เที่ยวหลวงพระบาง เดินทางชิลๆ ฉบับ Travel MThai

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / เที่ยวหลวงพระบาง เดินทางชิลๆ ฉบับ Travel MThai

สวัสดีสมาชิก Travel MThai เมื่อไม่นานมานี้ ทีมงานได้มีโอกาสลองไป เที่ยวเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ในฉบับตะลุยด้วยตนเอง ไม่พึ่งทัวร์! มาครับ แน่นอนว่า “หลวงพระบาง” เริ่มคุ้นหูคนไทยมากที่สุดจากภาพยนตร์เรื่อง “สบายดีหลวงพระบาง” (แม้ในเรื่องจากโยงไปยังเมืองปากเซทางตอนใต้ของลาวก็ตามที) ที่ถ่ายทอดสภาพบ้านเมืองเก่าที่อยู่ใกล้แม่น้ำ และมีบรรยากาศที่สงบที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา จึงทำให้คนดูอยากไปเที่ยวไปพักผ่อนกันในวันหยุด

เที่ยวหลวงพระบาง เดินทางชิลๆ ฉบับ Travel MThai

DSC_2142

แม้ในปัจจุบัน จะมีวิธีเดินทางไปยังหลวงพระบางที่สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเครื่องบิน ซึ่งมีสายการบินหนึ่งเปิดเส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง กันเลย ใช้เวลาเดินทางแค่ 2 ชั่วโมงกว่า ก็ถึงหลวงพระบางอย่างสบายกาย (แต่อาจจะไม่สบายกระเป๋ามากนัก) แต่ก็มีอีกวิธีการเดินทางแบบดั้งเดิม และถือเป็นมนต์เสน่ห์มากที่สุด คงหนีไม่พ้น การเดินทางรถยนต์

การเดินทางรถยนต์ จากชายแดนไทยไปยังเมืองพระบาง นั้นมีหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเชียงของ ห้วยโก๋น ท่าลี่ หนองคาย ฯลฯ แต่วันนี้ทีมงาน Travel MThai ขอใช้เส้นทางข้ามไปยังสปป.ลาว ทางจังหวัดหนองคาย

 

เตรียมตัวก่อนเดินทาง

การเดินทางไปยังหลวงพระบาง ของทีมงานในครั้งนี้ กำหนดวันเดินทางในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นทริปที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และอยู่ในช่วงวันหยุดตรุษจีน ความจริงได้มีการวางแผนไว้ว่า จะใช้เส้นทางระหว่าง บขส.เลย ไปยัง หลวงพระบาง เพราะมีรถทัวร์ข้ามประเทศเปิดให้บริการอยู่ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมาถึง บขส.เลย ก่อน 8.00 น.

DSC_2088

แต่แล้ว.. โชคชะตาต้องการให้ทีมงานไปสัมผัสเมืองลาวไว้นานที่สุด ในเมื่อได้ติดต่อไปทางรถทัวร์เจ้าต่างๆ ที่หมอชิต ต่างได้รับคำตอบว่า ตั๋วไปยัง จ.เลย นั้นหมดเกลี้ยง! ทางทีมงานจึงต้องตัดสินใจยอมเสียเวลาไปยัง จ.หนองคาย แทน เพื่อข้ามด่านไปยัง สปป.ลาว และคิดซะว่าเป็นโอกาสได้ไปเที่ยวเวียงจันทน์ไปในตัว

เมื่่อได้ตั๋วแล้ว ต้องมาเตรียมเอกสารกัน การเดินทางไปยัง สปป.ลาว ไม่ต้องใช้วีซ่า แค่มีพาสปอร์ต สามารถอยู่ในลาวได้ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ตีตราเข้าประเทศ แต่ถ้าไม่มีพาสปอร์ตไม่ต้องกังวลว่าจะไปเที่ยวลาวไม่ได้ สามารถทำบัตร boarding pass โดยใช้บัตรประชาชน และเสียค่าเอกสารจากทางไทย และค่าธรรมเนียมของทางฝั่งลาว แต่บัตรเข้าแดนประเภทนี้อยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน 2 คืน และที่สำคัญไม่สามารถออกนอกจุดที่นักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาได้ ไม่งั้นจะโดนปรับ อย่างเช่น ทำที่ด่านหนองคาย จะไปเที่ยวที่เวียงจันทน์ จะไม่สามารถไปเที่ยวที่อื่นๆ นอกเวียงจันทน์ได้เลย เพราะฉะนั้นมีพาสปอร์ตติดตัวไว้ดีที่สุด!

