วิกฤติปะการังฟอกขาว ความรุนแรง-ฟื้นฟูนาน 20 ปี

Home / ข่าวท่องเที่ยว / วิกฤติปะการังฟอกขาว ความรุนแรง-ฟื้นฟูนาน 20 ปี

วิกฤติปะการังฟอกขาว ความรุนแรง-ฟื้นฟูนาน 20 ปี

 

*ที่มา: ไทยโพสต์

 

พูดกันมาได้สักพักหนึ่งแล้วสำหรับปัญหาปะการังฟอกขาว ที่พบมากในแถบทะเลอันดามันทางฝั่งเหนือ โดยเฉพาะแถบ หมู่เกาะสุรินทร์, เกาะสิมิลัน, เกาะพีพี และ เกาะบริวารของภูเก็ต ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลปะการังก็เพิ่งมาตื่นตัว เพราะปัญหาการฟอกขาวเริ่มรุนแรงมากขึ้น โดยมีตัวเลขจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ว่าพื้นที่บางส่วนมีปะการังฟอกขาวรุนแรงถึง 80% และความรุนแรงนี้อาจถึงขั้นวิกฤติ มีการขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

 
ผลกระทบจากปัญหาปะการังฟอกขาว แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะทะเลแถบอันดามันขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งดำน้ำระดับโลกแห่งหนึ่ง ในปีหนึ่งๆ จึงมีนักท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังจำนวนนับแสนราย และการที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้ไปรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของปะการังทำให้เสื่อมโทรมลง

 

image

 

ทางออกที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้ คือ ปิดบางจุดที่มีปะการังฟอกขาวตายไปแล้วกว่า 80% เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง แต่อาจจะต้องใช้เวลายาวนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว กว่าที่แนวปะการังและระบบนิเวศถึงจะกลับมาสมบรูณ์และสวยงามดังเดิม

 

ล่าสุด นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาประกาศว่า หลังจากรับข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้หัวหน้าอุทยานทางทะเลในพื้นที่ลงพื้นที่สำรวจว่าในเขตอุทยานมีจุดไหนที่เกิดความเสียหายรุนแรงมากก็จะกั้นเขตไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในบริเวณดังกล่าว แต่หากจะให้ปิดอุทยานเลยทั้งหมดคงทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะจะกระทบกับหลายส่วนโดยเฉพาะกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยว และในพื้นที่ที่ยังสามารถให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดำน้ำก็จะให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการมากขึ้น ไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล และไม่ให้นักดำน้ำเข้าไปทำลายปะการัง

 

“ตอนนี้จะปิดบางจุดใน 7 อุทยานทางทะเล อย่างเกาะเชือก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเจ้าไหม จังหวัดตรัง เกาะบุโหลนไม้ไผ่ ในอุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา จังหวัดสตูล เกาะมะพร้าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร แนวปะการังหินกลาง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หรือหาดทรายขาว เกาะดง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล อ่าวแม่ยาย อ่าวมังกร อ่าวจาก อ่าวเต่า เกาะตอรินลา ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงาและอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด้น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา โดยเจ้าหน้าที่จะนำทุ่นเป็นสัญลักษณ์เพื่อกันพื้นที่ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะใช้มาตรการกฎหมายเอาผิดกับผู้ประกอบการที่พานักท่องเที่ยวเข้ามา เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการฟื้นฟูประมาณ 5 ปี” นายสุนันต์กล่าว

 

image

 

มาตรการขั้นต่อไปคือ ต้องมีการเข้มงวดกวดขันกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยให้นักวิชาการเข้าไปศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ที่ปิดและพื้นที่เปิดว่า ผลการฟื้นฟูทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

 

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งก็จะทำหน้าที่เพาะเลี้ยงตัวอ่อนปะการังเขากวางเพื่อขยายแนวปะการัง และสร้างปะการังเทียมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเพื่อมาสนับสนุนการฟื้นฟูปะการัง ส่วนการท่องเที่ยวเสนอให้สร้างแหล่งดำน้ำแห่งใหม่เพื่อผ่อนคลายแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่เริ่มเสื่อมโทรม หรือให้เที่ยวแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในอุทยานฯ อย่างเที่ยวภูเขา น้ำตกและหาดทรายสวยๆ ยังมีอีกหลายที่เป็นทางเลือกในการท่องเที่ยว

