เพชรบุรี กับความทรงจำ (Shutter&Travel)

Home / ภาคใต้, สมาชิกพาเที่ยว / เพชรบุรี กับความทรงจำ (Shutter&Travel)

เพชรบุรี กับความทรงจำทุกครั้งของการเดินทาง มันคือเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนมัน การได้ออกไปดูโลกกว้าง การได้เห็นสิ่งแปลกตา การได้สัมผัสชีวิตท้องถิ่น และสำคัญที่สุดคือการได้เก็บบันทึกความทรงจำจากเรื่องราวที่ประสบพบเจอด้วยการถ่ายภาพ มันชุ่มชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก

เพชรบุรี กับความทรงจำ
เพชรบุรี กับความทรงจำ

เพชรบุรี เมืองที่ทุกคนสามารถนึกถึงได้กับภาพของชายหาด ท้องทะเล และความหวานของขนมขึ้นชื่อมากมาย ผมมาเที่ยวที่นี่หลายครั้งนับไม่ถ้วน หลับตาก็นึกย้อนถึงภาพตนเองกับชายหาดทอดยาวตั้งแต่หาดเจ้าสำราญ ปึกเตียน จนถึงหาดชะอำ ร้านอาหารทะเลมากมายกับมื้อพิเศษในวันสุดสัปดาห์ของการพักผ่อนกับครอบครัว นี่คือภาพในหัวที่นึกย้อนขึ้นมาได้จากความทรงจำของผม และด้วยวัยที่โตขึ้นการท่องเที่ยวก็โตตามวัย การแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ตื่นตาตื่นใจ เพื่อเติมเต็มความทรงจำใหม่ๆ ก็มีเรื่อยมา จนเราแทบจะลืมเมืองๆ นี้ไปเลย “เพชรบุรี”

เพชรบุรี กับความทรงจำ
เพชรบุรี กับความทรงจำ

เพชรบุรี = ทะเล คนส่วนใหญ่คิดเช่นนั้น แท้จริงแล้วเพชรบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่ผมยังไม่เคยไป ปลายทางของการเดินทางครั้งนี้จึงไม่ใช่ทะเล แต่เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดเกาะแก้ว และการได้เก็บภาพลำแสงของ ถ้ำเขาหลวง ครับ

เพชรบุรี กับความทรงจำ
เพชรบุรี กับความทรงจำ

เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ เลี้ยวซ้ายเชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษมมุ่งสู่ตัวเมืองเพชรฯ กันเลย เพียงสองชั่วโมงกว่า กับระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร ก็มาถึงวัดเกาะแก้วที่ตั้งอยู่กลางตัวเมืองเพชรบุรีครับ

อุโบสถ วัดเกาะแก้ว
อุโบสถ วัดเกาะแก้ว

เราเดินทางมาเจอกับงานบวชนาคโดยบังเอิญ พระอุโบสถจึงไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตามปกติ แต่ระหว่างที่เราเดินชมโดยรอบของพระอุโบสถ ได้เจอหลวงพี่ใจดีรูปหนึ่งท่านยินดีเปิดอุโบสถให้เราเข้าชม หลังจากที่ได้แจ้งกับหลวงพี่ว่าเราตั้งใจมาชมภาพวาดที่อุโบสถแห่งนี้ แถมท่านยังได้นั่งพูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเอง และเล่าประวัติย่อๆ ของวัดเกาะแก้วให้เราฟังอีกด้วย 🙂

วัดเกาะแก้ว
บริเวณโดยรอบ วัดเกาะแก้ว
พระพุทธรูปภายในอุโบสถ วัดเกาะแก้ว
พระพุทธรูปภายในอุโบสถ วัดเกาะแก้ว

