กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย
เสียงอื้ออึงของผู้คนดังอยู่ในหัวเหมือนแมลงหวี่บินวนเวียนไปมา พร้อมเสียงลมหายใจเข้าออกของตนเองดังออกมาเป็นจังหวะ ระหว่างที่ตาซ้ายปิดสนิทพร้อมตาขวาประกบอยู่ที่กล้องถ่ายภาพ ผมกำลังยืนอยู่ที่วัดพระแก้ว ช่วงประมาณเกือบๆ 4 โมงเย็น แดดค่อนข้างแรง รู้สึกได้ถึงหยดเหงื่อที่ไหลหยดลงมาจากหน้าผาก แต่ผมก็ไม่ยอมกด shutter สักทีเพราะคนเดินไปมาไม่ยอมหยุด การเฝ้ารอจังหวะคนที่พอดีๆ เพื่อให้องค์ประกอบของภาพลงตัวในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย …

กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เมืองหลวงของประเทศไทย เมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งของเอเชีย ที่ถือเป็น Hub ของการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหนึ่งปีมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาหลายล้านคน ในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 26,735,583 คนเพิ่มจากปี 2556 ถึง 19.60% การท่องเที่ยวถือเป็นรายหลายหลักอันดับต้นๆ ของประเทศมานาน ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา อยุธยา และอีกหลายจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินกันขวักไขว่ ไม่เว้นกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน แต่กลับกัน ในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์คนกรุงอย่าเราๆ ต่างหลงไหลได้ปลื้มกันเมืองตากอากาศหรือสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ จนลืมไปว่าเมืองกรุงที่เราอยู่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่คนกรุงอย่างเราๆ อาจจะไม่เคยไปเลยด้วยซ้ำ แต่มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะมองข้าม เพราะเราอยู่กรุงเทพฯ กันมานาน ทำงานตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ คุ้นชินกับชีวิตเมืองเบื่อหน่ายการเดินทางจากการทำงาน จึงต้องออกไปดูโลกกว้างใหญ่ไกลกรุงกันบ้าง Shutter & Travel ก็แค่อยากชวนเพื่อนๆ คนกรุง ลองก้มมองย้อนดูกรุงเทพฯ กันบ้างไรบ้าง แล้วหยิบกล้องตัวโปรดกับเลนส์ตัวชื่นชอบ ออกมาเที่ยวกรุงเทพฯ กันบ้างครับ
“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
กรุงเทพฯ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมายและหลากหลายประเภทเป็นเมืองแห่งสีสันทั้งในยามค่ำคืนและยามกลางวันเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความรู้รอบตัวท่องเที่ยวได้ไม่จำกัดเวลาและไม่จำเป็นต้องมีงบประมาณมากแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีอยู่เป็นจำนวนมากมากของกรุงเทพฯ
วัดพระแก้ว
วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์





มาบุญครอง
ห้างมาบุญครอง น้อยคนที่จะไม่รู้จัก แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “MBK Center” เพื่อง่ายต่อนักท่องเที่ยว แต่คนไทยชื่อที่เรียกกันจนติดปากคือ “มาบุญครอง” ที่นี่ถือเป็น ศูนย์ค้าที่โด่งดังเข้าขั้นระดับโลก เพราะสินค้าคุณภาพมีให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งราคาขายโดยเฉลี่ยก็ไม่แพงจนเกินไป เดิมเคยเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันบริเวณโดยรอบถือเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่และโด่งดังที่สุดของประเทศ ไทย มีห้างสรรพสินค้าและแหล่งช็อปปิ้งเกิดใหม่มากมายอย่าง Siam Discovery Siam Center Siam Paragon Siam Square รวมถึงห้าง Tokyu


สะพานพระราม 8
สะพานพระราม 8 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สะพานนี้เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระองค์มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ารองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี

เสาชิงช้า
เสาชิงช้า เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ลานคนเมือง) ใกล้กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้าและแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปแล้ว

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นผลงานการออกแบบของศ.ศิลป์ พีระศรี และ จิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคมพ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

