ที่เที่ยวอีสาน บ้านเชียง วัฒนธรรม เครื่องปั้นดินเผา เที่ยวอีสาน ไทผวน

เรียนรู้วิถีไทยโบราณสืบสานงานหัตถกรรม 5,000 ปี ที่บ้านเชียง

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด, ภาคอีสาน / เรียนรู้วิถีไทยโบราณสืบสานงานหัตถกรรม 5,000 ปี ที่บ้านเชียง

เรียนรู้วิถีไทยโบราณสืบสานงานหัตถกรรม 5,000 ปี ที่บ้านเชียง

1

บ้านเชียงเป็นบ้านเมืองวัฒนธรรม ที่ร่ำรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทุกคนที่นี่มีความเป็นอยู่แบบคนโบราณแท้ๆ อะไรที่เคยมีมาในอดีตทุกวันนี้ก็ยังมีให้คนรุ่นหลังได้เห็นเหมือนเดิมชาวไทพวน กลุ่มชนที่ตั้งรกรากอยู่อาศัยในบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ทำให้เราทราบว่า การดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา ได้ทำให้ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ และสิ่งนี้เองที่ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวอยากเข้าไปทำความรู้จักกับวิถีชุมชนของบ้านเชียงให้มากขึ้น

2

3

จากภูมิปัญญาโบราณสู่การสร้างรายได้

เมื่อมาถึงบ้านเชียงบริเวณฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงจะมีเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านในชุมชนบางส่วนเริ่มทยอยออกมาตั้งร้านขายภาชนะดินเผาเขียนสี ของที่ระลึกที่บ่งบอกถึงความเป็นบ้านเชียง เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่สินค้าเหล่านี้ยังคงได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวไม่เสื่อมคลาย

เหมือนกับ ร้านบ้านเชียง 5,000 ปี หนึ่งในจำนวนร้านเครื่องปั้นดินเผาชื่อดัง ที่นี่มีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาให้เลือกหลายขนาด บางชิ้นเพิ่มมูลค่าด้วยการตกแต่งเป็นกรอบรูป บ้างก็มีดอกไม้ประดิษฐ์วางบนผ้าทอฝีมือบ้านเชียง หากอยากเห็นขั้นตอนวิธีการผลิต ก็สามารถแวะชมได้ที่กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวร้าน โดยเปิดเป็นจุดสาธิตให้ผู้ที่สนใจได้ลองวาดลวดลายลงบนไห ถือเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์งานด้านศิลปะให้กับตัวเองสักครั้งในชีวิตได้อีกด้วย

4

รวมใจรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

นอกจากงานศิลปหัตถกรรมที่ชาวบ้านเชียงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแล้ว ด้านประเพณี ที่อยู่อาศัย เอกลักษณ์อื่นๆ ที่แสดงถึงรากฐานความเป็นบ้านเชียงได้ พวกเขาปลูกฝังค่านิยมให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เช่น การปลูกเรือนไม้โบราณของคนอีสาน ตรงตามลักษณะการสร้างบ้านของชาวไทพวนที่ยังเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาทำความรู้จัก แม้จะลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา มีให้เห็นไม่มากนักในปัจจุบัน แต่ยังมีเรือนต้นไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่เรายังได้เห็นเป็นบุญตา

ลักษณะของบ้านไทพวน เป็นเรือนไม้ หลังคาจั่วมุงแป้นเกล็ด ยกใต้ถุนสูง ตัวเรือนแต่ละหลังเชื่อมต่อกันด้วยชานไม้ มียุ้งข้าว ใช้บันไดพาดกับชานด้านหน้าในการขึ้นลง และจะเก็บบันไดขึ้นบนเรือนในตอนกลางคืนเพื่อความปลอดภัย เป็นรูปแบบหนึ่งของเรือนพื้นถิ่นในประเทศไทย

5

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจคือ บรรยากาศความสนุกสนานของชาวไทพวน การจัดงานประเพณีต่างๆ ของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีการบายศรีสู่ขวัญ หรือ การล้อมวงทานอาหารพื้นเมืองแบบพาแลง ท่ามกลางเสียงเพลงบรรเลงจากวงดนตรีพื้นเมืองในทำนองที่สนุกสนาน การฟ้อนรำ อันอ่อนช้อยสวยงามของชาวไทพวนที่ล้วนเป็นสีสัน เป็นเสน่ห์ให้ผู้มาเยือนทุกเพศทุกวัยต่างอดใจไหวที่จะต้องโดดเข้าร่วมฟ้อนรำกันหมดทุกคน

เห็นอย่างนี้แล้ว ก็อดปลาบปลื้มใจไปกับสิ่งที่ชาวบ้านเชียงหวงแหนและรักษาไว้ไม่ได้จริงๆ สมแล้วที่พื้นที่แห่งนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก การที่คนรุ่นก่อนได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาวิชาความรู้ ในขณะที่คนรุ่นหลังก็เต็มใจน้อมรับเอาวัฒนธรรมอันดีงามมาสานต่อเช่นกัน และจะก่อเกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ชุมชนนั้นๆ ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนสืบไป

เครดิตจาก นิตยสาร BAREFOOT ฉบับเดือนตุลาคม 2016

อ่านเพิ่มเติม ได้ที่ www.mbookstore.com

%e0%b8%9b%e0%b8%81