหลักวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วย 3 โซนหลัก ๆ ดังนี้

โลกของเรา (Our Home)

เรื่องราวของการก่อเกิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลก ไปจนถึงวิวัฒนการของสิ่งมีชีวิต กระทั่งเกิดสายพันธุ์มนุษย์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

Wall of Life ผนังภาพและแบบจำลองของสิ่งมีชีวิตกว่าร้อยชีวิต สามารถเรียนรู้ได้ผ่านจอทัชสกรีน

หุ่นจำลองไดโนเสาร์ขนาดเท่าตัวจริง “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” และ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ไดโนเสาร์ของไทยที่ยืนตระหง่านและส่งเสียงคำรามต้อนรับผู้มาเยือน

มนุษย์กำเนิดขึ้นเมื่อใด มีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร เผ่าพันธุ์ของเราวิวัฒนาการอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่สามารถค้นหาคำตอบได้จากส่วนจัดแสดงนี้

ชีวิตของเรา

แสดงสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ภายในชีวนิเวศต่างๆ ได้แก่ เขตขั้วโลกใต้ (Antarctica) เขตขั้วโลกเหนือ (Arctic) เขตทุนดรา (Tundra) เขตไทก้า (Taiga) เขตอบอุ่น (Temperate) เขตทะเลทราย (Desert) และเขตร้อนเส้นศูนย์สูตร (Tropical) ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สนุกไปกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินย่ำผืนดินหยุ่นยวบในป่าไทก้า จูงอูฐและจิบชานั่งพูดคุยกับกลุ่มชนพื้นถิ่นในกระโจมกลางทะเลทราย สร้างกระท่อมอิกลู สไลด์ตัวลงจากต้นโอ๊กยักษ์ ทดลองโมเดลการจัดการน้ำ เป็นต้น

เขตขั้วโลกใต้ (Antarctica) ป็นถิ่นอาศัยของเพนกวิ้น และกลุ่มมนุย์ที่เรียกตัวเองว่า นักวิจัย

เขตขั้วโลกเหนือ (Arctic) เป็นถิ่นอาศัยของ หมีขาว วาฬ วอลรัส แมวน้ำ และมนุษย์ชาวอินูอิท

เขตทะเลทราย (Desert) ไฮไลท์ของส่วนนี้ก็คือ ภาพยนตร์ 4 มิติ ที่จำลองฉากเหมือนเรากำลังนั่งรถเข้าไปในทะเลทราย เห็นสภาพแวดล้อมรอบข้าง มีเอฟเฟคเสมือนจริง ทั้งฝนและกลิ่น

เขตไทก้า (Taiga) เป็นแนวป่าสนขนาดใหญ่ มีไฮไลท์คือประติมากรรมวรจรชีวิตปลาแซลมอน ที่ว่ายวนทวนกระแสน้ำ เพื่อไปวางไข่

เขตอบอุ่น (Temperate) ไฮไลท์คือ ต้นโอ๊คยักษ์กับสไลเดอร์ และบรรยากาศใบไม้เปลี่ยนสี

เขตร้อน (Tropical) นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ Africa, Madagascar, Neotropic, Southeast Asia และ Papua New Guinea

นิทรรศการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ (THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : WATER)

นิทรรศการเกี่ยวกับทรัพยากรดิน (THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : SOIL)

THAILAND ECOREGION  ส่วนจัดแสดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนจัดแสดงสำหรับการอธิบายแนวคิด และความหมายของคำว่าเขตภูมินิเวศ (Ecoregion) ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่ตามความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการจำลองป่าที่มีความแตกต่างกัน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าดิบเขา, ป่าเต็งรัง, ป่าดิบชื้น และป่าพรุ 

ในหลวงของเรา (Our King)

นำเสนอถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเน้นเรื่องหลักแนวคิด และวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ทั้งโครงการกังหันลมชัยพัฒนา โครงการฝนเทียม โครงการปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงรถพระที่นั่ง ห้องทรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้ที่พระองค์ใช้ประจำ อีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ค่าเข้าชม (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ)

– ผู้ใหญ่ 200 บาท
– เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าชมฟรี

กิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังนี้

– ภาพยนตร์ Big Bang 10 บาท
– ภาพยนตร์ 4 มิติ ชีวิตบนพื้นทราย 30 บาท
– กิจกรรมนักประดิษฐ์ Enjoy Maker Space 50 บาท/คน แบบครอบครัว 100 บาท
– กิจกรรมห้องทดลองวิทยาศาสตร์ Science Lab 50 บาท/คน แบบครอบครัว 100 บาท
– Science Show 30 บาท
– Walk Rally 30 บาทMuseum trail 30 บาท

วันและเวลาทำการ

วันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 – 16.00 น.
วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 – 17.00 น.
(ปิดทำการทุกวันจันทร์)

การเดินทาง

  • รถโดยสารประจำทาง

รถโดยสารที่ผ่านหน้าปากทางคลองห้า (เส้นรังสิต – นครนายก) สาย ปอ. 538

  • รถบริการ อพวช. (Shuttle Bus)

– จุดจอดรับใต้สถานี BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
ออกจาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – อพวช. วันละ 2 เที่ยว เวลา 09.30 น. และ 11.00 น.

– จุดจอดหน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ออกจาก อพวช. – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันละ 2 เที่ยว เวลา 14.30 น. และ 16.30 น.