การเดินทางเริ่มต้นขึ้น ในตอนเย็นของวันศุกร์ที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากเคลียร์งานเสร็จเรียบร้อย ก็เก็บกระเป๋าวิ่งออกจากออฟฟิศไปยังสถานีขนส่งหมอชิต เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดยาวทำให้มีผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งการจราจรในสถานีขนส่งหมอชิตค่อนข้างติดขัด ทำให้กำหนดการเดินทางไปยังจังหวัดหนองคายจาก 20.30น. เลื่อนไปเป็น 21.30น. ซึ่งปัญหาตรงจุดนี้ทางหมอชิตยังไม่สามารถแก้ไขได้เสียทีจนถึงปัจจุบันนี้

DSC_2082

ตลอดการเดินทางจากกรุงเทพ – หนองคาย กว่า 600 กิโลเมตร พวกเราได้อาศัยหลับนอนบนรถบัสวีไอพีประเภท 21 ที่นั่ง เหตุที่พวกเราเลือกรถที่มีจำนวนที่นั่งน้อย เพราะการเดินทางในระยะทางไกล ถ้าได้นั่งรถประเภทสองชั้น ดูจะน่ากลัวไป อย่างที่หลายคนทราบว่า โชเฟอร์บ้านเราขับรถกันเร็วจริงๆ

DSC_2092

ทีมงานได้มาถึง สถานีขนส่ง จังหวัดหนองคาย ในเวลา 05.30น. ซึ่งจะต้องต่อรถเดินทางไปยัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อยื่นเอกสารเดินทางออกนอกประเทศ โดยสามารถนั่งรถจัมโบ้ ให้เค้าไปส่งที่ด่าน แต่วิธีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกหลายต่อกว่าจะไปถึงด่านลาว แต่ได้ในเรื่องประหยัดเวลา

ทีมงานมีวิธีที่สะดวกไม่ต้องต่อรถหลายต่อให้ยุ่งยาก ถ้าไม่เร่งรีบอะไรมากนัก ใช้บริการบัสเส้นทางหนองคาย – เวียงจันทน์ น่าจะเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด เสียค่าเดินทาง 55 บาท เพียงต่อเดียวเท่านั้น ก็ส่งพวกเราไปถึงสถานีขนส่งเวียงจันทน์

DSC_2096

เมื่อถึงสถานีขนส่งเวียงจันทน์ พอพวกเราลงจากรถปุ๊บ ก็มีคนลาวมารุมขายแพคเกจทัวร์กัน ตรงจุดนี้พวกเราไม่สนใจ พยายามเดินหนีให้เร็วดีกว่า แล้วมองหารถบัสสีเขียว ที่จะส่งพวกเราไปต่อยังสถานีขนส่งสายเหนือของลาว

เมื่อถึงสถานีขนส่งสายเหนือของลาว ก็พบว่าบรรยากาศดูเงียบเหงา ไม่ค่อยมีคนใช้บริการเท่าไรนัก พวกเราเดินไปยังเคาน์เตอร์ตีตั๋วไปยังเมืองหลวงพระบาง คนละ 130,000 กีบ ราว 530 บาท ระหว่างรอรถออกพวกเรามาหาของกินรองท้อง เลยไปเจอร้านเฝอข้างๆ นี่ล่ะ เจ้าเฝอก็คล้ายก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แต่ต่างตรงที่เส้นดูจะนิ่ม ละลายในปากได้ง่ายกว่า แถมน้ำซุปก็เคี่ยวจนหวานมัน เสิร์ฟมาให้ทานในชามใหญ่ เสียค่าอิ่มท้องเล็กน้อย 15,000 กีบ (61 บาท)

*** อัตราแลกเปลี่ยน 1 กีบ = 0.0041 บาท (เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2557)

DSC_2094

พออิ่มรองท้องกันแล้ว รถบัสสู่หลวงพระบาง ก็ใกล้เวลาเคลื่อนตัวออกจากสถานีแห่งนี้ แม้ตัวสภาพรถภายนอกจะดูเก่า คิดว่าไม่รอดแน่ถ้าวิ่งระยะทางไกลๆ แต่ผิดคาด กำลังรถแรงวิ่งข้ามภูเขาได้สบายๆ แถมฝีมือคนขับก็สุดยอดด้วยนะ

DSC_2099

ในระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร ก่อนจะถึงเมืองหลวงพระบาง ถนนหนทางเต็มไปด้วยทางชันขึ้นเขา ทำให้พวกเราได้เห็นวิวทิวทัศน์สวยงามของเทือกเขา พร้อมๆ กับเสียงคลื่นไส้อาเจียนของผู้โดยสารที่เมารถอยู่รอบข้าง พลอยทำให้ทีมงานอยากคลื่นไส้ตามไปด้วย!

