ข้าวต้มลูกโยน งานบั้งไฟพญานาค งานประเพณี ที่เที่ยววันออกพรรษา ประเพณีชักพระ ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีลากพระ ประเพณีไหลเรือไฟ วันออกพรรษา

เที่ยววันออกพรรษา 2561 งานบุญใหญ่ ต้องไปสักครั้ง

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / เที่ยววันออกพรรษา 2561 งานบุญใหญ่ ต้องไปสักครั้ง

เทศกาลออกพรรษา 2561 เพื่อนๆ คนไหนที่มีแพลนไปทำบุญ หรือเดินทางไป เที่ยววันออกพรรษา ชมประเพณีต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในหลายจัดหวัดทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นงานบั้งไฟพญานาค ประเพณีเรือไหลไฟ ประเพณีจองพารา ประเพณีชักพระ และที่ขาดไม่ได้คือการร่วมงานตักบาตรเทโว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกวัด เพราะเชื่อกันว่าวันออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน ถ้าใครยังเลือกไม่ถูกว่าจะไปไหน Travel.Mthai คัดสรรมาให้คุณเลือกแล้วจ้า

เที่ยววันออกพรรษา 2561
งานบุญใหญ่ ต้องไปสักครั้ง

1.”มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน” ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี

ขอบคุณภาพจาก : ,saraburi

เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ “มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี” ชมขบวนแห่ข้าวต้มลูกโยน ตามด้วยขบวนการแสดงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม พร้อมชมการประกวดทำข้าวต้มลูกโยน โดยกำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระพุทธฉาย อ.เมือง จ.สระบุรี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป


2. ประเพณีตักบาตรเทโว จ.อุทัยธานี

ขอบคุณภาพจาก : amazingthaitour

ประเพณีตักบาตรเทโว ณ วัดสังกัสรัตนคีรี จ.อุทัยธานี เป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด โดยสมมติให้มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสะแกกรัง เป็น “สิริมหามายากุฎาคาร” พระสงฆ์จะเดินลงมารับของใส่บาตรจากประชาชนตามบันไดที่ทอดยาวจากมณฑปลงสู่บริเวณลานวัด เพื่อมารับบิณฑบาตข้าวสาร อาหารแห้ง จากพุทธศาสนิกชน ง เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่ทอดยาวจากสวรรค์ดาวดึงส์ สู่เมืองสังกัสนคร

สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม ภายในงานมีการแสดงแสง สี เสียง พร้อมรับประทานอาหารสำรับคาว-หวาน และร่วมพิธีตักบาตรเทโว


3. ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง และการแข่งขันเรือยาว จ.สกลนคร

ชวนเที่ยวงาน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทานฯ จังหวัดสกลนคร ประจำปี 2561 ในระหว่างวันที่ 21 – 24 ตุลาคม 2561  ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ดังนี้

– ตื่นเต้นสนุกสนานกับการแข่งขันเรือยาว ณ บึงหนองหาร
– การแสดงปราสาทผึ้งประยุกต์และปราสาทผึ้งโบราณ
– การแสดงแสง สี เสียง ศิลปวัฒนธรรมชาวสกลนคร
– ชมขบวนแห่ปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามของคุ้มวัดต่าง ๆ เคลื่อนไปตามถนนในเขตเทศบาล ไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร

ปราสาทผึ้งแต่ละขบวนจะนำมาตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ด้วยความศรัทธาของชาวอีสานที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์


4. ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด อำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ประเพณีจองพารา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นประเพณีตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ในช่วงออกพรรษา โดยชาวบ้านจะประดิษฐ์จองพาราและประดับตามบ้านเรือนเพื่อแสดงถึงการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับมาสู่โลกมนุษย์ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

– แห่จองพาราหรือ “ปราสาทไม้จำลอง” ประดับด้วยกระดาษสีต่าง หน่อกล้วย โคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม
– การประกวดจองพารา ประกวดการฟ้อนนกกิ่งกะลา รำโตสัตว์สองเท้า สี่เท้าในวรรณคดี
– พิธีตักบาตรเทโวโรหนะ ณ วัดดอยกองมูในวันออกพรรษา

หมายเหตุ คําว่า จองพารา หมายถึง ซุ้มรับเสด็จพระพุทธเจ้า เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า “ปราสาทพระ”


5. ประเพณีออกหว่า อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

เทศกาลออกพรรษาของชาวอําเภอแม่สะเรียง เรียกว่า ประเพณีออกหว่า จะมีการประดิษฐ์จองพารา ซุ้มราชวัตร และโคมไฟประดับตามบ้านเรือน เหมือนกับในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

ส่วนที่ 1 การตักบาตรตอนตี 4 พระสงฆ์ ประมาณ 200 รูป จะออกเดินบิณฑบาตบริเวณถนนแม่สะเรียง ถนนวัยศึกษา ถนนแหล่งพาณิชย์ และถนนเวียงใหม่ 