เยาวราช
ถนนเยาวราช เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระยะทางความยาวตลอดเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร ได้รับการกล่าวขานและขนานนามว่าเป็น “ถนนมังกร” โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลาย สุดของถนน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนเยาวราชประกอบไปด้วยจุดสำคัญหลายจุดเช่น วงเวียนโอเดียนถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในท้องที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของถนนเยาวราชตัดกับถนนทรงสวัสดิ์ (สี่แยกเฉลิมบุรี) ถนนราชวงศ์ (สี่แยกราชวงศ์) และถนนจักรวรรดิ (สี่แยกวัดตึก) ข้ามคลองรอบกรุง (สะพานภาณุพันธุ์) เข้าสู่ท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร สิ้นสุดที่แยกถนนพีระพงษ์ตัดกับถนนมหาไชยและถนนจักรเพชร



วงเวียนโอเดียน
วงเวียนโอเดียน เป็นวงเวียนอยู่หัวถนนเยาวราช เป็นจุดตัดของถนนเจริญกรุง, ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน อยู่ในเขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร เป็นวงเวียนที่มีประวัติความเป็นมาคู่กับถนนเยาวราช เคยเป็นศูนย์รวมสถานบันเทิง เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ปัจจุบันปรับปรุงเป็นที่ตั้งของ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา ร้านค้าในย่านนี้ เรียกว่า ร้านค้าย่านโอเดียน เป็นย่านเก่าแก่เป็นที่มาของชื่อ เซียงกง แหล่งเครื่องยนต์มือสอง และอะไหล่มือสองจากญี่ปุ่นยุคแรก ปัจจุบัน ยังมีร้านค้าเหล่านี้อยู่บ้าง เช่น ร้านค้าอะไหล่รถยนต์ อะไหล่แทรกเตอร์ ร้านค้าโลหะ และร้านค้าเครื่องเรือ

วัดไตรมิตร
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนมิตรภาพไทย-จีน แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ สิ่งสำคัญของวัด คือ พระสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ พระพุทธรูปทองคำองค์นี้มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99%



สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่กล่าวมายังเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยของการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ กรุงเทพยังมีที่เที่ยวอีกเยอะที่เราอาจจะไม่เคยไป การถ่ายภาพในสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้เราไม่ควรที่จะรีบร้อน เพราะนักท่องเที่ยวที่มีมากจนอาจจะทำให้เราต้องรอเวลาที่เหมาะที่สุด คนน้อยที่สุดเพื่อองค์ประกอบภาพที่ลงตัวตามที่เราต้องการ
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ http://th.wikipedia.org
Shutter Tips
สำหรับคอลัมม์นี้ผู้เขียนขอแบ่งปันเทคนิคการถ่ายภาพ “ท้องฟ้าทไวไลท์” ฟ้าทไวไลท์มี 2 ช่วงเวลาในการถ่ายคือ เช้าและเย็น ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าและช่วงพระอาทิคย์ตกไปแล้วในช่วงเย็น แต่ส่วนใหญ่จะนิยมเลือกถ่ายในเวลาเย็น เพราะในเวลาเย็นจะมีโอกาสเห็นแสงไฟตามท้องถนนหนทาง ซึ่งจะเพิ่มสเน่ห์ให้กับภาพได้ 4 สิ่งที่ต้องเตรียมตัวมีดังนี้
- กล้องและขาตั้งกล้อง
- เลนส์มุมกว้างตั้งแต่ 24 mm เป็นอย่างน้อย(เมื่อนำมาคำนวณกับเซ็นเซอร์ในกล้องตัวคูณเท่ากับ 36 mm เรื่องการเลือกระยะของเลนส์ไม่มีข้อจำกัดตายตัว ช่างภาพบางท่านก็นิยมให้เลนส์เทเลมาถ่ายภาพเจาะ ซึ่งก็ได้ภาพที่สวยงามเช่นกัน
- ND Filter เพื่อการลดแสง บางครั้งการถ่ายภาพในช่วงที่มีแสงทไวไลท์ อาจจะมีความเร็วซัตเตอร์ที่ยังช้าไม่เพียงพอ การใช้ ND Filter ก็จะช่วยลดแสงยืดเวลาของ Speed Shutter ให้นานออกไป
- สายลั่น shutter หรือ รีโมทก็ได้ หากไม่มีทั้ง 2 อย่าง อาจจะตั้งเวลา shutter จากตัวกล้องได้

