ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสดีๆ ตามติดอ.คฑา ชินบัญชรร่วมย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรก กับทริปเขาใหญ่ – โคราช 3 วัน 2 คืน เพื่อย้อนวันวานมรดกโลก ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สัมผัสกับธรรมชาติของผืนป่าและขุนเขา เยี่ยมชมความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทหินพิมาย ตื่นตะลึงกับ อาณาจักรต้นไทร แวะชอปปิ้งเครื่องปั้นดินเผาที่ด่านเกวียน และสถานที่ที่เราไม่ควรพลาดในทริปนี้ คือการแวะเคารพสักการะ “อนุสาวรีย์ย่าโม” สิ่งศักดิ์สิทธ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวโคราช ถิ่น “เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน

 ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

5576-50

แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของคณะเดินทางของเราในครั้งนี้ได้ เราออกเดินทางกันแต่เช้ามุ่งหน้าสู่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ในปี พศ. 2548 มีอาณาเขตครอบคลุม 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี และนครนายก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเทือกเขาพนมดงรักในส่วนที่เรียกว่า “ดงพญาเย็น” สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนที่กั้นระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลาง กับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก ลำตะคอง ลำพระเพลิง และห้วยมรกตเหล็ก

image

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระดับสังคมพืชซึ่งประกอบด้วยป่า 6 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า ระดับชนิดพันธุ์พืชไม่ต่ำกว่า 2,500 ชนิด รวมถึงความหลากหลายในระดับชนิดพันธุ์สัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า เก้ง กระทิง เสือโคร่ง และนกเงือก จากลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม ภายในอุทยานแห่งชาติจึงมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย เช่น ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ น้ำตกกองแก้ว น้ำตกผากลวยไม้ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก และหอดูสัตว์ โดยบนเขาใหญ่มีกิจกรรมท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติหลากหลายให้เราได้เลือกสรร เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การชมสัตว์ป่า การดูนก การขี่จักรยาน การล่องแก่ง-พายเรือ และการดูดาว เป็นต้น

image

image

นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนั้น ในทริปนี้เรายังได้ทำอีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวได้ทำกันบ่อยนัก คือการทำโป่งดินให้กับสัตว์ป่ากินพืชบนเขาใหญ่ เช่น กวางและช้าง โป่งดินนี้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเสริมเกลือแร่และแคลเซียม ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างกระดูก เขา งา และฟันของสัตว์ เพราะในพืชนั้นมีสเตอรอยด์การกินเกลือจะช่วยสร้างสมดุลย์ให้แก่ร่างกายสัตว์เอง  การสร้างโป่งที่ดีควรดูพื้นที่และลักษณะดิน โป่งไม่ควรอยู่ห่างจากถนนมากนัก ควรล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้าและใกล้เขตป่า เพื่อเราจะได้เข้าไปทำโป่งได้สะดวกและสัตว์เองก็จะได้หนีภัยจากสัตว์ผู้ล่าเข้าไปในป่าได้ทัน การทำโป่งนั้นไม่ยากเลย ขอแค่มีพลังกำลังและอดทนต่อความร้อนของแสงแดด เราเริ่มต้นขุดดินพอประมาณ จากนั้นโรยเกลือและคลุกเคล้าเกลือให้เข้ากับดิน ถ้าเราโรยเกลือบนหน้าดิน หากฝนตกเกลือก็จะถูกชะล้างไหลไปตามทุ่งหญ้าทำให้หญ้าและหน้าดินเสียหาย  นอกจากเกลือแล้วเรายังได้เพิ่มก้อนแคลเซียมด้วย โดยใช้จอบทุบก้อนแคลเซียมให้เป็นชิ้นส่วนเล็กพอประมาณ และเพื่อนๆ ในทริปนี้หลายๆ คนก็ไม่หวั่นต่อความร้อนใดๆ ช่วยกันขุด ช่วยกันโรย ช่วยกันทุบ อย่างสนุกสนาน

