การได้ไปเที่ยวชมความงามของธรรมชาติและดอกไม้งามๆ หลากหลายสายพันธุ์ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ นั้นบอกเลยว่า ไปครั้งเดียวก็ไม่พอ ไปครั้งเดียวก็เที่ยวไม่หมด! และช่วงนี้ก็เริ่มเข้าหน้าหนาวแล้ว ดอกไม้งามๆ คงเบ่งบานรอเราไปชมความงามกันแล้ว แต่จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามมาดูกันเลย
เที่ยว “อุทยานหลวงราชพฤกษ์”
ชมดอกไม้บาน ต้อนรับลมหนาว
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ หรือชื่อเดิม สวนเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 468 ไร่ ตั้งอยู่ ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เคยใช้เป็นสถานที่ที่ใช้จัดงาน มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 และ มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ที่มีดอกไม้งามหลากหลายสายพันธุ์ ชูช่อ เบ่งบานนับแสนนับล้านดอก
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์กลางการเรียนรู้พืชสวนโลก และวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย
มีการจัดแสดงพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรและอื่น ๆ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษางานวิจัย และเป็นแหล่งพบปะกันในกลุ่มเกษตรกร ภายในพื้นที่มีการจัดภูมิสถาปัตย์อย่างสวยงาม
การตั้งชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์นั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีลายพระหัตถ์ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2552 ขอพระราชทานชื่อสวนซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์”
ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553 และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek”
ภายในของ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek)
มีสิ่งปลูกสร้าง และดอกไม้นานาพันธุ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 468 ไร่ เช่น
หอคำหลวง
หากใครไปเที่ยวที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ หนึ่งในที่ห้ามพลาดก็คือ หอคำหลวง อาคารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนาภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย” ตั้งอยู่บนเนินดิน พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร
ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยนายรุ่ง จันตาบุญ จำลองมาจากภาพหอคำหลวงของเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีต และออกแบบศิลปกรรมภายในอาคาร โดยนายปรีชา เถาทอง เน้นการถึงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สวนองค์กรเฉลิมพระเกียรติ
เป็นส่วนแสดงการจัดสวน เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยองค์กรระดับแนวหน้าของไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจัดสวน 19 องค์กร จำนวน 19 สวน เช่น สวนกรุงเทพมหานคร, สวนจังหวัดเชียงใหม่, สวนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สวนองค์การสวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนการท่าเรือแห่งประเทศไทย, สวนการประปานครหลวง, สวนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สวนมูลนิธิโครงการหลวง

(ภาพด้านบน) การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดแสดง “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน” แห่งเดียวในภาคเหนือ โดยมีการจัดสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถาวรเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน ระบบนิเวศที่ประกอบด้วยพืชและสัตว์นานาชนิดดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลนน้ำกร่อย ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้าชมอุทยานหลวงราชพฤกษ์
สวนนานาชาติ
เป็นพื้นที่จัดแสดงของมิตรประเทศที่มาร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์สมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมจัดสวนทั้งหมด 22 ประเทศ จาก 3 ทวีป ทั้งหมด 23 สวน เช่น
สวนประเทศลาว

จำลองวัดเชียงทองจากหลวงพระบาง ซึ่งเป็น 1 ในมรดกโลก ที่มีความงามตามแบบศิลปะของหลวงพระบางแท้ ได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและทรงคุณค่าดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว ภายในสวนลาวยังประดับตกแต่งด้วยพืชพันธุ์หายากจากประเทศลาว อาทิ ไม้โลงเลง ซึ่งเป็นไม้ตระกูลสนหายาก ต้นหิ่งหอม และจำปาลาว
สวนประเทศโมร็อคโค
โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมของฟินีเชียน
โรมัน อาหรับ อันคาลูเซียน และแอฟริกา ไว้ด้วยกัน
สวนประเทศญี่ปุ่น
สวนอินเดีย
สวนไทย

จัดแสดงพืชสวนเขตร้อนชื้น ที่มีหลากหลายของพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูป ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,900 ชนิด นอกจากนี้ยังจัดแสดงพันธุ์พืชต่างๆ ภายในกลุ่มอาคารเรือนกระจก ได้แก่ อาคารพืชทะเลทราย, อาคารไบโอเทคโนโลยี, อาคารพืชเขตร้อน, อาคารพืชเขตหนาว และอาคารพืชไร้ดิน รวมทั้งยังมีหมู่บ้านสี่ภาค , นิทรรศการไม้ประจำ จังหวัด, เรือนร่มไม้, อาคารกล้วยไม้, สวนสมุนไพร, สวนบอนไซ เป็นต้น



อาคารโลกแมลง (Bug World)
ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การค้นหาความมหัศจรรย์และพฤติกรรมแปลกๆ ของแมลงต่าง ๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับแมลง และยังจะได้ชมผีเสื้อมีชีวิต หนอนผีเสื้อ และดักแด้ของผีเสื้อ ซึ่งมีรูปร่างน่ารักและแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดูผีเสื้อ คือ เวลา 08.00 – 11.00 น.
สวนเกษตรทฤษฏีใหม่
นอกจากจะได้เรียนรู้วิถีแบบพอเพียงที่สวนเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว ด้านในยังมีมุมถ่ายภาพสวยๆ บรรยากาศร่มรื่นเป็นธรรมชาติอีกด้วย
ถนนดอกคูน (ดอกราชพฤกษ์)
เหลืองอร่ามงามตา
“ดอกราชพฤกษ์” หรือ “ดอกคูน” ดอกไม้ประจำชาติไทย จะออกดอกเหลืองอร่ามงามตาไปพร้อมๆ กันในทุกๆ ที่ ซึ่งในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ก็มีต้นราชพฤกษ์ปลูกอยู่จำนวนไม่น้อย และจุดที่เด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นตรงบริเวณเนินราชพฤกษ์ และแถวบึงราชพฤกษ์ จะออกดอกบานในช่วงฤดูร้อน*