หลังจากเราเตรียมอุปกรณ์ครบเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องมาเลือก Location กันเลย หลายคนถามว่าจะถ่ายภาพฟ้าทไวไลท์ จะเลือก Location ทำไม ก็ไม่ผิดนะครับที่จะเงยกล้องขึ้นไปถายเลยก็ได้ แต่ภาพที่จะได้ก็คือฟ้าอย่างเดียว แต่ภาพท้องฟ้าทไวไลท์หนึ่งภาพเราสามารถเพิ่มสเน่ห์ให้กับภาพได้ ด้วยการไปในสถานที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเราไปในเมืองเราก็จะได้ภาพไฟเพิ่มเติมเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาพ หรือถ้าเราไปตามท้องถนน เราก็อาจจะได้ไฟหน้ารถหรือท้ายรถเข้ามาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบเช่นกัน หรือถ้าเราไปทะเลสาบ เราก็อาจจะได้ภาพที่สะท้อนวัตถุลงไปในน้ำ ซึ่งก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง Location จึงเป็นตัวกำหนดและเพิ่มสเน่ห์ให้กับภาพท้องฟ้าทไวไลท์ หลังจากเราเลือก Location ได้แล้วเราก็เริ่มถ่ายกันเลย ผู้เขียนมีเทคนิคส่วนตัวในการออกไปถ่ายภาพท้องฟ้าทไวไลท์ ที่ขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
- ไปก่อนเวลาเสมอ เพื่อให้มีเวลาในการเลือกมุมภาพ เราควรจะไปถึงสถานที่ถ่ายภาพและเลือกมุมภาพที่เราต้องการถ่ายสัก 2-3 มุม ถือเป็นการสำรองไว้ในกรณีที่มันไม่เป็นไปตามที่เราคิดไว้ ส่วนตัวจะไปถึงประมาณ 16.30 น. – 17.00 น.
- เมื่อได้เวลาและฟ้าที่ต้องการแล้วก็เตรียมกล้องวางบนขาตั้งกล้อง กำหนดค่า ISO ที่ต่ำที่สุดที่กล้องมีให้ ส่วนใหญ่จะ ISO100เลือกโหมดวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งใบ
- ผู้เขียนขอใช้โหมดการถ่ายภาพในโหมด TV คือการถ่ายภาพแบบกำหนดค่า Speed Shutter ด้วยตนเอง ส่วนค่า F ก็จะแปรผันตามระบบวัดแสงที่วัดได้แต่จะได้ค่า F ที่เท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของ Speed Shutter ที่ต้องการ เช่น หากเราต้องการถ่ายภาพไฟหน้ารถให้เป็นเส้นยาวต่อเนื่องจากด้านซ้ายสุดไปขวาสุดของภาพ เราประมาณเวลารถวิ่งเอาไว้ เช่น 8 วินาที เราก็ตั้ง Speed Shutter ที่ 8 วินาที แล้วมาดูว่าค่า F ที่ได้คือเท่าไหร่ แล้วก็กดบันทึกภาพได้เลย (สามารถใช้โหมดถ่ายภาพ M Manual ได้ แล้วแต่ความถนัด)
- แต่การทำตามขั้นตอนในข้อ 3 ก็มีโอกาสที่จะได้ค่าการวัดแสงออกมาจะสว่างเกินไปคือเลือกที่ 8 วินาทีแล้วค่า F แสดงผลได้ที่ 22หรือแคบที่สุดแล้ว ก็ยังได้ภาพที่โอเวอร์อยู่ ตัวช่วยของเราคือ ใช้ ND Filter ในการลดแสงครับ ND Filter มีลักษณะเหมือนกระจกที่ติดฟิล์มสีดำเข้าไป ซึ่งจะมีให้เลือกตั้งแต่ ND2 ND4 ND8 เลขมากจะลดแสงได้มากตาม
- และที่สำคัญที่สุดให้ใช้สายลั่น Shutter รีโมท หรือหากไม่มีให้ใช้การตั้งเวลา Shutter แทนเพื่อป้องกันการสั่นไหวจากน้ำหนักมือที่กดลงบน Shutter

================================================================================

*ห้ามนำภาพหรือบทความนี้ไปเผยแพร่ก่อนได้รับการอนุญาตจากเว็บไซต์ travel.mthai.com
================================================================================