เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอดมินได้มีโอกาสไปร่วมงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดทะลุ 15 ช่องประตู ณ อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นประเพณีที่มีความเป็นมายาวนาน โดยตัวปราสาทถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ที่เคารพบูชาเทพพระอิศวร และศิวลึงค์
ชมดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสายการบินแอร์เอเชีย ที่สนับสนุนการเดินทางครั้งนี้ ด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – บุรีรัมย์ โดยที่มงานได้พาแอดมินพร้อมสื่อต่าง ๆ ท่องเที่ยวรอบเมืองบุรีรัมย์ พร้อมดูแลเป็นอย่างดี
เช้ามืดของวันที่ 3 เมษายน 2558 แอดมิน travel.mthai.com แหกขี้ตาตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อออกเดินทางไปยังปราสาทพนมรุ้งให้ทันในเวลาตี 5 เพื่อไปชมปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อไปเจอคนที่ตื่นเช้ากว่าเรา ชาวบ้าน นักข่าวท้องถิ่น สำนักข่าวต่าง ๆ จับจองพื้นที่เบื้องหลังปราสาทอย่างเนืองแน่น ทำให้แอดมินไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปถ่ายภาพมาให้ชมได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แอดมินก็ได้เก็บภาพบรรยากาศส่วนต่าง ๆ มาให้ทุกท่านได้ชมกัน และไม่ต้องเสียใจไป เพราะยังเหลือปรากฏการณ์นี้ให้ชมกันอีก 2 ครั้งในปีนี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก 1 ปีจะมีให้ชมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น โดยดวงอาทิตย์จะตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม และดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงอีก 2 ครั้งในวันที่ 3-5 เมษายน และวันที่ 9-11 กันยายน ของทุกปี
จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเฝ้ารอชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์และรับพลังแสงอาทิตย์ ที่สาดส่องผ่าน 15 ช่องประตู เพื่อเก็บภาพความประทับใจในวันเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ ปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมในการก่อสร้างปราสาทให้แสงอาทิตย์ส่องตรง 15 ช่องประตูผ่านศิวลึงค์ ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ที่ตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนเขาไกรลาสบนสรวงสวรรค์


การเดินทางไปเขาพนมรุ้ง
จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง หมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอ หนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 รวมระยะทาง 410 กม. หรือจากนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช-ห้วยแถลง-ลำปลาย มาศ รวมระยะทาง 384 กม.


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : www.facebook.com/Buriram.Lifestyle
ถ่ายภาพและเรียบเรียงโดย : muzTong – Travel MThai