ทิปท่องเที่ยว รถบัส รถบัสต่างประเทศ รถประจำทาง รถเมล์ เที่ยวต่างประเทศ

มาดูหน้าตารถเมล์ของแต่ละประเทศกัน

Home / ทิปท่องเที่ยว / มาดูหน้าตารถเมล์ของแต่ละประเทศกัน

การเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดนนิยมใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินกันเป็นส่วนมากในหมู่นักท่องเที่ยว เพราะเดินทางง่าย สะดวก แต่การใช้บริการรถบัส หรือรถเมล์ กลับมีจำนวนน้อย ด้วยความไม่ใช่คนพื้นที่ ดูสายรถเมล์ไม่เป็น กลัวจะหลงทาง แต่จริงๆ รถเมล์นี่แหละสะดวกกว่าเยอะ ชนิดที่ว่าจอดหน้าสถานที่เที่ยว แบบก้าวไปไม่ถึงสิบก้าวก็ถึงแล้ว และป้ายรถเมล์ทุกป้ายก็มีข้อมูลของสายรถเมล์ทุกสายที่ผ่านบอกอย่างละเอียด บางแห่งมีเวลาระบุด้วย ไม่ต้องยืนรอให้เมื่อย แถมตัวรถก็ทั้งดูดี สะอาด บางประเทศภายนอกรถอาจดูคล้ายๆ บ้านเรา แต่ภายในดูเป็นระบบระเบียบน่านั่งมากๆ ที่สำคัญราคาถูกกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินอีก เราไปดูหน้าตารถเมล์ของแต่ละประเทศกันดีกว่าว่าจะต่างกับบ้านเรายังไง

มาดูหน้าตารถเมล์ของแต่ละประเทศกัน

เขตปกครองพิเศษฮ่องกง

ขอบคุณรูปภาพจาก: wikipedia

รถบัสในฮ่องกงมีอยู่สองประเภท แบบแรกเป็นรถบัสแอร์คันใหญ่ มีที่นั่งสองชั้นและชั้นเดียว รถบัสที่นิยมเป็นพิเศษคือรถบัสสองชั้น เพราะสามารถดูวิวสวยๆ รอบเมืองจากชั้นบนได้ โดยต้องหยอดเงินให้พอดีกับราคาค่าโดยสารเพราะไม่มีทอน (ตรงที่หยอดค่าโดยสารจะมีราคาขึ้นไว้) ดังนั้นคนส่วนมากจะนิยมใช้ Octopus Card หรือที่เรียกกันว่าตั๋วปลาหมึก ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินแล้วใช้แปะตื๊ดๆ เอา ส่วนรถอีกแบบหนึ่งเรียกว่า มินิบัส เป็นรถร้อนมี 16 ที่นั่ง หากมีผู้โดยสารเต็มคันรถ มินิบัสจะไม่จอดรับผู้โดยสารเพิ่มจนกว่าจะมีผู้โดยสารลงจากรถและมีที่นั่งว่าง ไม่แนะนำสำหรับคนที่พูดภาษาจีนกวางตุ้งไม่ได้ เพราะอาจงงและหลงทาง

ประเทศเกาหลีใต้

ขอบคุณรูปภาพจาก: wikipedia

รถบัสที่โซลจะแบ่งเป็นสีตามราคาของรถ เรียงจากถูกไปแพงได้แก่ สีเหลือง เขียว ฟ้า แดง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนนิยมใช้บริการกัน เพราะถึงที่หมายได้ใกล้กว่าและประหยัดกว่าแบบอื่นๆ โดยแต่ละสีจะวิ่งไม่เหมือนกันและมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน วิธีจ่ายเงินมี 2 วิธี คือแบบเงินสด และ บัตร T-money โดยแตะที่เครื่องอ่านบัตรทั้งตอนขึ้นรถและลงรถ ถ้าใครใช้บัตร T-Money จะได้รับส่วนลดอีก 100 วอน ความไฮเทคอย่างหนึ่งคือสามารถเติมเงินใส่มือถือ แล้วเอามือถือตื๊ดๆ แทนบัตรได้

ประเทศญี่ปุ่น

ขอบคุณรูปภาพจาก: JNTO

การขึ้นรถบัสในญี่ปุ่นควรตรวจสอบหมายเลขสายและตารางเวลาเดินรถก่อนขึ้นที่ป้ายรถประจำทาง มีอยู่สองแบบคือขึ้นรถทางประตูหน้า และขึ้นรถประตูหลัง โดยถ้าขึ้นประตูหน้าจะต้องจ่ายค่ารถทันที ในอัตราเดียวกันตลอดสาย แต่ถ้าใครมีบัตร IC Card ก็ทาบบัตรชำระเงินได้เลย ส่วนถ้าขึ้นประตูหลัง ให้ดึงตั๋วจากเครื่องที่อยู่ใกล้กับประตูทางขึ้น ในตั๋วจะมีตัวเลขกำกับอยู่ และจ่ายค่าโดยสารตอนลง ซึ่งค่าโดยสารจะต่างกันไปตามระยะทาง สามารถตรวจสอบค่าโดยสารจากตัวเลขที่ตรงกับเลขในตั๋วของเราได้ที่ป้ายไฟบนรถ