เช้าวันที่ 23 ตุลาคม ตักบาตรอาหารสุก

เช้าวันที่ 24 – 25 ตุลาคม ตักบาตรข้าวสารอาหาร

ส่วนที่ 2 กิจกรรมรื่นเริงและลานวัฒนธรรม ณ ลานวัฒนธรรมวัดอุทยารมณ์ (วัดจองสูง)

ส่วนที่ 3 ขบวนแห่เทียนเหง ในค่ำคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2561 นั้น เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. พบกับขบวนแห่เทียนเหง (เทียนพันเล่ม) เกือบ 20 ขบวน โดยจะยกเรื่องราวประเพณีออกหว่า มาให้ท่านได้สัมผัส บนท้องถนน


6. ประเพณีบุญแห่กระธูป จ.ชัยภูมิ

ประเพณีบุญกระธูปของอำเภอหนองบัวแดงจะทำก่อนวันออกพรรษา 3 วัน เพื่อเป็นพุทธบูชา โดยชาวบ้านจะนำธูปมาห่อด้วยกระดาษและตกแต่งสีสันให้สวยงามตามจินตนาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายพื้นบ้าน หรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอำเภอหนองบัวแดง ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ คือ

วันที่ 20 ตุลาคม เวลาบ่าย 2 โมง จะมีการแห่ขบวนแห่ประเพณีบุญกระธูปจาก 9 ตำบล ที่บริเวณถนนสายกระธูป หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง การฟ้อนรำ รําลึกเจ้าพ่อพญาแล และการแสดง แสง สี เสียง ตำนานบุญกระธูป

วันที่ 21 ตุลาคม การประกวดกระธูปใหญ่และกระธูปโบราณ การแข่งขันจักรยาน ปั่นข้ามเกิ้ง เบิ่งกระธูป การประกวดดนตรีพื้นบ้านการแสดงและจำหน่ายสินค้าที่ขึ้นชื่อ

วันที่ 22 ตุลาคม พิธีสวดมนต์ กิจกรรมจุดบูชาต้นกระธูป ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง ตั้งแต่เวลา 17.00 เป็นต้นไป

วันที่ 23 ตุลาคม พิธีทำบุญตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา บริเวณถนนสายกระธูปโบราณ หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ส่วนเวลา 18.00 น. จะมีกิจกรรมเวียนเทียนและจุดบูชาต้นกระธูป


7. ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว จ.สุราษฎร์ธานี

จุดเด่นของประเพณีชักพระ อยู่ตรง“เรือพระ“ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีการอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกภายในเรือ จากนั้นก็ลากเรือไปเรื่อยๆ ซึ่งการลากพระทางน้ำ เรียกว่า “เรือพระน้ำ” ส่วนลากพระทางบก เรียกว่า “เรือพระบก”

ขอบคุณรูปภาพจาก : ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า สุราษฎร์ธานี

สำหรับงานในปีนี่จัดยิ่งใหญ่เหมือนเดิม มีทั้งการแสดงแสง สี เสียงประกอบพิธีการชักพระ การแข่งเรือยาว การประกวดพุ่มผ้าป่า และตลาดขายสินค้าสารพัดทั้งของใช้และอาหารถิ่น

งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 29 ตุลาคม 2561 บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำตาปี และบริเวณสะพานนริศ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี


8. งานบุญบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย

วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี จะมีประเพณียิ่งใหญ่ที่สำคัญกับชาวอีสาน นั่นคือ งานบุญบั้งไฟพญานาค ลักษณะของบั้งไฟพญานาค จะเป็นลูกไฟกลมๆ สีแดงอมส้ม ซึ่งจะพุ่งขึ้นมาจากลำน้ำโขงทะยานสู่ฟากฟ้า ค้างอยู่หลายวินาที ก่อนจะหายลับไปกับตา สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้คนที่ไปรอชมอยู่ริมฝั่งโขง สำหรับปีนี้จัดขึ้นวันที่ 21 – 27 ตุลาคม 2561 บริเวณลานวัฒนกรรม หน้าวัดลำดวน จังหวัดหนองคาย


9. งานประเพณีออกพรรษา และผาสาดลอยเคราะห์
อำเภอเชียงคาน จ.เลย

ขอบคุณภาพจาก : i-san.tourismthailand

ร่วมสืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ งานประเพณีออกพรรษาและผาสาดลอยเคราะห์ เมืองเชียงคาน ระหว่างวันที่ 17 – 25 ตุลาคม 2561 ณ บริเวณถนนริมโขง หน้าสนามที่ว่าการอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พบกับขบวนแห่ประสาทผึ้ง การแข่งเรือยาว-เรือกาบ การประกวดไหลเรือไฟ พิธีตักบาตรเทโว การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านและเพลิดเพลินกับมหรสพต่าง ๆ

