การทอผ้า ชุมชนทอผ้า ท่องเที่ยวชุมชน เที่ยวบุรีรัมย์

สักครั้งในชีวิต ขอลองเปลี่ยนอาชีพเป็นคนทอผ้าที่ ชุมชน บ้านสนวนนอก

Home / ภาคอีสาน / สักครั้งในชีวิต ขอลองเปลี่ยนอาชีพเป็นคนทอผ้าที่ ชุมชน บ้านสนวนนอก

การออกได้ไปท่องเที่ยวเพื่อหาอะไรใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญนะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน ทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย มาเที่ยวบุรีรัมย์ทั้งที ขอลองเปลี่ยนบทบาทเป็นคนทอผ้าสักครั้งในชีวิต ดูสิว่าจะยากหรือง่ายขนาดไหน เพราะที่ชุมชน บ้านสนวนนอก ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำอาชีพทอผ้ากันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว งั้นถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝากเนื้อฝังตัวขอเป็นลูกศิษย์คนทอผ้ากันในคราวนี้เลย

 

เริ่มต้นปลูกหม่อน

วิธีการปลูกหม่อนก็ไม่ยากอย่างที่คิดนะ เพราะเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย แค่ตอนกิ่งแล้วนำไปปักชำในแปลงก็ขึ้นแล้ว แถมโตไวอีกด้วย โดยพันธุ์ที่ บ้านสนวนนอก ใช้ก็คือ บร.60 หรือพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นั่นเอง เพราะว่าพันธุ์นี้ให้ใบดก ออกใบเร็วกว่าผล เหมาะสำหรับการเลี้ยงไหมโดยแท้

 

ต่อมาเลี้ยงไหม

หัวใจของการทอผ้าก็คือเราต้องเลี้ยงไหมเอง เพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพของไหมได้ โดยจะเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นไข่กันเลย สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มเลี้ยงก็สามารถซื้อไข่ได้จากกรมหม่อนไหม จำหน่ายแผ่นละ 30 บาทเท่านั้น แค่แผ่นเดียวสามารถเลี้ยงหนอนไหมได้ถึง 3 กระด้งเลย ซึ่งหนอนไหมที่ใช้คือพันธุ์ผสม ไทย-จีน เพราะตัวใหญ่ให้เส้นไหมเยอะแล้วทนต่อทุกสภาพอากาศ

ส่วนวงจรชีวิตของหนอนไหมเมื่อฟักจากไข่แล้ว เราจะแบ่งออกเป็น 5 วัย

  • วัยที่1 ตั้งแต่ฟักออกมา จะกินหม่อน 4 วัน จะกินเฉพาะใบอ่อน 3 ใบจากยอดเท่านั้น แล้วจะนอน 1 วัน การนอนของหนอนไหมคือจะอยู่นิ่งๆ ไม่กินอะไรเลย
  • วัยที่ 2 หลังจากตื่นนอนก็ให้อาหารต่ออีก 3 วัน ก็จะเข้าสู่การนอนครั้งที่ 2
  • วัยที่ 3 ให้อาหารต่ออีก 3 วัน ก็จะนอนครั้งที่ 3
  • วัยที่ 4 ให้อาหารอีก 4 วัน ก็จะนอนครั้งสุดท้าย
  • วัยที่ 5 พอตื่นมาครั้งนี้ให้นับต่ออีก 6 วัน หนอนไหมก็จะเริ่มสุก ตัวเป็นสีชมพูออกส้มๆ ให้แยกออกไปใส่กระจอได้เลย ทิ้งไว้ประมาณ 3 คืนหนอนไหมก็จะชักใยหุ้มเป็นรังไหม

