พวกเครื่องครัวมีกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ปิ่นโตเถาใหญ่ทำจากทองเหลือง กระต่ายขูดมะพร้าวทำด้วยไม้ การประกอบอาหารจะใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่ หุงข้าวในซึ้ง การผัดจะใช้ใบพายคน ซึ่งต้องเป็นคนที่แข็งแรงมาก เมื่อปรุงเสร็จก็แบ่งใส่ปิ่นโตใหญ่ ปิ่นโตเถาใหญ่จะแยกข้าวและกับข้าวออกคนละชั้น ปิ่นโตขนาดที่จัดแสดงนี้สามารถเลี้ยงทหารได้นับสิบคนให้อิ่มได้ทั้งวัน อีกทั้งยังสามารถเก็บความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ ยังมีพวกเครื่องใช้สำนักงานสมัยก่อน มีเครื่องพิมพ์ดีด กำปั่นเหล็กสำหรับเก็บทรัพย์สินและเอกสารมีค่าของทางราชการ มีตู้เก็บพระพุทธรูปโบราณที่ล้ำค่าในทางศิลปกรรม อีกห้องหนึ่งมีเครื่องดนตรีไทยที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ เพราะเปลี่ยนเป็นดนตรีสากล ทางวงดุริยางค์จึงนำเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้องวง ระนาด มามอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์
แม้เวลาจะผ่านมา 90 กว่าปี หลังการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้ช่างของกรมศิลปากร ตึกหลังนี้ก็กลับมาสวยงามสมบูรณ์ โดยรูปแบบแต่เดิมมาการที่ทำให้ประตูหน้าต่างตรงกัน ทำให้มีผลต่อการระบายอากาศที่ดี หลังจากเดินชมบนตึกแล้ว ก็สามารถลงไปดูชั้นใต้ดิน ซึ่งตึกสมัยก่อนมักออกแบบให้มีชั้นใต้ดินก็เนื่องมาจากว่าในช่วงศึกสงคราม คือสถานที่หลบภัยได้เป็นอย่างดี ห้องใต้ดินของที่นี่กว้างขวาง มีจำนวนห้องมากมาย และโดยรอบจะมีช่องที่ให้แสงสว่างเข้าได้ พร้อมกับสามารถมองลอดออกไปดูภายนอกได้

และที่เห็นเป็นเสาไม้วางยาวอยู่ อันนี้เมื่อก่อนเป็นเสาธงไม้สักต่อกันขึ้นไป 3 ท่อนสูง 18.6 เมตร ลักษณะทำเป็นลิ่มเชื่อมต่อกัน เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วลมกรรโชกแรงจึงหักลงมา แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ข้างในนี้
อีกวัตถุจัดแสดงที่โดดเด่นอยู่ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ปืนใหญ่ภูเขา ชื่อเต็มว่า ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ใช้ในระดับกองพล เข้ามาประจำการในกองทัพบกไทยเมื่อปี 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 6 จ.ส.อ.นพนันท์ให้รายละเอียดว่าปืนนี้ปากลำกล้องกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว ยิงได้ไกลที่สุด 6 กิโลเมตร ใช้พลยิงทั้งหมด 5 คน ทำหน้าที่ยิงลั่นไก ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ หาตำแหน่งข้าศึก ปืนใหญ่ภูเขาที่นำมาตั้งจัดแสดงไว้ด้านนอกนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว

เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ทั้งรวมความรู้เรื่องราวของค่ายทหารในแบบยุโรป ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งก็หาชมได้ไม่ง่ายนัก และการมาชมที่ก็ไม่ยากนักที่จะเดินทางมาก เพราะฉะนั้นแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาเที่ยว มาชมความสวยงามของที่นี่กันเยอะๆ ก่อนที่จะไม่มีให้ชม
บทความน่าอ่านจาก http://www.emaginfo.com ร่วมกับ travel.mthai.com