 

“ตอนนี้ไม่ว่าจะในเขตอุทยานหรือนอกเขตอุทยานก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แม้แต่แปลงเพาะเลี้ยงปะการังตัวอ่อนยังมีการฟอกขาว เราก็จะดำเนินการเพาะเลี้ยงไปเรื่อยๆ จะกว่าจะได้ผล เพื่อที่จะได้นำไปขยายแนวปะการังให้มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องการจำกัดนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกมาตรการที่จะบังคับใช้อย่างจริงจัง แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ได้จำกัดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่อุทยาน แต่ก็ได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำ กำหนดให้ลงดำน้ำได้ครั้งละไม่เกิน 15 คน หากผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่ทำตามกฎก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายอุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 วรรค 18 เอาผิดและจะอายัดใบอนุญาตประกอบกิจการจากผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนด้วย” นายสุนันต์กล่าว

 

ด้านนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ตามที่สื่อใช้คำว่า “ปิดอุทยานฯ” เป็นคำที่สร้างผลกระทบทั้งผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ จึงขอให้เปลี่ยนเป็น “ห้ามเข้าในบางจุดที่วิกฤติรุนแรง” ในพื้นที่อุทยานเพื่อจะไม่เป็นการเข้าใจผิด

 

image

 

จากสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังที่ ทช.ได้สำรวจมานั้น พบว่าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-มิถุนายนปีที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจาก 29 เป็น 30 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ไล่มาตั้งแต่แถบตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ เซเชลส์ พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย โดยขณะนี้เกิดปะการังฟอกขาวทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันแล้วถึงร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมดกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เมื่อการประสานงานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็ได้รับความร่วมมือ โดยเสนอให้อุทยานฯ ลดจำนวนนักท่องเที่ยว การกั้นพื้นที่เพื่อฟื้นฟูปะการัง ซึ่งเชื่อว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ปะการังจะเริ่มฟื้นตัวเองได้ดีขึ้น เนื่องจากเข้าสู่หน้ามรสุมของฝั่งอันดามัน อุณหภูมิน้ำทะเลก็จะเย็นลง

 

“จากการสำรวจสภาพปะการังช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน จังหวัดพังงา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และเกาะราชา จังหวัดภูเก็ต โดยแนวปะการังมีอัตราการตายสูงมาก อย่างที่หมู่เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยายทิศเหนือ ตาย 99.9% หน้าช่องแคบตอนใน ตาย 93.6 % เกาะปาชุมบาตะวันออกเฉียงเหนือ ตาย 95% เกาะตาชัย ตายถึง 84% เกาะสุรินทร์ใต้ (อ่าวเต่า) ตาย 85% ส่วนที่เกาะสิมิลัน หน้าประภาคาร ตาย 89.3% เกาะตาชัยตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะบางูทิศใต้ ตาย 60.8%” อธิบดี ทช.กล่าว

 

นอกจากนี้ผลสำรวจบริเวณเกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง เช่น เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิด๊ะใน และเกาะบิด๊ะนอก ยังพบว่าแนวปะการังฟอกขาวส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่พร้อมตาย โดยเฉพาะในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง ซึ่งเป็นแหล่งปะการังเขากวาง ซึ่งมีความอ่อนไหวมากและอยู่ในแนวปะการังน้ำตื้น ทำให้กว่า 90% ได้ตายลง เช่นเดียวกับที่เกาะราชาใหญ่ อ่าวทิศเหนือปะการังตายมากถึง 96.7% โดยการปิดเฉพาะจุดในพื้นที่อุทยาน ก็เป็นการแก้ไขแค่เบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการฟื้นฟู ขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหาย และสภาพแวดล้อมในแต่ละบริเวณ

 