วัดเกาะแก้ว” ตั้งอยู่ในตำบลท่าราบ อำเภอเมือง ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า วัดเกาะ เหตุที่ชื่อวัดเกาะ เพราะสมัยก่อนมีสายน้ำไหลรอบด้านทั้ง 4 ทิศของวัด สันนิษฐานได้ว่าคงสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สถาปัตยกรรมสำคัญของวัด คือพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว ผนังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นภาพจักรวาลตามคติโบราณ ส่วนผนังด้านหลังเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านทิศใต้เป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญที่เกิดขึ้น ณ สถานที่สำคัญ 8 แห่ง เรียกว่า “อัฏฐมหาสถาน” แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตรส่วนผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพแสดงสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังตรัสรู้แล้ว 7 แห่ง เรียกว่า “สัตตมหาสถาน” แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตรเช่นเดียวกัน เหนือขึ้นไปเป็นที่มีลักษณะเป็นตัวแทนของชนชาติต่างๆ และมีอักษรจารึกระบุ พ.ศ.2277 บอกเวลาที่เขียนภาพจิตรกรรมนี้ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275–2301)

ภายในอุโบสถ วัดเกาะแก้ว
ภายในอุโบสถ วัดเกาะแก้ว

เมื่อได้เข้ามาภายในพระอุโบสถ ก็รู้สึกได้ถึงความเย็นกายเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก พระอุโบสถไม่ได้ใหญ่โตอะไร ไม่ได้ดูมีราคาเหมือนอุโบสถในวัดที่กรุงเทพฯ ใช้โครงสร้างที่เป็นปูนปนกับไม้ ดูธรรมดาทั่วไป แต่ที่น่าทึ่งคือการบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาผ่านภาพวาดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอย่างพวกเรา มันแสดงถึงความอุตสาหะพยายามที่อยากให้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านงานภาพวาดสีฝุ่นผสมกาว นี่แหละครับความงามที่ไม่สามารถหาชมได้ด้วยตาเปล่า

ภายในอุโบสถกับภาพวาดสีฝุ่นผสมกาว วัดเกาะแก้ว
ภายในอุโบสถกับภาพวาดสีฝุ่นผสมกาว วัดเกาะแก้ว

ลองนึกเล่นๆ เปรียบเทียบกับยุคสมัยนี้ ยุคของความง่ายและสะดวก หากใครต้องการจะบันทึกเรื่องราวอะไรส่งต่อให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็คงเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านโปรแกรมปฏิบัติการที่เราถนัดอะไรสักโปรแกรมนึง แล้วเก็บมันไว้ในคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดดิสก์อะไรสักอย่าง ลูกหลานเราในอนาคตก็มาเปิดดูหรืออ่านเรื่องราวจากคอมพิวเตอร์ครับ

ภายในอุโบสถ วัดเกาะแก้ว
ภาพวาดที่มีร่องรอยลบเลือน วัดเกาะแก้ว

เราได้สอบถามหลวงพี่ถึงด้านล่างของภาพที่มีร่องรอยของการลบเลือนของภาพเขียน ว่าทำไมมันถึงเป็นเช่นนี้  หลวงพี่ตอบว่า ด้วยอายุของภาพและวิธีการเขียนภาพด้วยสีฝุ่นผสมกาวมันไม่ได้คงทนเท่าการเขียนภาพสมัยใหม่ ภาพดังกล่าวจึงลบเลือนได้ง่าย เวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากๆ เนื้อตัวก็มีการสัมผัสภาพเขียน ที่ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายภาพที่ใช้แฟลชก็สามารถทำให้สีของภาพเขียนซีดจางลงได้เช่นกัน

ภายในอุโบสถระบุห้ามใช้แฟรชถ่ายภาพ
ภายในอุโบสถระบุห้ามใช้แฟรชถ่ายภาพ
ภาพวาดสีฝุ่นผสมกาว
ภาพวาดสีฝุ่นผสมกาว เป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยี่ยมชม
วัดเกาะแก้ว
วัดเกาะแก้ว