สหราชอาณาจักร

ขอบคุณรูปภาพจาก: gizmodo

เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับรถบัสสองชั้นที่มีสีแดงทั่วคัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศอังกฤษมายาวนาน  รถบัสที่นี่ค่อนข้างตรงเวลา ถ้าตามตารางบอกว่าจะมาเวลานี้ ถึงจุดหมายเวลานั้น ก็จะเป็นไปตามนั้นจริงๆ โดยทุกป้ายรถประจำทางจะมีเวลาบอกว่าคันต่อไปจะมาเมื่อไหร่ และมีแผนที่บอกทางละเอียดยิบไม่ต้องกลัวหลง ประตูรถมีสองฝั่ง แยกเป็นทางขึ้นกับทางลง จ่ายเงินกับคนขับโดยตรงตอนขึ้นรถ หรือใช้บัตรหอยนางรม ที่เรียกว่า Oyster Card แตะที่เครื่องทาบบัตรทั้งตอนขึ้นและลงรถ ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ยืนถือกระบอกส่งเสียงแก๊บๆ เหมือนบ้านเรา บัตร Oyster Card ใช้ได้ทั้งรถบัส รถไฟใต้ดิน รถแทรม และเรือ

ประเทศออสเตรเลีย

ขอบคุณรูปภาพจาก: sydneyobserver

เมืองเที่ยวและเรียนต่อยอดฮิตสำหรับคนไทย คงหนีไม่พ้นเมลเบิร์นและซิดนีย์ สำหรับรถบัสที่วิ่งใน Sydney นั้น เป็นรถปรับอากาศชั้นเดียว ครอบคลุมทุกจุดสำคัญภายในเมืองและนอกเมือง การขึ้นรถจะขึ้นด้านหน้าเพราะไม่มีพนักงานเก็บค่าโดยสาร และจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกกันว่า Opal Card หาซื้อได้ตามร้านสะดวกทั่วซื้อทั่วเมือง ที่นี่เรื่องมารยาทการเข้าคิวสำคัญมาก ห้ามขึ้นรถประตูหลังเด็ดขาด เพราะนั่นคือการแซงคิว ส่วนที่ Melbourne รถบัสจะเชื่อมต่อกับปลายทางรถไฟ หรือวิ่งไปสถานที่สำคัญๆ อย่างเช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้าชานเมือง และชานเมืองรอบนอกที่การคมนาคมอื่นยังเข้าไม่ถึง การจ่ายค่าโดยสารใช้วิธีแตะบัตรเช่นเดียวกัน แต่เป็นบัตรที่เรียกว่า Myki Card  มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ Full Fare, Consession, Children, และ Seniors สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเรา ๆ  ใช้ได้แค่แบบ Full Fare และ Children อายุ 5-18 ปีเท่านั้น เพราะบัตรประเภทอื่นสงวนไว้ให้เฉพาะประชากรชาวออสเตรเลีย

ประเทศสิงคโปร์

ขอบคุณรูปภาพจาก: wikipedia

การเดินทางในสิงค์โปร์ไปยังสถานที่ฮิตๆ อย่าง Marina bay, Garden by the bay หรือ Chinatown นิยมไปกันด้วย MRT เพราะเห็นว่าสะดวกสบายที่สุดแล้ว แต่จริงๆ บางสถานที่ก็ไม่ได้ใกล้ใต้ดินขนาดนั้น ต้องเดินต่ออีกหลายร้อยเมตรเลยทีเดียว ฉะนั้นการใช้บริการรถประจำทางจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เดินใกล้กว่าและเข้าถึงที่เที่ยวไกลๆ แถบนอกเมืองด้วย รถบัสในสิงคโปร์มีอยู่ 2 แบบ คือแบบชั้นเดียวและ 2 ชั้น ควรทำบัตร EZ-link ไว้ เพราะใช้ได้ทั้ง MRT และรถบัส อีกทั้งไม่ต้องคำนวณเงินที่เราไม่คุ้นชินให้ยุ่งยากด้วย การแตะบัตรคือแตะกับเครื่องอ่านบัตรตรงประตูด้านหน้าฝั่งคนขับ และถ้าเราจะลงต้องลงประตูกลาง ก็แตะบัตรที่เครื่องอีกที เครื่องจะแจ้งว่าเราจ่ายไปเท่าไหร่และเหลือเงินในบัตรเท่าไหร่

ในต่างประเทศที่สามารถใช้บัตรแตะตื๊ดๆ ที่เครื่องทาบบัตรเวลาขึ้นรถเมล์ ส่วนใหญ่บัตรนั้นจะเป็นบัตรสารพัดประโยชน์ ใช้ได้กับเกือบทุกยานพาหนะ ทั้งรถใต้ดิน รถประจำทาง แทรม เรือ รถไฟ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังทดลองใช้ระบบนั้นอยู่เช่นกัน (ขาดแต่แทรมที่ยังไม่มีในบ้านเรา) เรียกว่า E-Ticket หรือบัตรแมงมุม ขณะนี้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรแล้วบนรถเมล์ร้อนและรถเมล์แอร์จำนวน 200 คัน นั่นก็หมายความว่าอีกไม่นาน เอกลักษณ์รถเมล์ไทยที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครในโลก ที่มีกระเป๋ารถเมล์ยืนเก็บค่าโดยสาร กับประโยคเด็ดว่า “ชิดในหน่อยพี่” ไม่แน่ว่าอาจถูกลบเลือนหายไปและเหลือเพียงภาพถ่ายให้คนรุ่นหลังจดจำ