นายเกษมสันต์กล่าวต่อว่า ตอนนี้กรมอุทยานฯ ได้ส่งข้อมูลให้หัวหน้าอุทยานทางทะเลทั้ง 26 แห่ง รวมทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อขอความร่วมมือในวางแผนการทำกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และให้วางแผนการทำงานในระดับพื้นที่ เพราะต้องยอมรับว่าอุทยานฯ ทางทะเลบางแห่งสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดฤดูกาล แต่บางจุดก็มีมาตรการปิดให้ธรรมชาติฟื้นตัวประมาณ 6 เดือน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากกรมอุทยานฯ ดำเนินการปิดแหล่งดำน้ำบางจุดลงแล้ว หลังจากนี้ก็จะเกิดการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

“ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงอื่นๆ ที่ยังคงเปิดอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการดูแลและตรวจสอบนักท่องเที่ยวในกลุ่มของตนให้อยู่ในกฎระเบียบของอุทยาน แต่ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะฟื้นฟูได้ดีแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับว่าช่วงมีนาคม-พฤษภาคมที่จะถึงนี้ น้ำทะเลจะกลับมามีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ตอบไม่ได้” นายเกษมสันต์กล่าว

 

นอกจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การฟอกขาวของปะการังแล้ว จากสถิติที่เคยเกิดขึ้น พบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดนี้มีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดถี่ขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน แม้จะมีการฟองขาวอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติ แต่มาในช่วง 3 ปีให้หลังนี้ จะเห็นได้ว่าการฟอกขาวของปะการังเพิ่มสูงขึ้นเพราะโลกร้อนขึ้น ดันนั้นจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าในปีนี้อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีกหรือไม่ การฟอกขาวจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการไม่ไปรบกวนการเจริญเติบโตของตัวอ่อนและการฟื้นฟูปะการังก็น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในเวลานี้

 

โดย นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ทช. บอกว่า ถ้าเทียบกับในปี 2534 และ 2538 ที่เคยมีปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงแค่เพียง 20% แต่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ แนวโน้มการฟอกขาวส่อเค้ารุนแรงสูงขึ้น โดยมีอัตราการตายสูงถึง 60-95% โดยเฉพาะปะการังในทะเลอันดามันเหนือ ครอบคลุมหมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน เกาะพีพี และหมู่เกาะในฝั่งภูเก็ต โดยพบปะการังเขากวาง ปะการังกิ่ง ปะการังโขดเสียหายและตายเกือบ 100% แม้จะอยู่ในน้ำลึกระดับ 30 เมตรอย่างที่สิมิลันก็ตายลง หลังจากมีการฟอกขาวในเดือนมีนาคน-พฤษภาคมปีที่แล้ว ก็เริ่มทยอยยุบตัวลงเหลือแค่โขดหิน และกลายเป็นเศษซากปะการัง หลังจากนั้นเพียงแค่ 1-2 เดือน โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่มีความทนทานน้อยมาก ตายง่าย

 

จุดที่น่าเป็นห่วงมากๆ ได้แก่ บริเวณเกาะไข่นอก พังงา ที่บริเวณเกาะเมียง หมู่เกาะสิมิลัน เพราะพบสาหร่ายชั้นต่ำขึ้นมาปกคลุมปะการังมาก แสดงถึงมวลน้ำในทะเลไม่สะอาด ทำให้ปะการังตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื่องจากมีเรือท่องเที่ยวปล่อยน้ำเสียลงไปมาก และมีนักท่องเที่ยวนำขนมปังไปให้อาหารปลา ทำให้ปลาที่กินสาหร่ายเป็นอาหารเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะเคยชินกับการถูกให้อาหาร เมื่อกินขนมปังอิ่มแล้วก็ไม่ไปกินสาหร่ายที่ปกคลุมอยู่ ทำให้ปลาไม่สามารถวางไข่ตามแนวปะการังได้ ก็เสี่ยงกับการถูกปลาใหญ่กิน ขณะที่การปล่อยน้ำเสียลงทะเลก็จะไปสร้างให้เกิดแพลงตอนพืช ซึ่งเป็นอาหารของแพลงตอนสัตว์ อย่างตัวอ่อน ปลาดาวหนาม ทำให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปลาดาวหนามจะกินปะการังเขากวางเป็นอาหาร ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ทำลายระบบนิเวศ