เราใช้เวลาชื่นชมความงามจากภาพวาดสีฝุ่นผสมกาวภายในอุโบสถของวัดเกาะแก้วอีกพักนึง พร้อมกับถ่ายภาพ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปถึงถ้ำเขาหลวง ที่อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองเพียง 5 กิโลเมตร

บันไดทางลง วัดถ้ำเขาหลวง
บันไดทางลง ถ้ำเขาหลวง

“ถ้ำเขาหลวง” ตั้งอยู่บนเขาหลวง จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ 99 ขั้น เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไป

ภาพลำแสงที่ส่องลงมาจากเพดานถ้ำด้านบน
ภาพลำแสงที่ส่องลงมาจากเพดานถ้ำด้านบน ต้องรอจังหวะแสง หากมีเมฆมาบังแสงก็จะหายไป

ก้าวแรกที่เดินลงบันไดมาถึงด้านล่าง ผมนึกบอกตัวเองเลยว่า ความสวยงามที่ธรรมชาติมอบให้นั้น ไม่ต้องลำบากเดินทางไกลเสมอไป ที่นี่มีลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำใหญ่สูงโปร่งทอดตัวไปทางซ้ายแบ่งสัดส่วนเหมือนห้อง มีหินงอกหินย้อยที่เกิดจากน้ำหยดลงมาสวยงาม ที่ประหลาดใจสำหรับวัดถ้ำเขาหลวงแห่งนี้คือ ไม่มีกลิ่นอับชื้นของถ้ำเหมือนถ้ำทั่วไป และที่สวยสะดุดตาคือแสงที่สาดส่องจากเพดานถ้ำด้านบนสู่ด้านล่างของพื้นถ้ำบริเวณลานหน้าพระพุทธรูปหลวงพ่อโต ดูศักดิ์สิทธิ์และสวยงามครับ ผมนั่งตรงนี้ใช้เวลารอแสงที่ชอบเพื่อบันทึกภาพอยู่นาน ไม่ได้รู้สึกเบื่อเลย

วัดถ้ำเขาหลวง
องค์พระพุทธรูปเรียงรายสวยงาม
วัดถ้ำเขาหลวง
ลานด้านล่างมีจุดรับบริจาคและร่วมทำบุญจากนักท่องเที่ยว
ภาพช่องแสงบริเวณทางขึ้นลงของถ้ำเขาหลวง
ภาพช่องแสงบริเวณทางขึ้นลงของถ้ำเขาหลวง

ในประวัติเล่าไว้ว่ารัชกาลที่ 4 เสด็จมาพร้อมโอรส 2 พระองค์ และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ร่วมกันสร้างและทรงบูรณะไว้ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปในถ้ำรวม 170 องค์ มีเจดีย์ในถ้ำ 6 องค์ ด้านในมีองค์พระพุทธไสยาสน์ หลวงพ่อโต ไว้ให้นักท่องเที่ยวกราบไหว้บูชา และที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งยังมีตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 1-5 จารึกไว้ด้วย

วัดถ้ำเขาหลวง
ภาพแสงที่ส่องลงมาบริเวณลานด้านหน้าองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อโตดูขลังและสวยงาม
แสงที่สาดลงมาจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ระหว่างวันตามองศาของพระอาทิตย์
แสงที่สาดลงมาจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ระหว่างวันตามองศาของพระอาทิตย์

ด้านในมีพระพุทธรูปปางพระนอน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีความยาว 14 เมตร ทราบมาว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างได้เพียง 9 เมตร และมาสร้างต่อจนเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพพระพุทธรูปปางพนะนอน
ภาพพระพุทธรูปปางพระนอน ภายในถ้ำเขาหลวง
ในวันเสาร์อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชมค่อนข้างหนาตา
ในวันเสาร์อาทิตย์จะมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมชมค่อนข้างหนาตา