1546344_789733671040802_105

ระหว่างทางพวกเราได้ผ่าน วังเวียง ดินแดนที่ได้ชื่อว่า กุ้ยหลินแห่งเมืองลาว ดินแดนธรรมชาติที่สวยงาม น่าแวะไปเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายมันเป็นทางผ่านของพวกเราในครั้งนี้ ถ้ามีโอกาสต้องลองแวะเที่ยวดูสักครั้ง

DSC_2102

หลังจากฝ่าฟันเส้นทางในหุบเขากว่า 11 ชั่วโมง เราก็มาถึงเมืองหลวงพระบางในช่วงค่ำ ต้องขอเตือนเพื่อนๆ สมาชิกไว้ก่อนว่า ถ้าไม่ได้จองโรงแรมมาตั้งแต่เนิน หวังมาเดินหาโรงแรมเอาดาบหน้าในช่วงเทศกาลหยุดยาว เหมือนทีมงานล่ะก็ บอกได้เลยว่า มีสิทธิ์ได้กางเต็นท์นอนอยู่ข้างทางเป็นแน่ แต่ในคืนนั้นไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่า!? ทีมงานได้เจอโชเฟอร์สกายแลปแนะนำพาไปโรงแรมที่ยังว่างอยู่ แต่อยู่ชานเมือง ต้องข้ามแม่น้ำคานไป พร้อมกับจ่ายค่ารถ 20,000 กีบ (80 บาท)

ทีมงานได้อาศัยหลับนอนที่โรงแรมชานเมืองในราคา 150,000 กีบ (615 บาท) ถือว่าราคาไม่แพงมาก แต่สภาพในห้องก็ไม่ได้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเช่นกัน มีเพียง พัดลม และเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ก็โอเคสำหรับอยู่ชั่วคราว เป็นเพราะทีมงานมาผิดช่วงเวลาล่ะมั้ง!?

DSC_2103

ตื่นเช้ามาทีมงาน ได้จ้างรถสกายแลป พาไปส่งในตัวเมือง เค้าเรียกราคา 15,000 กีบ (62 บาท) ไหนถูกกว่าขามาเมื่อคืนนี้ สงสัยจะเป็นนอกเวลาวิ่งเค้ามั้ง นั้นไม่เป็นไร! ว่าแล้วเข้าไปเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบางกันดีกว่า

DSC_2106

สภาพบ้านเรือนในหลวงพระบาง มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์สไตล์ฝรั่งโคโลเนียล ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม แต่วันที่ทีมงานไปอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เนื่องจากมีทัวร์จากจีนแผ่นดินใหญ่มาลงที่นี่เยอะเหมือนกัน (อย่างที่เราทราบกันมาถึงสรรพคุณนักท่องเที่ยวชาวจีน) ชาวบ้านแถบนี้บอกว่า จะมาเที่ยวหลวงพระบางในช่วงที่ดีที่สุด คือ ช่วงปลายฝน ต้นหนาว อากาศกำลังดี และนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มาก

DSC_2108

อย่างที่หลายๆ คน ทราบมาว่า แผ่นดินลาวเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเจ้าฝรั่งหัวทองเวลาไปยึดได้ที่ไหน มักจะเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ แม้ในหลวงพระบางจะมีโครงสร้างบ้านเรือนเป็นแบบฝรั่ง รวมไปถึงอาหารการกินก็ดูจะได้รับอิทธิพลมาด้วยเช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ “ข้าวจี่

DSC_2162

ข้าวจี่ ฉบับหลวงพระบาง แตกต่างจากข้าวจี่แถวบ้านเรา เพราะมันคือขนมปังฝรั่งเศสแข็งๆ ชิ้นใหญ่ ฝ่ากลางแล้วยัดไส้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แฮม ซีส เนื้อไก่ เนื้ออาโวคาโด และผักต่างๆ รสชาติใช้ได้ แม้จะต้องกินน้ำตาม เพราะขนมปังแข็งและฝืดคอจริง สนนราคามื้อเช้าในหลวงพระบาง ชิ้นละ 25,000 บาท (103 บาท) แพงไม่ใช่เล่นๆ เลยนะเนี่ย!