สำหรับงานประเพณีออกพรรษาที่เชียงคาน มีจุดเด่นที่มีผาสาดลอยเคราะห์ ซึ่งทำจากหยวกกล้วย ลักษณะคล้ายกระทง ตกแต่งด้วยดอกผึ้ง เทียน ดอกไม้ ของคาว และของหวาน ถือเป็นการเสริมดวงชะตา และระลึกถึงพระคุณแม่น้ำโขง


10. งานประเพณีลากพระ และมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จ.ตรัง

ขอบคุณรูปภาพจาก : tatnewsthai

ร่วมทำบุญเรือพระ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การแสดงดนตรีของนักเรียนนักศึกษา การแสดงมหรสพ การจำหน่ายสินค้า OTOP  ระหว่างวันที่ 25 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2561 ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้งถนนตรัง-สิเกา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง


11. ประเพณีตักบาตรเทโว นมัสการองค์พระใหญ่ ไหว้รอยพระพุทธบาท วัดพระบาทภูพานคำ จ.ขอนแก่น

ขอเชิญร่วม ประเพณีตักบาตรเทโว นมัสการองค์พระใหญ่ ไหว้รอยพระพุทธบาท พร้อมกับทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินลงมาจากบันไดสวรรค์ 1,049 ขั้น ในวันที่ 25 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 06.09 น.  ณ วัดพระบาทภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ขอบคุณรูปภาพจาก : i-san.tourismthailand

นอกจากจะอิ่มบุญแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงที่น่าไป เช่น เขื่อนอุบลรัตน์,  หาดบางแสน 2,  อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นต้น


12. ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่

เทศบาลตำบลช่อแฮ ร่วมกับวัดพระธาตุช่อแฮ เชิญชวนทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ประจำปี 2561 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงานของชาวพุทธ ในวันพฤหัสบดี ที่ 25 ตุลาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

ขอบคุณภาพจาก : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

โดยขบวนตักบาตรฯ จะเริ่มเคลื่อนจากบริเวณเชิงบันไดสิงห์ (หน้าสวนรุกขชาติฯ) วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ไปตามถนนช่อแฮ จนถึงหน้าวัดสุวรรณาราม ในขบวนประกอบด้วยขบวนพระภิกษุสามเณร ขบวนนางฟ้า เทวดา ขบวนพระพุทธรูป ขบวนเปรตและอสุรกายของนักเรียน


13. ประเพณีลาดพระและตักบาตรเทโว จ.สงขลา

ชวนเที่ยวงาน ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ระหว่างวันที่ 23 – 25 ตุลาคม 2561 ณ สระบัว หาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

โดยจัดให้มีกิจกรรมพิธีสมโภชผ้า แห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน พิธีตักบาตรเทโว การประกวดเรือพระ (ประเภทประเพณีนิยม และประเภทอนุรักษ์ท้องถิ่น) และการประกวดขบวนแห่เรือพระ ชิงถ้วยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ


14. ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม

ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นประเพณีของชาวอีสาน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เฮือไฟ” บางแห่งก็เรียกว่า “ล่องเรือไฟ” “ลอยเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเรือไฟ” ซึ่งเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ  โดยจัดขึ้นในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 – 25 ตุลาคม 2561 ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร และศาลากลาง จังหวัดนครพนม เทศบาลเมืองนครพนม

ชมขบวนเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการเหนือลำน้ำโขง ร่วมงานพาแลงและลอยเรือไฟโบราณเพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พญานาคและแม่น้ำโขง ในคืนวันออกพรรษา 24 ตุลาคม เดินเที่ยวงานกาชาด ที่มีร้านค้า และสินค้าโอทอปมาจำหน่ายมากมาย


15. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ สักการะพระประชาชนบาล จ.กาฬสินธุ์

ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ สักการะพระประชาชนบาล ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2561 ที่บริเวณลานธรรมเชิงเขาภูสิงห์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และบริเวณลานอนุสาวรีย์พระประชาชนบาล ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

ภายในงานมีการจำหน่ายสินค้า OTOP ของอำเภอสหัสขันธ์, กิจกรรมบำเพ็ญบุญ ตักบาตรวันเกิด ตักบาตร 108 , การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านกาฬสินธุ์, การประกวดขับร้องสรภัญญะประเภทเยาวชน และประชาชนทั่วไป, การปฏิบัติธรรม และการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ในวันที่ 27 ตุลาคม เวลา 07.00 น. โดยมีขบวนอัญเชิญพระพุทธรูป เทวดา นางฟ้า พระสงฆ์ จำนวน 300 รูป เคลื่อนลงมาจากหลังเขาภูสิงห์บันได 654 ขั้น