Leh Ladakh ทิเบต ทิเบตน้อย เที่ยวทิเบต เที่ยวอินเดีย เทือกเขาหิมาลัย เลห์-ลาดักห์

เลห์ – ลาดักห์ ทิเบตน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัย ตอน 2 (เที่ยวอินเดีย)

Home / ท่องเที่ยวรอบโลก, นักเที่ยวเชี่ยวทาง / เลห์ – ลาดักห์ ทิเบตน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัย ตอน 2 (เที่ยวอินเดีย)

ไปเที่ยว เลห์ – ลาดักห์ นอกจากความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่มองมุมไหนก็สวยองค์ประกอบภาพครบ หิมะ หุบเขา หิมาลัย แม่น้ำ ทะเลสาบ อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือวัดเก่าศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเลห์พุทธยังคงอยู่ร่วมประวัติศาสตร์อันยาวนานคู่แรงศรัทธาแห่งพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งชาวเลห์ (ภายในดินแดนที่เราเรียกว่า ทิเบตน้อยแห่งนี้) ให้ความสำคัญและศรัทธาในศาสนามากสังเกตจากการคล้องถือและนับลูกประคำ หรือหมุนกงล้อสวดมนต์ติดตัวเสมอ

 เลห์ – ลาดักห์ ทิเบตน้อยแห่งเทือกเขาหิมาลัย ตอน 2 by jasmine rice

IMG_1050

ลามะเจมส์ บอกการทำเช่นนั้นทำให้เรามีสมาธิอยู่และได้อยู่ตัวเอง พอได้ยินมาแบบนั้นคนไกลวัดอย่างเราก็พอเข้าใจได้นะ แต่พอลามะเจมส์ อธิบายต่อว่า การอยู่กับตัวเองอย่างน้อยก็ทำให้คนเราไม่จับกลุ่มคุยกัน ติฉินนินทาคนอื่นก่อเกิดปัญหาตามมาเท่านั้นแหล่ะ กระจ่างเลยค้า (อืม..จริงแท้100% ค่ะ ลามะเจมส์ แต่การเม้าธ์มอยของสาวๆ บ้านเราเป็นสิ่งที่อดไม่ได้จริงๆ นะคะ ^_^ )

IMG_0445

ก่อนพาเข้าวัดขอแนะนำอาหาร การกินของชาวเลห์ ที่เน้นอาหาร มังสวิรัติจำพวกแป้ง ข้าวผัด ผัก ผัดหมี่เหลือง โมโม่ (อาหารประเภทแป้งยัดไส้ผักแล้วนึ่งหรือทอดให้สุก) และเครื่องดื่มรับแขกไปบ้านไหนก็จะได้รับรองด้วยเครื่องดื่มชาใส่นมแทนน้ำ แต่ถ้าคุณคือคนที่ขาดอาหารที่มีรสชาดไม่ได้สารพัดน้ำพริกจากเมืองไทยตอบโจทย์ทุกข้อ ถ้าท้องอิ่มอย่างมีความสุขแล้วทำให้เราลืมๆอาการแพ้ความกดอากาศสูงไปได้เหมือนกันน่ะ (คิดไปเอง 555…ฟิตร่างกาย พักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำเยอะๆ ชนะความสูงแน่นอนกว่า) อิ่มแล้วออกไปเที่ยวเมืองเลห์-ลาดักห์ในรัศมีไม่เกินสองร้อยกิโลจากใจกลางเมืองเลห์กันประวัติของวัดแต่ล่ะที่เก่าแก่เกินร้อยปีทั้งนั้น…

IMG_0234

เจดีย์สันติภาพ (Shanti Stupa) เจดีย์ใหญ่สีขาวสร้างโดยชาวญี่ปุ่นสร้าง เพื่อหวังให้ศาสนาช่วยจรรโลงโลกให้เกิดสันติภาพตามชื่อเจดีย์ ตั้งอยู่บนเนินเขาเด่นสง่า ตรงลานเจดีย์นับเป็นจุดชมวิว 360 องศาที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของเมืองเลห์ และที่นี่เองเรามีโอกาสได้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในกงล้อที่ลามะ และชาวเลห์พุทธใช้หมุน เพื่อทำสมาธิหรือใช้แทนการสวดมนต์เพราะภายในบรรจุด้วยบทสวดนับร้อยบท