ช่วงนี้เราก็จะคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เก็บไว้ ประมาณ 200 – 400 รัง เพื่อให้วางไข่สำหรับรุ่นต่อไป  ถ้าตัวเมียรังจะกลมๆ ถ้าตัวผู้รังจะเรียวๆ ยาวๆ หลังจากนั้น 10 วันก็จะฟักออกมาเป็นผีเสื้อ พอเจาะรูออกมาจากรังไหมก็จะผสมพันธุ์ทันทีในตอนเช้า พอตอนเย็นเราก็จะแยกเอาตัวผู้กับตัวเมียออก ให้ตัวเมียมาวางไข่ ประมาณ 1 คืน ก็จะได้ไข่ แล้วแยกมาใส่กระด้งเพื่อนำมาฟักต่อไป ส่วนรังไหมที่เราจะนำไปสาวไหม ก็จะนำไปตากแดดเพื่อให้ตัวไหมข้างในตายเสียก่อน

 

ได้รังไหมแล้วทำอะไรต่อ

เมื่อได้รังไหมที่ต้องการแล้วก็นำมาสาวไหม คือการนำรังไหมมาต้มแล้วสาวเส้นใยมารวมกัน ขั้นตอนนี้เราจะแยกเส้นไหมได้ถึง 3 เกรดด้วยกัน คือ

  1. ไหมหลืบ คือไหมที่พันอยู่รอบนอกสุดเส้นที่ได้จะใหญ่ๆ ขุยเยอะ ไม่ค่อยสวยงาม
  2. ไหมกลาง คือส่วนที่ลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง เส้นก็จะเล็กลงมาหน่อย
  3. ไหมน้อย ไหมที่มีเส้นเล็กสวยงามเหมาะสำหรับการนำไปทอผ้าเป็นที่สุด

เพื่อให้ได้ผ้าที่มีสีสันสวยงาม เราก็จะทำการย้อมสีไหม แต่ก่อนย้อมเราต้องลอกกาวที่เคลือบไหมออกเสียก่อน ด้วยการแช่น้ำด่างที่ได้จากหน่อกล้วยถึงจะย้อมติด

 

เริ่มตั้งกี่ทอผ้า

ขั้นแรกเราต้องเริ่มจากเส้นยืน คือเส้นไหมยาวๆ ที่ไว้กำหนดทั้งความยาวและความกว้างของของผ้าที่จะทอ จากนั้นเส้นยืนก็จะถูกทอขัดด้วยเส้นพุ่งที่บรรจุอยู่ในกระสวย ส่งลอดไปลอดมาระหว่างเส้นยืน ซึ่งจะมี ดอก คือ ก้านไม้ที่ขึงกับเส้นยืน เป็นตัวกำหนดว่าเราจะยกเส้นไหนบ้าง ยกสลับกันด้วยโดยใช้เท้าเหยียบเพื่อยกดอกขึ้น ยิ่งลายเยอะดอกก็เยอะ คราวนี้ก็ยกก็เหยียบกันพัลวันเลย

 

ได้เวลาลองทอผ้า

ครั้งแรกที่ได้ลองทอผ้าจริงๆ บอกเลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ที่ว่าไม่ง่ายเพราะขั้นตอนค่อนข้างสลับซับซ้อนมาก ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน เท้าเราต้องคอยเหยียบยกดอก มือก็ต้องคอยส่งกระสวยสลับไปมา แล้วก็ต้องดึงฟืม ไม้ซี่ๆ สำหรับตีเส้นไหมให้แน่น พอเสร็จจากเส้นหนึ่งก็ต้องเปลี่ยนดอกเพื่อเปลี่ยนลายแล้วก็ยกดอก ส่งกระสวย ตีฟืม เปลี่ยนเท้า ส่งกระสวยกลับ เปลี่ยนดอก ทำแบบนี้สลับไปเรื่อย ถ้าทำผิดก็แก้กันใหม่ แต่พอเริ่มชินก็จะสนุกไปอีกแบบ

การได้มาลองเป็นคนทอผ้าในวันนี้ ทำให้รู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาว บ้านสนวนนอก ที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นห่วงว่าหากไม่มีรุ่นต่อไปมาสืบสานการทอผ้าก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