DSC_2163

เมืองหลวงพระบาง ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ด้วยเหตุผล คือ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรือนอันเป็นเอกลักษณ์โคโลเนียลสไตล์ โดยได้รับขึ้นทะเบียนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วยนะ

DSC_2109

ชื่อเสียงของ หลวงพระบาง เป็นที่เลื่องลือในด้านเมืองแห่งความงามทางวัฒนธรรม ดังนั้น ทีมงานเลยต้องตระเวนมาพิสูจน์กันหน่อย เริ่มด้วยซอยตลาดเช้า แห่งเมืองหลวงพระบาง

DSC_2112

ที่ตลาดเช้าแห่งนี้ พวกเรายังคงเห็นวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางในยามเช้า ที่ต้องออกมาจับจ่ายของในตลาดกัน สินค้าที่ชาวบ้านเอามาขาย จะเป็นพืชผักท้องถิ่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เราคุ้นเคย และที่เราไม่เคยเห็น (และไม่คิดว่ากินได้ด้วย?)

298

หลังจากสัมผัสวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางฉบับย่อแล้ว คราวนี้ทีมงานต้องไปรู้จักความงามทางด้านสถาปัตยกรรมของที่นี่ เริ่มจากที่แรก พระราชวังหลวงพระบาง (พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง)

DSC_2125

พระราชวังหลวงพระบาง เป็นอาคารแบบฝรั่งแต่หลังคาเป็นแบบทรงลาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง หันหน้าเข้าสู่พระธาตุพูสี ตัวพระราชวังเป็นหมู่อาคารทรงเตี้ยๆ ชั้นเดียว ตั้งอยู่บนพื้นยกสูง มีความงดงามลงตัวของศิลปะยุคอาณานิคมผสมกับศิลปะแบบล้านช้าง สภาพโดยรอบมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ที่ไม่หนาจนเกินไป

DSC_2151

การจะเข้าชมภายในตัวอาคารพระราชวังจะต้องนุ่งชุดสุภาพ สำหรับสุภาพบุรุษห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น หรือใส่เสื้อกล้าม ส่วนสุภาพสตรีห้ามนุ่งกางเกงขาสั้น หรือเสื้อแขนกุดในการเข้าชม และห้ามถ่ายรูปภายในตัวอาคารพระราชวังโดยเด็ดขาด

DSC_2153

บริเวณตรงข้ามพระราชวังหลวงพระบาง มีเนินเขาพูสี เป็นยอดเขาที่มีความสูงราว 150 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง ถ้าเดินขึ้นไปถึงบนยอดภูสี จะได้เห็นเมืองหลวงพระบางได้โดยรอบ รวมไปถึงเห็นสายลำน้ำโขงอีกด้วย มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงข้ามพระราชวัง 328 ขั้น ตลอดทางขึ้นร่มรื่นไปด้วยต้นจำปา (ดอกไม้ประจำชาติลาว) หรือที่บ้านเราเรียกว่าต้นลั่นทม

DSC_2128

เดินมาได้เกือบครึ่งทาง เหลืออีก 190 ขั้น ต้องมาสะดุดกับ คุณป้าท่านนึงได้ค่อยห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นไปต่อ ถ้ายังไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมผ่านทาง ไหนๆ มาแล้วอย่าคิดว่าเสียเที่ยว จัดไปคนละ 20,000 กีบ (82 บาท) คุ้มค่าถ้าได้เห็นวิวรอบๆ เมืองหลวงพระบาง

DSC_2129

คำว่า พูสี มีความหมายว่า ภูเขาของพระฤาษี ส่วน พระธาตุพูสี (จอมสี) สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท ประมาณพุทธศักราช 2337 ตัวพระธาตุเป็นทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมทาสีทอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริดเจ็ดชั้น สูงประมาณ 21 เมตร ช่วงที่พระธาตุนี้งดงามที่สุด คือ ช่วงตอนบ่ายแก่ๆ แสงแดดจะกระทบองค์พระธาตุ แต่ขณะที่ทีมงานไปในครั้งนี้ บริเวณรอบๆ เมืองหลวงพระบางยังมีอากาศเย็น ท้องฟ้ามืดครึ้มทั้งวัน เลยไม่ได้องค์พระธาตุต้องแสงอาทิตย์

