เมืองบาดาล โผล่พ้นน้ำที่กาญจน์หลังจมอยู่ใต้เขื่อนมานาน 27 ปี

Home / ข่าวท่องเที่ยว / เมืองบาดาล โผล่พ้นน้ำที่กาญจน์หลังจมอยู่ใต้เขื่อนมานาน 27 ปี



เรื่องเด่นเย็นนี้ เมืองบาดาล โผล่พ้นน้ำที่กาญจน์ (17-06-10)ดูวิดีโอทั้งหมด กดที่นี่

 

เมืองบาดาล

 


     นักท่องเที่ยวแห่ชมเมืองบาดาลโผล่พ้นน้ำครั้งประวัติศาสตร์ที่ กาญจนบุรี หลังจมอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลมมานานกว่า 27 ปี หากน้ำไม่แห้งขอดคงไม่ได้เห็น ด้านจังหวัดหวังผลักดันนักท่องเที่ยวเข้าชมก่อนน้ำจะท่วมอีก 2 เดือน

     นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะเดินทางไปที่หมู่ 2 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังจาก อ.สังขละบุรี ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เป็นเหตุทำให้ทะเลสาบซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนเขาแหลมแห้งขอด ทำให้เมืองบาดาลที่จมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 27 ปี ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นดินและมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมเมืองบาดาล เป็นจำนวนมาก

     นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สำหรับ เมืองบาดาลนั้นอดีตคือ “วัดวังก์วิเวการาม” เดิม ที่หลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2496 โดยมีชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาช่วยกันก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวเรียกว่า “สามประสบ” ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตีไหลผ่าน

     ต่อมาในปี 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม ทำให้น้ำเข้าท่วมอำเภอสังขละบุรีเก่ารวมทั้งวัดนี้ด้วย “หลวงพ่ออุตตมะ” จึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขา ส่วนวัดเดิมได้จมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยในช่วงฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน น้ำจึงจะลด ทำให้สามารถมองเห็นโบสถ์ของวัดได้อย่างชัดเจน และนักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเที่ยมชมได้ แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.สังขละบุรี ในชื่อเมืองบาดาล

     แต่ในวันนี้ อ.สังขละบุรี ประสบกับปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทางเขื่อนมีความจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำเพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบกับปีนี้ฝนตกลงมาช้ากว่าปกติ ทำให้นำในทะเลสาบที่ท่วมวัดวังก์วิเวการามเกินมากว่า 20 ปีลดลงจนแห้งขอด ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเมืองบาดาล สามารถเดินเข้าเยี่ยมชมโบสถ์ได้อย่างสะดวก

     แต่อย่างไรก็ตาม อีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า คาดว่า น้ำก็จะกลับมาท่วมเหมือนเดิม จึงอยากให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเยียมชมโบสถ์ และศาลาการเปรียญของวัดวังก์วิเวการามเดิมอย่างใกล้ชิด ขอให้เดินทางมาก่อนเดือนสิงหาคมที่จะถึง ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 เดือนเท่านั้น

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เยี่ยมชมโบสถ์ที่ถูกน้ำท่วมมาเป็นเวลานานแล้ว ยังสามารถได้ชมพื้นที่ที่เป็นที่ว่าการอำเภอสังขละบุรีเก่าได้ โดยจะพบว่าจุดที่เป็นที่ว่าการอำเภอเก่าจะมีหมุดปูนสี่เหลี่ยมกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต แสดงเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ และมีร่องรอยในอดีตหลงเหลือให้เห็นอยู่ ซึ่งนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายหน้าที่ให้อำเภอสังขละบุรี เทศบาลตำบลวังกะ จัดอบรมให้ความรู้ให้กับเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ให้เป็นมัคคุเทศน้อยขึ้นมาเพื่อแนะนำให้นักท่องเที่ยวทราบ ข้อมูลที่แท้จริงอีกด้วย

     สำหรับ “วัดวังก์วิเวการาม”หรือ “วัดหลวง พ่ออุตตมะ” เป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.2496 ที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 220 กิโลเมตร

     ในระยะแรกมีเพียงกุฏิและศาลา มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน

     ในปี พ.ศ.2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอเดิม คืออำเภอวังกะ-สังขละบุรี ซึ่งต่อมาถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอ ก่อนที่จะยกฐานะเป็น อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ.2508

     วัดวังก์วิเวการาม ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบพม่า มีพระพุทธรูปหินอ่อน และ งาช้างแมมมอธ มีเจดีย์พุทธคยาจำลอง สร้างจำลองแบบจาก เจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยเริ่มก่อสร้าง พ.ศ.2518 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2529 สะพานมอญ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ยาวประมาณ 900 เมตร

     เมื่อ พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำแล้ว น้ำในเขื่อนเขาแหลมจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งบริเวณหมู่บ้านชาวมอญทั้งหมด ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน หลวงพ่ออุตตมะได้จัดสรรที่ดินของวัดวังก์วิเวการามให้ชาวบ้านครอบครัวละ 30 ตร.ว.

     ปัจจุบันหมู่บ้านชาวมอญมีพื้นที่ราว 1,000 ไร่เศษ มีผู้อาศัยราว 1,000 หลังคาเรือน ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจัดเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าซึ่งไม่มีบัตรประชาชน หาเลี้ยงชีพโดยการปลูกพืชผักสวนครัวตามชายน้ำ ทำประมงชายฝั่ง คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งนิยมเป็นลูกจ้างในโรงงานเย็บเสื้อที่อยู่ไม่ห่างจากหมู่ บ้าน

     ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่าจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand เป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี


ที่มา : http://www.edtguide.com/dontmiss/activity_detail.php?id=5969