ใครที่มา ถ้ำเขาหลวง บ่อยๆ คงจะทราบดีถึงความแตกต่างของทิศทางของแสงที่สาดส่องลงมาจากเพดานถ้ำเขาหลวงจะทำมุมแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล อย่างฤดูหนาวและฤดูร้อนก็จะมีตำแหน่งของแสงที่ลงมาแตกต่างกันไป ผมชอบที่นี่ครับ คิดว่าคงต้องหาโอกาสมาอีกครั้ง ส่วนผู้ที่พิสมัยการถ่ายภาพเหมือนผม ไม่ควรพลาดเช่นกัน

On Stage
… On Stage …

การเดินทางเล็กๆ ครั้งนี้ทำให้เราได้เติมเต็มความทรงจำของจังหวัดเพชรบุรีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญการเดินทางได้ให้แง่คิดที่ดี 2 เรื่อง หนึ่งเรื่องคือ เราในฐานะนักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังช่วยกันรักษาดูแลสถานที่ท่องเที่ยวให้คงอยู่ไว้นานๆ เพราะบางครั้งเราซะเองที่อาจกลายเป็นผู้ทำลายความสวยงามโดยสุจริตใจ ส่วนอีกเรื่องคือ ความสวยงามมีอยู่ใกล้ตัว บางทีเราตั้งต้นเดินทางไปแสนไกลเพื่อแสวงหา แต่บางทีเราก็สามารถพบเจอได้โดยไม่ต้องแสวงหาแต่อย่างใด

================================================================================

Shutter tips – การถ่ายภาพภายในถ้ำ อุโบสถ หรืออาคารที่มีสภาพแสงน้อย

การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย
การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย
On Stage
ภาพที่มีแสงเปรียบต่างสูง
  • ควรใช้ขาตั้งกล้อง เพราะการเก็บภาพมุมกว้างที่ต้องการความคมชัดทั้งใบ ควรเปิดรูรับแสงให้แคบหรือประมาณ f8 ขึ้นไป อาจทำให้ค่าความไวแสง (Speed Shutter) ต่ำกว่า 1/30 ได้จึงไม่ควรถ่ายภาพด้วยมือเปล่า
  • กรณีที่ไม่ได้นำขาตั้งกล้องไป จำต้องใช้รูรับแสงหรือ f ที่ต่ำลงบ้าง เพื่อเพิ่มความไวแสง (Speed Shutter) ให้เพียงพอต่อการถ่ายภาพด้วยมือเปล่า นั่นคือค่าความไวแสงที่ 1/50 ขึ้นไป แต่หากปรับตั้งแล้วค่าความไวแสงไม่พอ ขอให้ลองเพิ่มค่า ISO ขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มค่าความไวแสง ให้สามารถถ่ายด้วยมือเปล่าได้
  • การถ่ายภาพแสงที่สาดส่องลงมาให้เป็นลำแสงชัดเจน ภาพลักษณะนี้ถือเป็นภาพที่มีสภาพแสงเปรียบต่างสูง นั่นคือในเฟรมภาพมีส่วนมึดและส่วนสว่างแตกต่างกันมาก ให้ลองปรับตั้งระบบวัดแสงภายในกล้องเป็นแบบเฉพาะจุด (Spot Metering) แล้วให้วัดแสงที่บริเวณลำแสงหรือใกล้เคียง จากนั้นให้ถ่าย over ขึ้นมาสัก 1-2 stop (ด้วยการปรับตั้งค่าความไวแสงให้ช้าลง) เพื่อเก็บรายละเอียดของภาพโดยรอบในส่วนมืดเพิ่มเติม
ธีรชุย ธาราสุข
ธีรชัย ธาราสุข

 

*ห้ามนำภาพหรือบทความนี้ไปเผยแพร่ก่อนได้รับการอนุญาตจากเว็บไซต์ travel.mthai.com

================================================================================

 

แผนที่ถ้ำเขาหลวง


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น