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

เขาใหญ่นั้นเราสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ฤดูร้อน…เราจะได้ชื่นชมกับดอกไม้ป่าหลากสี ฤดูฝน…ก็เต็มไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าเขียวชะอุ่ม น้ำตกแต่ละแห่งไหลแรงราวกับกำลังแข่งขันกันส่งเสียงให้ดังก้องป่า ฤดูหนาว…ฤดูยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ นานาพร้อมสัมผัสท้องฟ้าที่แจ่มใสและป่าไม้ที่เขียวขจี และสำหรับอนาคตอันใกล้ทางเขาใหญ่เองก็กำลังวางแผนที่จะสร้างศูนย์องค์ความรู้ อาทิ ห้องสมุด ห้องบรรยายต่างๆ แบบระบบอิเลคทรอนิค ศูนย์นิทรรศการแบบอินเตอร์แอคทีฟสามารถสัมผัสจับต้องได้ และหากเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ของพวกเราก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นแน่นอน

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำโป่งดินตอนกลางวัน เราได้แวะรับประทานอาหารเพิ่มพลังที่ค่ายเยาวชนสุรัสวดีบนเขาใหญ่ จากนั้นก็เดินทางกันต่อไปยัง วัดธรรมจักรเสมาราม ที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนหินทรายที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร และมีอายุประมาณ 1,200 ปี โดยคณะเราได้ทำบุญถวายสังฆทานและขอพรพระนอนร่วมกัน สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งในวัดนี้คือ ธรรมจักรศิลา ทำด้วยหินทราย มีหน้ากาลทั้ง 2 ด้าน เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ขุดพบบริเวณพระพักตร์พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์นี้ ก่อนกลับได้จดคำบูชาพระพุทธไสยาสน์มาฝากทุกคนด้วย เพราะคนท้องถิ่นเล่ากันว่าพระนอนที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ หากใครได้มาเที่ยวโคราชไม่ควรพลาดโดยเฉพาะคนที่เกิดวันอังคาร

คำบูชาพระพุทธไสยาสน์ (ตั้งนะโม 3 จบ)
ยัสสานุภาวะโต ยักขาเนวะ ทัสเสนติภิงสนัง ยัมหิ
เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตัน ทิโต สุขัง สุปะติสุตโตจะ ปาปัง
กัญจิ นะปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัม ภะนามะเห

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
ช่วงเย็นๆ เราเดินทางสู่ อ.สูงเนิน เพื่อนั่งเรือล่องลำธาร ชมวีถีชีวิตชาวบ้านพื้นเมือง เพลิดเพลินกับสวนผัก ผลไม้ธรรมชาติ อายุเก่าแก่กว่า 130 ปี  เริ่มต้นด้วยการแวะชมสวนคุณตาบุญเหลือ เกตุตะคุ สวนนี้เป็นสวนผสมแบบชีวภาพ ปลอดสารพิษ เพราะใช้ปุ๋ยธรรมชาติ (น้ำหมักธรรมชาติ วัชพืช เศษผัก น้ำไล่แมลง นำมาผสมรวมกัน) ผลิตผลของสวนคุณตาเหลือนั้นมีมากมายหลากหลาย อาทิ กะท้อน ชมพู่ มะปราง ส้มโอ ฝรั่ง และมะนาว ซึ่งผลไม้แต่ละอย่างจะออกดอกออกผลตามฤดูกาลสลับกันไป ทั้งยังมีการเลี้ยงปลาไหล ปลานิล ปลาสะหวาย และหอยขม จากนั้นเราก็ล่องเรือกันต่อเพื่อมาแวะที่สวนคุณตาพยนต์ โภชน์สูงเนิน ที่นี่เราได้เห็นระหัดวิดน้ำที่สร้างจากภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ และเหมือนเป็นลาภปากของเรากันเพราะมีชาวบ้านแถบนี้มาทำอาหารและขนมพื้นเมืองแบบโคราชให้เราได้ลิ้มลองกัน เมนูเด็ดที่ทุกคนต้องลองคือ ผัดหมี่โคราชและแกงบอนทำให้เราอิ่มอร่อยกันทั่วหน้าจนแทบจะทานอาหารเย็นกันไม่ไหวทีเดียว จากนั้นเราก็มุ่งสู่โรงแรมสีมาธานีที่พักของเราในทริปนี้ ห้องที่โรงแรมกว้างขวางมาก มีอุปกรณ์เครื่องใช้ครบครันแทบไม่ต้องเตรียมอะไรมานอกจากเสื้อผ้า