DSC_2140

รอบๆ พระธาตุจะมีทางเดินให้ชมวิวทิวทัศน์ของเมืองหลวงพระบาง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะมองเห็นสนามบิน ส่วนด้านทิศตะวันตกจะมองเห็นแม่น้ำโขง ช่วงที่คดเคี้ยวเข้าหากันในกลีบเขา และจากยอดภูสียังมองเห็นพระราชวังเดิมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง พระธาตุจอมสีมิได้เป็นสิ่งก่อสร้างแห่งเดียวบนยอดภูสี ยังมีสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาอีกหลายแห่งเช่น วัดถ้ำพูสี วัดป่าแค วัดศรีพุทธบาท วัดป่ารวก

DSC_2145

DSC_2143

DSC_2135

หลังลงจากยอดเขาพูสี ท้องร้องถามหาของกินแล้วล่ะซิ  ก็ตั้งใจเดินหาร้านกาแฟเพื่อชาร์จความสดชื่น จึงได้ทราบมาว่า ร้านโจมา เบเกอรี่ คาเฟ่ เป็นร้านกาแฟสไตล์ฝรั่งเศส ซึ่งได้รับความนิยมมากที่นี่ ทีมงานจึงต้องขอแวะเข้าไปทำความรู้จักกันหน่อย

DSC_2157

เมื่อสัมผัสแรกตรงประตูทางเข้าร้าน ต้องตะลึงกับฝูงชนที่ต่อแถวยาวเหยียด เพื่อสั่งเครื่องดื่มอาหารกัน (คล้ายกรณีชาวกรุงแห่ต่อแถวชื้อโดนัทเจ้านึง) เห็นแบบนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวจริงๆ ส่วนราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่มอยู่ที่ราว 15,000-17,000 กีบ (62-70 บาท) ราคาไม่แพงอย่างที่คิด ถ้าได้เห็นการตกแต่งในร้าน และได้เปลี่ยนบรรยากาศการดื่มกาแฟอีกที่หนึ่งของคุณ

DSC_2159

แต่ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศแบบชาวบ้าน แถมยังได้บรรยากาศริมแม่น้ำโขงล่ะก็ นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด กับร้านกาแฟยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวอีกที่หนึ่ง นั้นคือ ร้านกาแฟประชานิยม ร้านปลูกเป็นเพิงอยู่ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ ติดถนนเลียบแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นท่าเรือข้ามฟากไปยังเมืองเชียงแมน ร้านมีกาแฟลาว ขนมคู่ (ปาท่องโก๋) สำหรับคอกาแฟที่อยากลิ้มลองกาแฟลาวจากเมืองปากซอง ต้องมาที่นี่ เพราะเจ้าของเขาใช้กาแฟคั่วบดซึ่งสั่งตรงมาจากภาคใต้ของลาวเลยทีเดียว ส่วนในเรื่องราคาเครื่องดื่มนั้น มิตรภาพแบบชาวบ้านๆ อยู่ที่ 5,000-10,000 กีบ (20-40 บาท)

DSC_2161

DSC_2121

เวลาของทีมงานในเมืองหลวงพระบางใกล้หมดลงแล้ว เนื่องจากเป็นทริประยะสั้นๆ ต้องกลับเข้าสู่โลกความจริงที่กรุงเทพฯ กันแล้ว เลยคิดว่าจะกลับบ้านเส้นทางไหนดี จากการศึกษาข้อมูลมา สามารถกลับเมืองไทยได้หลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น

1.กลับทางห้วยทรายซึ่งใช้เวลาถึง 18 ชั่วโมง แต่ถนนหนทางสะดวกพอสมควร แต่วิ่งอ้อมไปไกล
2. กลับทางแก่นท้าว ไชยบุรี ถนนหนทางสะดวกกว่าใครเพื่อน เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว
3. กลับทางเดิมนครหลวงเวียงจันทน์ (ข้อนี้ตัดไปได้เลย ถนนหนทางดูจะเป็นอุปสรรคกับทีมงานอย่างยิ่ง)