IMG_0357

พระราชวังเลห์ ( Leh Palace) เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของราชวงศ์แห่งลาดัก ตั้งอยู่บนเนินสูงย่านใจกลางเมืองซึ่งจุดบนสุดของเขานี้จะมี วัดนัมเกียล เซโม ( Namgtagyal Tsemo Gompa ) ที่สร้างหลังประกาศชัยชนะของทิเบตโบราณ โดยกษัตริย์ เซงเก นัมเยล เรามาถึงบริเวณบนเขาวังเก่าตอนแสงใกล้หมดแล้ว (ที่จริงห้าโมงกว่าพระอาทิตย์ยังไม่ตกดินแต่ที่เลห์พระอาทิตย์แตะขอบเขาสูงเมื่อไหร่แสงสว่างจะเริ่มจางอย่างรวดเร็ว) แต่ขณะกำลังก้าวขึ้นบันไดก็ได้ยินเสียงกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ถามกันเองในกลุ่มว่าลามะคนนี้ใช่ ลามะเจมส์  หรือเปล่า พอได้ยินเสียงจากแอดมินเปิ้ล  Leh Crazy ตอบว่าใช่เท่านั้นแหละ เสียงที่บ่งบอกถึงความดีใจอย่างปิดไม่มิดพร้อมเสียงกดชัตเตอร์ถ่ายรูปคู่กับลามะเจมส์ ยังกะเจอซุป”ตา คนโปรด  ตกลงเรามีไกด์ลามะที่เป็นคนดังในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วหรือนี่…

IMG_2339

วัดสปิตุก ( Spituk Gompa ) ห่างจากตัวเมืองเลห์ ระยะทาง 8 กิโลเมตร ชื่อของวัดเป็นภาษาทิเบตมีความหมายว่าเป็นแบบอย่าง หรือ ต้นแบบ ดังนั้นวัดสปิตุก จึงเป็นวัดต้นแบบของวัดหลายแห่งในลาดักห์ มุมสูงของวัดนี้อีกด้านสามารถมองเห็นการขึ้นลงของเครื่องบิน และอีกด้านเป็นที่ราบบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรมริมแม่น้ำสินธุ ถ้ามาหน้าร้อนคงได้ภาพแม่น้ำสีใส ตัดกับภูเขาสีน้ำตาล หน้าฉากเป็นพันธุ์ไม้สีเขียวสบายตาไปอีกแบบ

Leh-Dalakh012

หุบเขาซันสการ์ ( Zanskar ) แม่น้ำสองสี

เดิมเคยถูกเรียกว่าเป็นเมืองลับแลแห่ง หลังคาโลก เพราะถูกปิดล้อมไปด้วยเทือกเขาสูงชันทางใต้ของเลห์ซึ่งมีแม่น้ำสินธุ ( Indus) เป็นสีเขียว และแม่น้ำซันสการ์ ( Zanskar ) จะออกสีน้ำตาล ไหลเลียบขอบเขามาบรรจบกันกลายเป็นแม่น้ำสองสี แต่ในช่วงหน้าหนาวแม่น้ำทั้งสองสายจะกลายเป็นธารน้ำแข็ง เป็นเส้นทางแทรคกิ้งของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการการท้าความเย็นที่อุณภูมิติดลบกว่า 20 องศา

IMG_0831

วัดอัลชิ (Alchi Gompa)
วัดอัลชิ ตั้งอยู่บนพื้นราบระหว่างหุบเขาซึ่งต่างไปจากการตั้งวัดโดยทั่วไปของชาวทิเบตโบราณที่ตั้งบนเนินเขา วัดอัลชิ  มีร่องรอยการเริ่มต้นของศิลปะทิเบตโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งหาดูไม่ได้แล้วที่ทิเบตของเขตประเทศจีน รัฐบาลอินเดียจึงยกวัดอัลชิ เป็นมรดกของชาติแห่งหนึ่ง บริเวณรอบวัดอัลชิ ด้านหนึ่งเป็นวิวร่องเขาที่มีแม่น้ำสินธุผ่านกลาง และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านโดยรอบ ในช่วงเมษายนที่ต้นแอปริคอตกำลังออกดอกบานสะพรั่งเป็นบรรยากาศที่อยู่กลางสวนซากุระที่ญี่ปุ่นกลายๆเลยทีเดียว

IMG_0792

IMG_1098

วัดลามะยูรู (Lamayuru Gompa ) ตั้งอยู่บนยอดเขาหินทรายท่ามกลางเนินเขาพื้นผิวดวงจันทร์ ( Moon Landscape) ลามะยูรู จึงเป็นสถานที่สวยแปลกตาและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในหลังคาโลกนี้

1996

วัดติ๊กเซ่ (Thiksey Gompa) วัดเก่าแก่กว่า 600 ปี รูปทรงของวัดติ๊กเซ่ คล้ายคลึงกับ พระราชวังโปตาลา ( Potala Palace) ที่ทิเบต จนได้รับฉายาว่า Mini Potala ซึ่งลามะเจมส์ได้บวชเรียนที่วัดติ๊กเซ่ตอนวัยเด็กแล้วก่อนไปศึกษาต่อที่แคว้นพาราณสีต่อด้วยมหาวิทยาลัยทางใต้ของอินเดีย……ทุกเช้าเวลาประมาณ06.30น.นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมชมพิธีทำวัตรเช้าของลามะที่นี่ได้ ต่อด้วยการเข้าชมวิหารประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรย ความสูง 12 เมตร ถือว่าเป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นงานศิลป์ชั้นเอกอีกหนึ่งชิ้นในลาดักห์ สร้างขึ้นโดยองค์ดาไลลามะองค์ที่ 14