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
มาเริ่มต้นวันที่สองกันด้วยการไปสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม่) เพื่อความเป็นสิริมงคล บริเวณนี้ยังมีร้านรวงขายของที่มีชื่อเสียงของโคราช เช่น กุนเชียง หมูยอ ก๋วยเตี๋ยวโคราช เป็นต้น เพื่อให้ได้สัมผัสกับเมืองย่าโมกันอย่างเต็มที่หลังสักการะขอพรกันเรียบร้อย เราต่อด้วยการนั่งรถรางนำเที่ยวตามเส้นทางอารยธรรมเมืองย่าโม เราเริ่มต้นเส้นทางกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีพร้อมด้วยพี่ไกด์นำเที่ยวผู้รอบรู้ เจ้ารถรางสีแดงนี้นำเราเที่ยวชมสถานที่ที่มีความสำคัญต่างๆ ในตัวเมือง เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประตูเมืองโคราช 4 ประตู ถ้ำหินงอกหินย้อย วัดพายัพ วัดศาลาลอย โดยค่าบริการก็น่ารัก เพียงแค่คนละ 20 บาท เท่านั้นเอง

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
สถานที่แรกที่เราเยี่ยมชมคือถ้ำหินงอกหินย้อย ในวัดพายัพ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 วัด ภายในกำแพงเมืองเก่า ด้านในถ้ำที่พระศรีธรรมาภรณ์เจ้าอาวาสวัดพายัพสร้างขึ้นนี้ โดยใช้หินงอกหินย้อยของจริงที่เป็นส่วนที่เหลือใช้จากการระเบิดภูเขาของโรงงานปูน บริเวณอำเภอพระพุทธบาท  ทำให้หินต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถเจิญเติบโตได้อีกแล้ว แต่หินเหล่านี้ยังคงรูปร่างและมีสีสันที่สวยงาม โดยเจตนาของการนำหินงอกหินย้อยนี้มาประกอบขึ้นใหม่ก็เพื่อเก็บรักษาสมบัติของโลกไว้เท่านั้น ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปโบราณแกะหินทราย หินศิลา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่เก็บรวบรวมให้เราได้ชมกัน ก่อนเดินทางกันต่อเรายังได้ทราบถึงเคล็ดไม่ลับของการปลูกต้นโพธิ์อีกด้วย โดยหากต้องการให้ต้นโพธิ์เติบโตอย่างสวยงาม ต้องใช้ก้อนอิฐจากโบสถ์ต่างๆ แทนการใช้ดินในการปลูก สมกับที่เป็นต้นไม้ประจำพระพุทธศาสนา

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
แล้วเราก็มาถึงวัดศาลาลอย เป็นวัดที่ท้าวสุรนารี ทรงสร้างขึ้นและยังเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของท่านเองอีกด้วย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2370 พระอุโบสถเป็นลักษณะศิลปะประยุกต์ สร้างเป็นรูปสำเภาโต้คลื่นโดยใช้กระเบื้องดินเผาด่านเกวียน ซึ่งทำให้มีลักษณะที่สวยงามมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนวัดใด ซึ่งนอกจากการไหว้พระแล้ว ใครอีกหลายๆ คนก็ได้แวะมาเคารพสักการะและขอพรจากรูปปั้นย่าโมที่ตั้งอยู่ในวัดศาลาลอยนี้ เมื่อพรใดๆที่ขอสัมฤทธิ์ผลก็จะกลับมาแก้บน ด้วยการถวายเพลงโคราช ชาวบ้านเล่ากันว่าย่าโมชอบฟังเพลงโคราชเราจึงนิยมแก้บนด้วยวิธีนี้

