สายการบินโลว์คอสท์ ไทย ไทเกอร์

Home / ข่าวท่องเที่ยว / สายการบินโลว์คอสท์ ไทย ไทเกอร์

การบิน ไทยผนึกกำลังกับไทเกอร์ แอร์เวย์ส จากสิงคโปร์ เปิดสายการบินต้นทุนต่ำ “ไทย ไทเกอร์” เริ่มบริการต้นปีหน้า ด้าน รมว.คมนาคม สั่งให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หวั่นแข่งกับการบินไทยและนกแอร์

สายการบินโลว์คอสท์ ไทย ไทเกอร์

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ว่า การบินไทยจะร่วมดำเนินการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ สัญชาติไทย ในชื่อ “สายการบินไทย ไทเกอร์” โดยร่วมทุนกับบริษัท ไทเกอร์ แอร์เวย์ส โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยการบินไทยจะถือหุ้น 49.8% และมีผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยอีก 1.2% ส่วนไทเกอร์ แอร์เวย์ส จะถือหุ้น 49% ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 900 ล้านบาท

นายโสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่ว่า การเปิดสายการบินไทย ไทเกอร์ จะกระทบต่อสายการบินนกแอร์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 39% หรือไม่นั้น เบื้องต้นได้รับการชี้แจงจากการบินไทยว่า สายการบินไทย ไทเกอร์ ไม่ได้แข่งขันกับการบินไทยและนกแอร์ เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ แต่ตนได้สั่งให้หาข้อมูลและศึกษารายละเอียดมากกว่าเดิม เพราะการลงทุนในปัจจุบันต้องใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ ตาม การจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น และยืนยันไม่ได้มีใบสั่งมาจากฝ่ายการเมือง เพราะหากสายการบินไทย ไทเกอร์ ขาดทุน การบินไทยก็ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ สำหรับสายการบินไทย ไทเกอร์ จะมีฐานการบินอยู่ในกรุงเทพฯ โดยจะให้บริการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในรัศมีการบิน 5 ชั่วโมง และจะเริ่มขายตั๋วได้ในเดือนกันยายนนี้ แต่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 โดยในปีแรกจะเปิดในบริการใน 8 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-กัวลาลัมเปอร์, กรุงเทพฯ-ปีนัง, กรุงเทพฯ-มาเก๊า, กรุงเทพฯ-เสิ่นเจิ้น, ภูเก็ต-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-มัดราส

ส่วนในปีที่ 2 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่, กรุงเทพฯ-ฮ่องกง, กรุงเทพฯ-กัลกัตตา และกรุงเทพฯ-ดานัง และในปีที่ 3 จะเปิดเพิ่มอีก 7 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-ไหโข่ว, กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์, กรุงเทพฯ-บรูไน, กรุงเทพฯ-เกาสง, ภูเก็ต-กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ-ตริวันดรัม คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 3.95 ล้านคน มีรายได้ 7,295 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 569 ล้านบาท

ที่มา : http://www.edtguide.com/dontmiss/activity_detail.php?id=6292