 

“หากจะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ประสิทธิภาพ โดยให้ปะการังสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ตามธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องหยุดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เพราะจะช่วยให้มีปะการังวัยอ่อนลงมาเกาะ ไม่มีอะไรมารบกวนการเจริญเติบโตและการฟื้นฟูปะการังที่ฟอกขาว ซึ่งบางจุดของอันดามันอาจใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ในบางจุดที่มีความเสียหายมากถึงรุนแรงก็อาจใช้เวลานานถึง 20 ปีขึ้นไป” นายนิพนธ์กล่าว

 

นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ทช.บอกว่า จะกระทบไปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศแนวปะการัง ล้วนกระทบกับสิ่งมีชีวิตทั้งในทะเลและวิถีชีวิตชายฝั่งที่ทำการประมง รวมไปถึงกระทบกับแหล่งที่มาของรายได้จากการท่องเที่ยวและธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสืบเนื่องไปถึงรายได้ของประเทศด้วย โดยผลกระทบกับระบบนิเวศจะส่งผลให้ความหลากหลายของชนิดและจำนวนของปะการัง ตลอดจนสัตว์น้ำในแนวปะการังลดลง ทั้งชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และที่มีความสำคัญกับระบบห่วงโซ่อาหาร เพราะปะการังเป็นแหล่งอาหาร และให้สัตว์น้ำได้พึ่งพาในการอนุบาลวัยอ่อน หากแนวปะการังเสื่อมโทรมลงก็จะส่งผลถึงกันเป็นทอด ๆ

 

“โดยส่วนตัวมองว่า สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันเป็นสายใยอาหาร หากปริมาณสิ่งมีชีวิตอยู่ในระดับสมดุล ระบบนิเวศก็จะดำรงอยู่ได้ แต่หากมีสิ่งมีชีวิตใดมากกว่า ระบบนิเวศก็มีโอกาสที่จะเสียหายเช่นเดียวกัน การที่กิจกรรมในท้องทะเลที่มากเกินไป ไม่มีโอกาสให้ธรรมชาติได้พักฟื้นตัวเองบ้าง ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้” นายนิพนธ์กล่าว

 

ด้าน นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า ข้อเสนอที่รัฐให้ปิดแหล่งดำน้ำในตอนนี้ถือว่าช้ามากๆ เพราะนักวิชาการเคยออกมาเตือนแล้วว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาววิกฤติมาก จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยที่ผ่านมาก็มีการเสนอให้รัฐสร้างแหล่งดำน้ำเทียม ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว อย่างที่เกาะปัตตานี ที่นำตู้รถไฟเก่าไปทิ้งลงทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งอาศัยของปะการังและสัตว์น้ำ เพียงไม่ถึง 2 ปีก็จะได้เห็นความสมบรูณ์กลายเป็นแหล่งดำน้ำอีกที่หนึ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งตอนนี้ก็มีทำแล้วหลายๆ พื้นที่ ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทดแทนแหล่งท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องปิดลงเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวเอง

 

“ถ้าจะให้มองปัญหาจริงๆ แล้วเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือโลกร้อนขึ้นทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงบางช่วง เช่น มีนาคมถึงพฤษภาคมก็อาจจะสูงมากถึง 34 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวมากกินบริเวณกว้าง และในช่วงกันยายนถึงธันวาคม ก็จะเริ่มลดลงเหลือ 28-29 องศาเซลเซียส การฟื้นตัวก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งหากรัฐสั่งปิดแหล่งดำน้ำก็จะเป็นการดี เพราะจะลดการไปรบกวนธรรมชาติในช่วงที่ต้องการการฟื้นฟูตัวเอง แม้ต้องใช้เวลาก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ส่วนแนวทางอื่นๆ อย่างเช่น การปลูกปะการังทดแทนในพื้นที่ที่ตายแล้ว มองว่าเป็นการทำลายที่หนึ่งแล้วไปสร้างอีกที่หนึ่ง ซึ่งก็จะส่งผลให้ไม่เกิดความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆ จึงไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้” นายศักดิ์อนันต์กล่าว

