พระนารายณ์ราชนิเวศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ วังนารายณ์ เที่ยวลพบุรี

ชวนท่องเมืองประวัติศาสตร์ “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” จ.ลพบุรี

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / ชวนท่องเมืองประวัติศาสตร์ “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” จ.ลพบุรี

ชวนท่องเมืองประวัติศาสตร์
“พระนารายณ์ราชนิเวศน์” จ.ลพบุรี

กระแสละคร บุพเพสันนิวาส ทำเอาทุกคนอินจัด สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณสถานจึงพลอยได้รับผลในเชิงบวกไปด้วย วันนี้ travel.mthai เลยอยากพามาเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี สถานที่แห่งนี้จะมีสิ่งใดน่าสนใจและน่าค้นหา ตามเรามาเที่ยวเลย

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือที่ชาวเมืองลพบุรีเรียกกันติดปากว่า วังนารายณ์ เป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองละโว้ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุ และภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามประวัติ  วังนารายณ์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2209 สำหรับใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคต สถานที่แห่งนี้ก็หมดความสำคัญและถูกปล่อยทิ้งร้างตั้งแต่นั้น กระทั่งได้รับการบูรณะ ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รวมถึงมีการสร้างพระที่นั่งพิมาณมงกุฎและหมู่ตึกพระประเทียบ ทรงพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ในปีพ.ศ. 2504

ด้านในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 เขต ได้แก่

เขตพระราชฐานชั้นนอก

สิบสองพระคลัง
  • อ่างเก็บน้ำประปา (อ่างเก็บน้ำซับเหล็ก) เป็นระบบการจ่ายทดน้ำของชาวฝรั่งเศส เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในพระราชวัง
  • หมู่ตึกพระคลังศุภรัตน์ (สิบสองท้องพระคลัง) เป็นพระคลังเก็บสินค้า และสิ่งของที่ใช้ในราชการ
  • ตึกพระเจ้าเหา เป็นหอพระประจำพระราชวัง มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านในตึก เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระเจ้าเหา
ตึกเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง
  • ตึกเลี้ยงต้อนรับแขก ตึกเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตจากต่างประเทศ ล้อมรอบด้วยสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ถึง 3 สระ
  • โรงช้างหลวง เป็นที่อยู่ของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และเจ้านายชั้นสูง สำหรับใช้ในราชการ หรือเสด็จประพาสป่า โรงช้างส่วนใหญ่เหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ยังปรากฏส่วนฐานให้เห็นเพียง 10 โรง เท่านั้น

เขตพระราชฐานชั้นกลาง

  • พระที่นั่งจันทรพิศาล ที่ประทับออกว่าราชการแผ่นดินและประชุมองคมนตรี ปัจจุบันมีห้องจัดแสดงภาพประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญต่างๆ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น  ภาพวาดรูปเหมือนขุนศรีวิศาลวาจา (หมื่นสุนทรเทวา)  ภาพเขียนเจ้าพระยาโกษาปาน ภาพคณะทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ 14 ภาพราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ เป็นต้น
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
  • พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท  เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง สำหรับเสด็จออกต้อนรับคณะราชทูตต่างประเทศ มีศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานฝรั่งเศส
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ
  • หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ เชื่อมหากัน คือ  พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ / พระที่นั่งสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการ / พระที่นั่งไชยศาสตรากร เป็นที่เก็บอาวุธ / และ พระที่นั่งอักษรศาสตราคม เป็นที่ทรงพระอักษร
  • ทิมดาบ สร้างสมัยรัชการที่ 4 เป็นที่พักของทหารรักษาการณ์

โดย พระที่นั่งพิมานมุงกุฎ  จะเป็นอาคาร 3 ชั้น ใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองลพบุรี ไขข้อสงสัยทุกเรื่องตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยปัจจุบัน ดังนี้

– ชั้นที่ 1 จัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,500-4,000 ปี เช่น ภาชนะดินเผารูปวัว โครงกระดูกมนุษย์ ขวานหิน ขวานสำริด จารึกโบราณ เครื่องประดับจากเปลือกหอย เป็นต้น

– ชั้นที่ 2 จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในลพบุรี  ช่วงที่ความเจริญของศิลปะเขมรมีอิทธิพลในไทย เช่น ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพุทธรูปนาคปรก เทวรูปต่างๆ ตลอดจนเครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งของจีน และไทย

– ชั้นที่ 3 เดิมเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 4 จัดแสดงเหมือนครั้งที่ยังประทับอยู่ มีพระแท่นบรรทม ฉลองพระองค์ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ เหรียญเงินต่างๆ เครื่องแก้ว เครื่องประกอบโต๊ะพระกระยาหารที่มีตราประจำพระองค์(มงกุฎ) เป็นต้น

เขตพระราชฐานชั้นใน 

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก่ออิฐถือปูนมุงหลังคากระเบื้องเคลือบแบบจีน

หมู่ตึกพระประเทียบ หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นตึกชั้นเดียว 2 หลัง ก่อด้วยอิฐปูน 2 ชั้น มี 8 หลัง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายใน

สำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ยังมีบ้านตึกเขียว หรือ สำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเคยเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังแรกของลพบุรี เป็นสถานที่เก็บ หนังสือจินดามณี  เล่มที่ 2 ไว้ให้ชมกันด้วย ส่วนเล่มแรกเก็บไว้ที่จดหมายเหตุ

วันเวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น.

ที่ตั้ง : เขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : museumsiam, wikipediamuseumsiamaddsiam

******************************************************

บทความที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
– เที่ยวตามรอย แม่หญิงการะเกด ‘ละครบุพเพสันนิวาส’
– หนังสือจินดามณี แบบเรียนไทยเล่มแรก สมัยอยุธยา
– “บ้านวิชาเยนทร์” บ้านหลวงรับราชทูต ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์