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันในแบบพื้นเมืองโคราชกันเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางสู่ อ.ไทรงาม เพื่อมาชื่นชมและตื่นตะลึงกับอาณาจักรต้นไทร ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15,000 ตารางฟุต ทั้งหมดนี้เกิดมาจากเจ้าแม่ต้นไทรที่มีอายุประมาณ 350 ปี เพียงต้นเดียวแล้วขยายกิ่งก้านสาขาเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ที่นี่เป็นจุดท่องเที่ยวแรกๆ ของทาง ททท. ในอาณาเขตของเมืองโคราช โดยอยู่ในการดูแลของทางกรมชลประทาน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมานั่งพักผ่อนชมธรรมชาติ ปล่อยนก ปล่อยปลา ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ให้นักศึกษามานั่งติวหนังสือกันได้อีกด้วย บริเวณใกล้เคียงยังมีร้านขายของฝากของที่ระลึก และของกินขึ้นชื่อหลายร้าน อาทิผัดหมี่พิมายเส้นเหนียวนุ่มไม่แพ้ใคร

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
จุดมุ่งหมายต่อไปของเราอยู่ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อชมสุดยอดความยิ่งใหญ่และอลังการของ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเป็นศิลปะแบบบาปวนซึ่งเป็นต้นแบบการสร้างปราสาทนครวัด เราทุกคนตื่นตาไปกับความยิ่งใหญ่และสัมผัสได้ถึงมนต์ขลังของโบราณสถานอันทรงคุณค่า บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่าร้อยไร่แห่งนี้ ถึงแม้ต้องเผชิญกับอากาศจะสุดแสนจะร้อนและแสงแดดที่คอยแผดเผาผิวของพวกเราก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการเดินชื่นชมและสำรวจร่องรอยของความเจริญและความสวยงามที่ ละเอียดละออของคนรุ่นก่อนที่ได้สร้างสรรค์สถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเลย เพื่อให้เราได้ความรู้พร้อมๆ กับการชม ปราสาทหินพิมาย เรามีน้องไกด์เยาวชนเป็นผู้นำเที่ยวด้วย เริ่มต้นด้วยการเดินผ่าน “ะพานนาคราช” ทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ และเราต้องผ่าน “ซุ้มประตูกำแพงแก้ว” ซึ่งจะมีอยู่ทั้งสี่ทิศของปราสาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า  แล้วเราจะพบกับ “พลับพลาเปลื้องเครื่อง” เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าใช้สำหรับเป็นที่พักในการเดินทางและเตรียมพระองค์ของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ยามเสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในปราสาทพิมาย

image

จากนั้นเราก็กะจายตัวกันชมความงดงามของหินแกะสลักบริเวณซุ้มประตูต่างๆ โดยลานด้านในนั้นมีปรางค์ 3 ปรางค์ล้อมรอบ ได้แก่ ปรางค์หินแดง ปรางค์ประธาน และร้อยเรียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างปราสาท กับลายจำหลักในพระปรางค์พรหมทัตเป็นต้น และลานชั้นในนี้ก็เป็นที่พักเอาแรงของพวกเราได้มากทีเดียว ถึงแม้จะไม่มีลมพัดผ่านแต่ร่มเงาจากยอดปรางค์ต่างๆ ก็ช่วยเราคลายร้อนได้เช่นกัน เราจบการเยี่ยมชม ปราสาทหินพิมายที่เนินเล็กๆ ตรงข้ามกับด้านนอกของ “ซุ้มระเบียงและระเบียงคด” ที่มีลักษณะเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาวางซ้อนกันเป็นรูปโค้งประทุนเรือ ผนังด้านป็นช่องหน้าต่าง ส่วนผนังด้านนอกทำเป็นช่องหน้าต่างหลอกประดับด้วยลูกกรงหินทรายสลัก เพราะบรรยากาศช่วงเย็นๆ บนเนินเขียวขจี และมีสายลมเย็นๆ พัดผ่าน ทุกคนจึงพร้อมใจกันนั่งพักเหนื่อย และได้บรรยายความรู้สึกลงในโปสการ์ดใบจิ๋ว เพื่อให้คนที่เราคิดถึงได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ ณ ที่แห่งนี้ด้วยกัน
ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