1740

ภายในบริเวณ วัดติ๊กเซ่ นอกจะเป็นสถานปฏิบัติธรรมกิจของลามะแล้ว ยังมีโรงเรียนสอนลามะน้อยและคลินิกยาสมุนไพรโบราณจากทิเบต และถ้าหากคุณโชคดีอาจจะยลโฉมความน่ารักบริสุทธิ์ของเหล่าลามะน้อย โดยเฉพาะ ลามะน้อย สแตนซิน (Stanzin Nurbu) วัยสามขวบ ที่ท่านลามะอาวุโสรับมาดูแลและบวชเรียนเป็นศิษย์วัดนี้ หากใครสังเกตุรูปที่แต่ล่ะคนถ่ายกับลามะน้อย หรือแม้กระทั้งกับลามะเจมส์เองผู้หญิงจะสามารถถูกเนื้อต้องตัวลามะได้บางคนอาจจะสงสัยกันว่าลามะไม่อาบัติหรือเลยอยากแชร์ความแตกต่างของความเป็นนักบวชอย่างลามะทิเบต และพระสงฆ์บ้านเรา….ลามะสามารถแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิงได้ (ลามะถือว่าจิตใจท่านบริสุทธิ์มิได้คิดไปในทางอื่น)..ลามะสามารถประกอบสัมมาอาชีพได้…..ลามะสามารถอยู่ค้างคืนหรือมีบ้านของตัวเองได้…ลามะสามารถขับรถได้…ลามะสามารถเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดธรรมดาได้เมื่อจำเป็น..อย่างไรก็แล้วแต่สาวๆแดนสยามเราก็ยังเกร็งๆกับการประชิดตัวลามะอยู่ดี…

IMG_1634

ทะเลสาบแปงกอง (Pangong Lake) ห่างจากเมืองเลห์ ประมาณ 150 กม.แปงกองเป็นทะเลสาบใหญ่ขนาด 700 ตร.กม.ความยาว 130 กม. กว้าง 6-7 กม. โดยพื้นที่ 30% อยู่ในเขตอินเดียและอีก 70% อยู่ในเขต ทะเลสาบแปงกอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องสู่ที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ยอดเขาจะมีหิมะปกคลุมตลอดเกือบทั้งปี หากฤดูร้อนน้ำแข็งละลายไหล ไหลมาเติมเต็มทะเลสาบ ที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้กลายเป็นสีมรกต ช่วงที่เราไปในเดือนเมษายน ทะเลสาบแปงกอง กลายเป็นลานน้ำแข็งทั้งผืน ระหว่างทางขึ้นหิมะตกเกือบตลอด ยิ่งขึ้นสูงอากาศยิ่งเบาบางโดยเฉพาะผ่านจุด Chang La ที่ความสูง 5,360 เมตร ออกอาการหายใจไม่สะดวกและปวดหัวเริ่มเล่นงานแต่สักพักร่างกายเราจะเริ่มปรับตัวสู่สภาพปกติเอง ขากลับจากทะเลสาบแปงกองเป็นเวลากลางคืนประสบการณ์การนั่งรถฝ่าหิมะบนถนนเหลี่ยมเขาสูงวกไปเวียนมาอยู่จุดเดิมแต่สูงขึ้น หรือต่ำลงเท่านั้นเป็นช่วงเวลาที่ลืมไม่ลงจริงๆ ผ่านจุดนั้นมาได้ถึงเวลานี้ความรู้สึกปลื้มปริ่มยังคงอยู่ในใจเสมอ…

IMG_1483

วันรุ่งขึ้นเราต้องเดินทางไปหุบเขานูบร้า แต่ปรากฎว่าหิมะตกหนักปิดถนนเลยต้องเปลี่ยนแผนอดขึ้นอูฐ เหยียบทะเลทราย แอบเซ็งเล็กๆ…ลามะเจมส์เหมือนจับความรู้สึกได้เลยเปรยปลอบใจนิ่มๆตามสไตล์ว่า “ธรรมชาติของเมืองเลห์ ลาดัก คงอยากให้คุณๆกลับมาเที่ยวหาอีกแน่เลย ครั้งหน้ามาเที่ยวนูบร้าวัลเลย์กันใหม่น่ะ”

มันคงต้องเป็นแบบนั้นจริงๆแล้วค่ะท่านลามะ ไม่มีพลังใดเหนือพลังธรรมชาติได้จริงๆ กลับถึงเมืองไทยไม่กี่วัน เหมือนมีพลังดึงและดูดให้กลับไปเลห์ อีกให้ได้…โดนมนต์สเน่ห์เลห์สะกด พอๆกับแกงค์ Leh Crazy กันแล้วสินะ *_* See you next trip Leh-Ladakh *_* ขอบคุณเพื่อนร่วมทริป Tour Boonrit ที่แบ่งปันภาพภ่ายครั้งนี้

IMG_1639


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

 

บทความโดย Travel MThai