“ต้นราชพฤกษ์” เป็นชื่อต้นไม้ประจำชาติ ถือเป็นไม้มงคลที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากมีดอกเป็นพวงระย้า สีเหลืองสด อันเป็นสีแห่งพระพุทธศาสนา และนอกจากนี้ สีเหลืองยังเป็นสีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้มีความเชื่อว่าใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำ พุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคล
อาคารเรือนไม้ดอก
ไฮเดรนเยีย ดอกไม้เปลี่ยนสีหลากสีสันสวยงามออกดอกบานสะพรั่งต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วง *Green Season ณ อาคารเรือนไม้ดอก ความสวยงามของดอกไม้สายพันธุ์นี้สามารถเปลี่ยนสีดอกได้ตามสภาพดินที่ปลูก โดยดินที่มีสภาพเป็นกรดจะเปลี่ยนเป็นดอกสีฟ้า-สีม่วง ถ้าดินที่มีสภาพเป็นด่างจะเป็นดอกสีชมพู
และหากจะพูดถึงความหมายของไฮเดรนเยีย จะมีทั้งเชิงลบและเชิงบวก บ้างก็ว่าหมายถึง “ดอกไม้แห่งหัวใจด้านชา” เพราะสามารถทนกับอากาศหนาวได้เป็นอย่างดี แต่อีกความหมายหนึ่งคือ “คำขอบคุณ” หรือ “Thank you for understanding” ขอบคุณที่เข้าใจและคอยอยู่เคียงข้างกันตลอดมา
ดอกไม้ นานาพันธุ์
รัตนพฤกษ์

รัตนพฤกษ์ เป็นลูกผสมระหว่างราชพฤกษ์ (ดอกสีเหลือง) กับชัยพฤกษ์ (ดอกสีชมพู) จึงออกมาเป็นดอกสีชมพูเหมือนชัยพฤกษ์ แต่ลักษณะของใบเหมือนกับต้นดอกคูน ไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดที่เกาะฮาวาย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ดูแลรักษาง่าย สามารถมาชมความงามของรัตนพฤกษ์ได้ ณ สวนสวัสดี
หางนกยูงฝรั่ง

ดอกอินทนิลน้ำ


ดอกฟูเซีย (Fuschia)

สีสันสวยงาม รูปร่างของดอกโน้มลงสู่พื้นดินคล้ายตุ้มหู และเหมือนโคมไฟของชาวญี่ปุ่น บ้างก็เรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ตุ้มหูนางฟ้า โคมญี่ปุ่น ตุ๊กตาเต้นระบำ” ณ เรือนไม้ดอกควบคุมอุณหภูมิ
ต้นไคร้ย้อย

ไลซิแอนทัส (Lisianthus)

เป็นดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกกุหลาบ มีทั้งสีขาว สีเขียวอ่อน สีชมพูอ่อน สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม และสีแดงมะเหมี่ยว เป็นไม้ดอกที่มีความสวยสดงดงาม ดอกไม้มีอายุยาวนานมาก
ดอกดาวกระจายสีเหลือง

ดอกทิวลิป

“Segway Unseen“
เพลิดเพลินกับการชมสวนในรูปแบบใหม่ไปกับ “Segway Unseen“ ที่จะพาคุณลัดเลาะไปยังมุมต่างๆ ของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ รวมทั้งมุมที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน สนุก ขับง่าย คล่องตัว ปลอดภัย มีการสอนก่อนขับจริง พร้อมไกด์นำทางตลอดทริป (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อาคารจำหน่ายบัตรอุทยานหลวงราชพฤกษ์ หรือ โทร. 08 1180 4222 และ www.facebook.com/segwayunseen)
นอกจากนี้ก็ยังมี หอคอยชมวิว, ร้านจำหน่ายของที่ระลึก, สวนความหลากหลายทางชีวภาพ, หอประชุมนิทรรศการ ให้ได้เดินชมกันอีก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้กันกับ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ด้วย เช่น เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี , วัดพระธาตุดอยคำ ซึ่งเราสามารถเดินทางไปเที่ยวต่อไปโดยใช้ระยะเวลาเดินทางไม่นาน
การเดินทาง : เดินทางโดยรถยนต์ จากเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 1004 ) เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนคันคลองชลประทาน (ทางหลวง หมายเลข 121) ไปอำเภอหางดง ประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนราชพฤกษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถยนต์จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนเชียงใหม่ – หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนราชพฤกษ์ประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์
ภายในมีรถรางบริการ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 40 คนขึ้นไป สามารถทำหนังสือเรียนผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตู้ปณ. 170 ปทฝ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับส่วนลดค่าเข้าชม
เวลาปิด-เปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม : คนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 25 บาท / ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.ratchaphruekgarden.com , Facebook : อุทยานหลวงราชพฤกษ์
เบอร์โทรศัพท์ : 0 5311 4195-6 โทรสาร 0 5311 4196
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.ratchaphruekgarden.com, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, เฟสบุ๊ค อุทยานหลวงราชพฤกษ์
เรียบเรียง Travel.mthai.com