กฏระเบียบศุลกากร ศุลกากร เที่ยวต่างประเทศ

ไขข้อสงสัย เที่ยวต่างประเทศ ขาเข้า-ออก สิ่งของไหนบ้างต้องสำแดง??

Home / ทิปท่องเที่ยว / ไขข้อสงสัย เที่ยวต่างประเทศ ขาเข้า-ออก สิ่งของไหนบ้างต้องสำแดง??

เที่ยวต่างประเทศ ขาเข้า-ออก
สิ่งของไหนบ้างต้องสำแดง??

หลังจากอิ่มเอมกับการ เที่ยวต่างประเทศ อย่างสุขกายสบายใจ ปิดจ๊อบการซื้อของฝาก และของชอบส่วนตัวเรียบร้อย แต่!! เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ของเหล่านั้นใช่จะว่าหอบหิ้วกลับมาเท่าไหร่ หรืออยากครอบครองกี่ชิ้นก็ได้ตามใจชอบนะคะ เพราะทันทีที่เราลงเครื่อง จะต้องผ่านการตรวจจากด่านศุลกากรก่อน ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาคาใจใครหลายคน ถกเถียงกันมายาวนาน ว่า เอ๊ะ?? สินค้าที่เราหิ้วมาเมื่อผ่านศุลกากร ต้องเสียภาษีไหม? ต้องเข้าช่องสำแดงรึเปล่า? งั้นวันนี้เรามาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อมๆ กัน เริ่มตั้งแต่ระเบียบการหิ้วสัมภาระและสิ่งของออกนอกประเทศเลยค่ะ

กรณีเดินทางออกนอกประเทศ

หากต้องการพกของใช้ส่วนตัวออกนอกประเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท ตลอดจนแก็ตเจ็ตต่างๆ เช่น กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป โน๊ตบุค แล็ปท็อป อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ ตามระเบียบศุลกากรต้องแจ้งเจ้าหน้าที่และลงทะเบียนสิ่งของต้องสำแดงก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อสิทธิในการยกเว้นภาษีอากร

ด้วยการลงทะเบียนหมายเลข serial numbers หรือ ลักษณะอื่นๆ ของสิ่งของนั้น เช่น ลักษณะเด่น รอยตำหนิ รูปพรรณ ณ ที่ทำการศุลกากรขาออกนอกประเทศ หลังตรวจรับ boarding pass แล้ว

ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่พกของสิ่งนั้นติดตัวไปเป็นจำนวนมาก เช่น พกกล้องไป 4 ตัว เลนส์อีก 4 ชุด หรือโทรศัพท์อีก 5 เครื่อง จนเป็นที่น่าสังเกต อย่างนี้ก็ควรสำแดง แต่ถ้ามีจำนวนน้อยชิ้นก็ไม่จำเป็นต้องสำแดงก็ได้

อ่าน : เอาอะไรขึ้นเครื่องบินได้บ้าง | ของเหลว สเปรย์ ข้อห้าม

ส่วนเรื่อง เงินสด (บาท) อนุญาตให้นำออกไปนอกประเทศได้ ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท ยกเว้นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย เช่น ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สามารถนำออกไปได้ไม่เกิน 500,000 บาท

***********************************************

กรณีเดินทางเข้าประเทศ

เมื่อคุณเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย สัมภาระที่คุณหิ้วมา จะต้องผ่านการตรวจด้วยเครื่อง X-ray ตามหลักมาตรฐานสากล ด่านศุลกากร โดยแบ่งช่องตรวจออกเป็น 2 ช่อง คือ ช่องเขียว กับ ช่องแดง

– ช่องที่ไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือ ช่องสีเขียว สำหรับผู้โดยสารที่มั่นใจว่าไม่มีสิ่งของต้องเสียภาษีอากร ก็เดินตัวปลิวเข้าช่องนี้สบายๆ มีรายละเอียดดังนี้

  1. มีของใช้ส่วนตัว ต่อ 1 คน ที่มีมูลค่ารวมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 หมื่นบาท (ไม่ใช่ ของต้องห้าม ของต้องกำกัด เสบียงอาหาร หรือเพื่อการค้า)
  2. บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือ ยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิน 250 กรัม
  3. ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเนื่องจากย้ายภูมิลำเนา โดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มีราคารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท
  4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตร ไม่เกิน 1 ลิตร
  5. นำเงินตราต่างประเทศเข้าได้ไม่เกิน 2 หมื่น US หรือ เทียบเท่า

** ของต้องกำกัด หมายถึง ของที่จำเป็นจะต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีใบอนุญาตินำเข้า หรือส่งออก

** ของต้องห้าม หมายถึง ของที่ห้ามไม่ให้นำเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ส่วนใครที่ไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลเบื้องต้น ก็ต้องเดินเข้าช่องสีแดงอย่างเลี่ยงไม่ได้นะจ๊ะ

– ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือ ช่องแดง สำหรับใครที่ลงทะเบียนสิ่งของสำแดงไว้ก่อนออกเดินทาง หรือ ใครที่มีสิ่งของต้องชำระภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งของที่นำเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีหรือไม่ โดยมีคุณลักษณะดังนี้

  1. ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน และ/หรือมีมูลค่ารวมกันเกิน 2 หมื่นบาท
  2. กระเป๋า-นาฬิกาแบรนด์เนมราคาเกิน 20,000 บาท ต้องชำระภาษี
  3. ของฝาก ของที่ระลึก ไม่ถือว่าเป็นของใช้ส่วนตัว หากมีจำนวนมูลค่ารวมกับของใช้ส่วนตัวแล้วเกิน 2 หมื่นบาท ต้องเสียภาษี
  4. ของที่นำมาเพื่อทำการค้า แม้ว่าจะไม่ถึง 2 หมื่นบาท แต่หากมีเจตนาเพื่อเอาไปขายต่อ ก็ต้องสำแดงด้วย
  5. “ของต้องกำกัด” เช่น พระพุทธรูป ก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมศิลปากร,  อาวุธปืน ก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมการปกครอง หรือ กระทรวงมหาดไทย, บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกรมสรรพสามิต ฯลฯ
  6. “ของต้องห้าม” เช่น  สารเสพติด สื่อลามก ของลอกเลียนแบบ ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ปลอม สัตว์ป่าสงวน ฯลฯ
  7. เสบียงอาหาร อาหารเสริม เครื่องสำอาง ที่มีเยอะเกินพอสมควรสำหรับที่ตนเองใช้ เช่น เครื่องสำอางชนิดเดียวกันแต่มีหลายชิ้น จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

ซึ่งหากใครตีเนียน หลีกเลี่ยง แกล้งไม่รู้หนูไม่เห็น แล้วเจ้าหน้าสุ่มตรวจเจอภายหลังล่ะก็ งานนี้ต้องเสียทั้งภาษีและค่าปรับเลยนะจ๊ะ มีบทลงโทษระบุไว้ชัดเจน คือ

  • ปรับ 4 เท่าของมูลค่าของ โดยบวกค่าภาษีและอากรแล้ว
  • จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรต้องถูกริบเป็นของแผ่นดิน

คราวต่อไป หากเพื่อนๆ มีแพลน ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็อย่าลืมปฏิบัติตามกฏระเบียบการสำแดงสิ่งของระหว่างเดินทางเข้าออกประเทศ ด้วยนะคะ จะได้ไปเที่ยวอย่างสบายใจ ไม่กังวลว่าจะทำผิดกฏหมาย และปิดทริปอย่างประทับใจ เป็นความทรงจำดีๆ ไปอีกนาน

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : suvarnabhumiairport, mushroomtravellinethaitravel