 

ขณะที่เจ้าของพื้นที่อย่าง นายนิรุทธ์ พุทธพงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มองว่า ผลที่เกิดขึ้นกับปะการังเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าจะเกี่ยวกับกิจกรรมทางท่องเที่ยวมองว่ากระทบน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำส่วนใหญ่มีใจรักในธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น ย่อมไม่ทำลายธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่โทษใครเพราะทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะโลกที่ร้อนขึ้น สิ่งที่ทำได้คือการช่วยกันปลูกต้นไม้ให้โลกเย็นขึ้น อาจจะเป็นหนทางที่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นตอได้

 

เช่นเดียวกันผู้ถูกกระทบโดยตรงอย่างเจ้าของธุรกิจ อย่าง นายนพดล ทองเกิด ประธานชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยว เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ บอกว่า ไม่เห็นด้วยหากจะปิดอุทยานทางฝั่งอันดามันทั้งหมด เพราะในแง่ของการท่องเที่ยว ถือว่าได้รับผลกระทบมากทั้งธุรกิจเรือท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต และบริษัททัวร์ ร่วมถึงเศรษฐกิจชุมชน ชาวบ้านที่หากินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะขาดรายได้ โดยส่วนตัวมองว่าปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเป็นผลกระทบที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

 

“ภาครัฐมาพูดกันตอนนี้ถือว่าช้ามาก เพราะปัญหาการฟอกขาวที่เกาะพีพีมีมานานแล้ว และตอนนี้ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาสมบรูณ์มากกว่า 80% แล้ว จะมาปิดแหล่งท่องเที่ยวกันตอนนี้ มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะนักท่องเที่ยวที่ดำน้ำเองจะไม่สามารถลงไปแตะต้องปะการังได้ เพราะมีทั้งหอยเม่น และมีความลึกมากกว่า 2 เมตร ซึ่งลงไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้นแทนที่จะมาแก้ปัญหาโดยการปิดแหล่งท่องเที่ยว รัฐควรไปหาวิธีการจัดการดูปัญหาเรื่องน้ำเสีย น้ำทิ้งจากโรงแรม รีสอร์ต ลงสู่ทะเล หรือจัดการกับพวกประมงที่ใช้อวนลากในการหาปลา ซึ่งเป็นผู้ทำลายธรรมชาติโดยตรงจะดีกว่า” นายนพดลกล่าว

 

ขณะที่นักดำน้ำอิสระอย่าง นายนภันต์ เสวิกุล ที่ดำน้ำดูปะการังที่เกาะสิมิลันมากว่า 27 ปี สะท้อนว่าวันนี้ปะการังไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เรียกได้ว่าไม่เหลือความสวยงามให้เห็น ซึ่งการปิดโดยสิ้นเชิงจะเป็นการช่วยลดการรบกวนการฟื้นฟูของปะการังได้ดี แต่หากกรมอุทยานฯ จะเสนอแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ในตอนนี้ มองว่าจะเป็นไปสร้างปัญหาให้แหล่งปะการังใหม่ เมื่อมีนักท่องเที่ยวแห่ไปมากเกินไป ก็จะไม่เหลือแหล่งปะการังที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งไม่ใช่แค่ปะการัง แต่หมายถึงระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมด

แม้การแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาวในท้องทะเลอันดามันจะต้องแลกกับการสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว และแลกกับสูญเสียรายได้ในระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น เพื่อให้เวลาเยียวยาธรรมชาติให้ท้องทะเลกลับที่สวยงามและสมบรูณ์ดังเดิม แต่หากเราทุกคนยังไม่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนที่ทุกคนเป็นผู้ก่อปัญหา ดังนั้นไม่ว่าการแก้ปัญหานี้จะใช้เวลานานเท่าใด จะ 20 ปีหรือมากกว่านั้นก็ไม่คุ้มค่า หากวันนี้ธรรมชาติจะเอาคืนแล้ว!

******************************************************************************************