จังหวัดศรีสะเกษ

Home / ข้อมูล 77 จังหวัด / จังหวัดศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งใน 77 จังหวัดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 8,840 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 1.45 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร (เขมรสูง) และภาษากวย (กูย, โกย, ส่วย)

จังหวัดศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษ

คำขวัญประจำจังหวัด:  หลวงพ่อโตคู่บ้าน ถิ่นฐานปราสาทขอม ข้าว หอม กระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี

สถานที่ท่องเที่ยวฮิตในศรีสะเกษ

พระธาตุเรืองรอง

พระธาตุเรืองรอง 

            ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ7.5 กม. เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้ สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง49 เมตร แบ่งออกเป็น6 ชั้น ชั้นล่างสุดใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่สองและสามเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ห้าใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่หกเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจุดชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ

 น้ำตกสำโรงเกียรติ์ หรือน้ำตกปีศาจ

น้ำตกสำโรงเกียรติ์

            ตั้งอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติ์ มีต้นกำเนิดจากภูเขากันทุง บนเทือกเขาบรรทัด ห่างจากอำเภอขุนหาญ ประมาณ20 กิโลเมตรตามทางหลวงหมายเลข2127 เป็นน้ำตกขนาดกลาง ตกจากหน้าผาสูง8 เมตร เหนือน้ำตกเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน จะมีความสวยงามในฤดูฝน

ปราสาทตำหนักไทร หรือปราสาททามจาน

ปราสาทตำหนักไทร

             ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง จากอำเภอขุนหาญใช้เส้นทาง2127 ไปอีกประมาณ19 กม.ปราสาทตำหนักไทรมีลักษณะเป็นปรางค์เดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐ ส่วนกรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัวเหนือประตูทางเข้ามีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราวพุทธศตวรรษที่16

ปราสาทปรางค์กู่

ปราสาทปรางค์กู่

           ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ อยู่ห่างจากศรีสะเกษเป็นระยะทาง ประมาณ 70 กม. สามารถเดินทางเข้าถึงได้สองเส้นทางคือ ใช้เส้นทางศรีสะเกษ-สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง2234 หรือใช้เส้นทาง ศรีสะเกษ-ขุขันธ์ แล้วแยกขวาเข้าเส้นทาง2167 ปรางค์กู่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ10 กม. ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ด้านหน้าปรางค์กู่มีสระน้ำขนาดใหญ่เป็นทำเลพักหากินของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมีมากในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่

ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่

            ตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัยตามทางหลวงหมายเลข226 ทางไปตัวเมืองศรีสะเกษ ประมาณ2 กม. บริเวณ กม.81 เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ลักษณะเป็นปรางค์3 องค์บนฐานเดียวกัน เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก2 องค์เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตูด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ2 หลัง ล้อมรอบด้วย ระเบียงคต มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง4 ทิศ บริเวณปราสาทมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น ทับหลังจำหลักลวดลายต่าง ๆ พระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผาและประติมากรรมทวารบาลสำริด ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่16 เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาในลัทธิมหายานเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18

ปรางค์ศิลาช่องเขาโดนตวล

ปรางค์ศิลาช่องเขาโดนตวล

           ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงชัน บนเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ห่างจากบ้านภูมิซรอลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้8 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวอำเภอกันทรลักษ์ประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท

ผามออีแดง

ผามออีแดง

            ตั้งอยู่ปลายสุดของทางหลวงหมายเลข221 ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ลงไปทางใต้36 กิโลเมตรบริเวณนี้มีลักษณะเป็นลานหินธรรมชาติริมหน้าผาสูง ติดเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นจุดชมทัศนียภาพทิวเขาพนมดงรัก แผ่นดินเขมรต่ำ และสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารซึ่งอยู่ห่างออกไป1 กิโลเมตร บริเวณผามออีแดงมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าผาที่อยู่ต่ำลงไปมีภาพสลักหินนูนต่ำศิลปะเขมรอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 ปราสาทตาเล็ง

ปราสาทตาเล็ง

              ตั้งอยู่ที่หมู่6 บ้านปราสาท ตำบลกันทรารมย์ การเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงสาย220 จนถึงอำเภอขุขันธ์เลี้ยวขวาผ่านสถานีตำรวจไป3 กม. ถึงสามแยกเลี้ยวซ้าย300 เมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ16 กม. ปราสาทตาเล็งลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวตั้งอยู่บนฐานองค์ปรางค์มีผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงผนังด้านหน้าและผนังด้านข้างบางส่วน มีประตูเข้าได้เพียงประตูเดียวด้านหน้า อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ที่สำคัญคือเสาติดผนังของประตูหน้าทั้งสองข้างยังคงมีลวดลายก้านขดสลักเต็มแผ่นอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่16-17

การเดินทาง

รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข2
(ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา เข้าทางหลวงหมายเลข226
ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ หรือใช้เส้นทางหลวงหมายเลข24 จากอำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอโชคชัย-นางรอง-ประโคนชัย-ปราสาท แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 220
ผ่านอำเภอขุขันธ์ เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ

 

รถโดยสารประจำทาง

จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ตลาดหมอชิต)
ถนนพหลโยธิน ไปศรีสะเกษทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ8 ชั่วโมงครึ่ง มีทั้งรถโดยสารธรรมดา รถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และวีไอพี ติดต่อสอบถามเวลาเดินรถและรายละเอียดได้ที่
โทร.537-8055-6

 

รถไฟ

จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010 , 223-7020

สำหรับการเดินทางภายในตัวเมืองศรีสะเกษ สามารถใช้บริการรถสามล้อรับจ้างซึ่งมีอยู่อยู่ทั่วไป หากต้องการเดินทางไปอำเภอต่าง ๆ ก็มีรถโดยสารวิ่งบริการทุกวัน นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารจากตัวเมืองศรีสะเกษไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย

เทศกาลและงานประเพณี

 งานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ

งานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ

            หรือเดิมเรียกว่า งานเทศกาลดอกลำดวน จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่15-17 มีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบาน ภายในงานประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง

การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟและควอเตอร์มาราธอนสู่ผามออีแดง

การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟ

             จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่สามของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดน ที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลอง กำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ความสนใจกันมาก

โรงแรมที่พักที่น่าสนใจในศรีสะเกษ
โรงแรมศรีลำดวน โฮเต็ล (Srilamduan Hotel)
โรงแรม พรหมพิมาน (
Prompiman Hotel)