DSC_2164

ทีมงานจึงตัดสินใจกลับทางเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี จึงเรียกพี่โชเฟอร์สกายแลป พาไปส่งที่สถานีขนส่งเวียงฯ จุดแรกที่มาถึงหลวงพระบางนั้นเอง พร้อมกับตีตั๋วไปแขวงไชยบุรี ในราคา 120,000 กีบ (490 บาท)

DSC_2165

ตอนแรกคิดว่าต้องได้นั่งรถบัสเหมือนขามาแน่ๆ ผิดคาด! กลายเป็นรถบัสเก่า นั่งเบียดกัน แถมใช้แอร์จากธรรมชาติอีกด้วย ช่างเป็นรถยนต์ช่วยโลกร้อนเสียจริง และต้องวิ่งผ่านถนนลูกรัง ฝุ่นฟุ้งกระจาย ไม่ต้องพูดถึงสุขภาพปอดของเราเลย ถ้าใครคิดจะกลับเส้นทางนี้ เตรียมหน้ากากอนามัยมาด้วยนะ!

DSC_2167

ในความลำบาก (แต่เส้นทางนี้ ถนนดีกว่าขามาอีกนะ) ย่อมมีความสวยงามข้างทางซ่อนอยู่ เราได้เห็นธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ วิถีชีวิตผู้คนริมทาง ไม่ว่าจะเป็น ชาวลาว ไทใหญ่ ไทลื้อ และม้ง บนถนนที่โล่งแบบนี้ น่าขับรถชมวิวเล่นเป็นอย่างยิ่ง

DSC_2169

DSC_2168

เมื่อรถบัสมาส่งเราที่สถานีขนส่งไชยบุรี เราต้องนั่งรถรับจ้างชาวบ้านเพื่อไปส่งยังเมืองแก่นท้าว ซึ่งใกล้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ในจังหวัดเลย พี่โชเฟอร์ชาวลาวดูจะเก็บราคาโหดไม่น้อย โดยอ้างว่าหนทางอีกไกลกว่า 200 กิโลเมตร กว่าจะถึงที่ เค้าต้องขอค่ารถบวกน้ำมันรวม คนละ 1,000 บาท (ตอนแรกตะลึงนึกว่า “พันกีบ” มันช่างจะถูกอะไรขนาดนั้น แต่พี่ลาวพูดหน่วยเป็นบาทออกมา ช่วยให้กระเป๋าตังค์ทีมงานเบาขึ้นมาจริงๆ) ต่อราคาพี่เค้าก็ไม่ได้อีกด้วย..

ไม่มีทางเลือกอีกแล้ว ต้องยอมแล้วล่ะ! แล้วพี่คนขับชวนทีมงานไปนั่งข้างหน้าด้วยกัน แต่ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร มีพี่โชเฟอร์กลายเป็นมัคคุเทศก์จำเป็น ค่อยบรรยายเสริมความรู้ตลอดเส้นกว่า 4 ชั่วโมง พวกเราถือว่าประสบการณ์ในครั้งนี้ คุ้มค่ากับจำนวนเงินที่เสียไป!

DSC_2173 DSC_2176

ในที่สุดเราก็มาถึง แก่นท้าว เมืองเล็กๆ สงบ ประชากรไม่เยอะ เมื่อเห็นบรรยากาศของเมืองแก่นท้าว ทำให้นึกถึงตามต่างจังหวัดในบ้านเรา เมื่อ 10 ปีก่อน ถึงแม้ไม่มีห้าง ไม่มีเซเว่น หรือร้านอินเตอร์เนต แต่อยู่แล้วสงบไม่วุ่นวาย นักท่องเที่ยวที่ชอบบรรยากาศแบบนี้ น่าจะลองมาเที่ยวยังแขวงไชยบุรีกันได้นะ

DSC_2183

จากเมืองแก่นท้าว ประมาณ 10 กิโลเมตร ทีมงานก็มาถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองลาว ซึ่งมีสะพานข้ามแม่น้ำเหืองเชื่อมไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทย โดยเข้าประเทศไทยบ้านเราทางอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย และทริปการเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง โดยฉบับ Travel MThai ก็สิ้นสุดลง แต่ทริปตะลุยเดี่ยว ไม่พึ่งทัวร์ในครั้งต่อไป จะเป็นที่ไหนนั้น ลองติดตามกัน สวัสดีครับ

DSC_2187


View Larger Map

บทความโดย Travel MThai

เที่ยวหลวงพระบาง เดินทางชิลๆ ฉบับ Travel MThai

ภาษาลาว น่ารู้