แล้วก็มาถึงวันสุดท้ายของทริปนี้ สถานที่ที่เราทิ้งทวนก็คือ ด่านเกวียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดเลยจริงๆ เพราะด่านเกวียนได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เราจึงสามารถวางใจเรื่องคุณภาพสินค้าที่ผลิตที่นี่ได้ ด่านเกวียน เป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ริมฝั่งลำน้ำมูล ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ต. ด่านเกวียน อ.โชคชัย ห่างจากอำเภอเมืองนครราชสีมาประมาณ 15 กิโลเมตร เดิมชาวด่านเกวียนมีอาชีพทำนาทำไร่อยู่ริมฝั่งลำน้ำมูล และเรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาจากชาวข่า ตระกูลมอญ-เขมร ชาวข่าได้นำดินมาปั้นเป็นภาชนะและเผาไว้ใช้สอยในครัวเรือนเช่น โอ่ง ไห ครก เป็นต้น ดินด่านเกวียนมีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีแร่เหล็กผสมอยู่ เมื่อเผาที่อุณหภูมิประมาณ 1200 องศาเซลเซียส ทำให้แร่เหล็กละลายออกมาเคลือบผิว ทำให้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีลักษณะเป็นสีสัมฤทธิ์มันวาวเมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน และด้วยคุณภาพพิเศษของภาชนะทั้งในด้านสีสันและความคงทนต่อการใช้งาน จึงทำให้ภาชนะด่านเกวียนเป็นที่นิยมชมชอบ ได้รับการเผยแพร่มากขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อมาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช
หลังจากได้เข้ารับฟังประวัติและวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนแล้ว เราก็ต่างแยกย้ายกันเดินชนร้านรวงต่างๆ ในชุมชนแห่งนี้ซึ่งมีร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เรียงรายอยู่สองฟากฝั่ง บ้างก็ชื่นชมกับความสวยงามของเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน บ้างก็สนใจกับการถ่ายรูปกับเครื่องปั้นดินเผารูปร่างหน้าตาแปลกใหม่ บ้างก็ปลาบปลื้มกับราคาที่ถูกสุดๆ ของเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีแห่งนี้ และได้ช่วยกันอุดหนุนชาวบ้านด่านเกวียนนี้ให้ได้มีกำลังใจในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนสืบต่อไป

ย้อนรอย 50 ปี ของดี ททท. ยุคเริ่มแรกกับทริปเขาใหญ่ – โคราช

เราแวะเติมพลังก่อนเดินทางกลับกรุงเทพที่ ร้านอาหารบ้านไม้ชายน้ำ รับประทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อยท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคที่เจ้าของบรรจงสรรหาบรรดาของตกแต่งร้านที่หาดูได้ยากในสมัยนี้ ซึ่งทำให้นอกจากจะอิ่มเอมกับอาหารแล้วยังได้แพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับสถานที่น่ารักๆ อีกด้วย และถึงตอนนี้บ้านเมืองเราก็กลับสู่ความสงบ เป็นเมืองไทยที่น่าอยู่เหมือนเดิมแล้ว เพื่อนๆ ที่มีเวลาและรักการท่องเที่ยวเมืองไทยของเราก็อย่าลืมแวะเวียนมาเที่ยวที่โคราช เมืองย่าโมกันนะค่ะ