ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ที่เที่ยวเยาวราช มูลนิธิเทียนฟ้า วงเวียนโอเดี้ยน วัดบำเพ็ญจีนพรต วัดมังกรกมลาวาส วัดเล่งเน่ยยี่ วัดไตรมิตร ศาลเจ้ากวนอูและเทพเจ้าม้า ศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า ห้างทองตั้งโต๊ะกัง เที่ยวถนนเยาวราช เยาวราช

ลายแทง 9 ที่เที่ยวเยาวราช ตระเวนไหว้เจ้า เข้าวัด ถ่ายรูป เดินเล่น

Home / นักเที่ยวเชี่ยวทาง / ลายแทง 9 ที่เที่ยวเยาวราช ตระเวนไหว้เจ้า เข้าวัด ถ่ายรูป เดินเล่น

เยาวราช หรือ ไชน่าทาวน์เมืองไทย ถนนที่ไม่เคยหลับไหล เพราะคึกคักทั้งกลางวันและคืน เต็มไปด้วยอาหารอร่อยตั้งแต่ร้านแบบสตรีทฟู้ดยันภัตตาคาร เรียกว่าเป็นสวรรค์นักชิมโดยแท้จริง นอกจากนั้นยังมีศาลเจ้า รวมถึงวัดอีกหลายแห่งให้เราได้เข้าไปกราบไหว้ วันนี้ Travel.MThai เลยขออาสาพาตระเวนไหว้เจ้า และเดินเล่นทั่วเยาวราชกัน ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็เช็คอินครบหมดทุกที่เลยจ้า

ลายแทง 9 ที่เที่ยวเยาวราช
ตระเวนไหว้เจ้า เข้าวัด

1. วัดไตรมิตร

ขอบคุณภาพจาก คุณ Wisut Siriwiriyanonkul http://wisthebo.multiply.com

เดิมชือ “วัดสามจีน” เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งมีความงดงามจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ จนได้รับการบันทึกลงกินเนสส์บุค ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ไหว้พระขอพรเรียบร้อยแล้ว แวะชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชกันต่อ ตั้งอยู่บนชั้นสองของพระมหามณฑปวัดไตรมิตร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าถึงจุดกำเนิดของชุมชนจีนที่สำเพ็ง และการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเลในสัมยรัชกาลที่ 1-3 จนกระทั่งสำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ


2. ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ
(วงเวียนโอเดี้ยน)

ข้ามฝั่งจากวัดไตรมิตรมาจะเจอ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ หรือ ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย–จีน ซึ่งตั้งอยู่ตรงเวียนโอเดี้ยน ส่วนต้นของถนนเยาวราช โดยชาวไทยเชื้อสายจีน บริษัท ห้างร้าน กลุ่มมวลชน หน่วยงานราชการ ได้ร่วมใจกันจัดสร้าง เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2542 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์จนถึงปัจจุบัน

ยอดหลังคาซุ้มประตู มีมังกร 2 ตัว ชูตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2552” ส่วนใต้ซุ้มประตูจารึกคำว่า “เทียน” หมายถึงฟ้า มุมทั้งสี่มีรูปค้างคาว หรือ “ฟู่” พ้องเสียงกับ คำว่าโชคลาภ ในภาษาจีนกลาง และรูปต้นไผ่ หรือ “เต็ก” ภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าคุณธรรม


3. ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

จากวงเวียนโอเดียนเดินต่อมาประมาณ 5 นาที ก็จะถึง มูลนิธิเทียนฟ้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2445 เป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทย โดยการรวมตัวกันของกลุ่มชาวจีน ๕ ภาษา เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ ให้ได้รับการรักษาพยาบาล มีทั้งการรักษาแบบแผนปัจจุบันและแผนจีน

ภายในมูลนิธิแห่งนี้ มีศาลรูปเคารพของ เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ประดิษฐานเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และมีสุขภาพแข็งแรง


4. ห้างทองตั้งโต๊ะกัง (พิพิธภัณฑ์ทองคำ)

ห้างทองตั้งโต๊ะกัง เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ในซอยวานิช 1 เยาวราช เป็นตึกเจ็ดชั้นที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา

บนชั้น 6 ของห้างทองนี้ ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำทอง เช่น แม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำ ตราชั่งไม้โบราณ ไหน้ำกรดที่ใช้เก็บน้ำกรดเพื่อใช้สกัดทองคำบริสุทธิ์ เบ้าหลอมทอง แท่นตีทอง และเตาต้มทอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือประเภทปากคีบ คีมหนีบ ค้อน กรรไกร ตะไบ ซึ่งทั้งหมดเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำลวดลายทองรูปพรรณ


5. วัดบำเพ็ญจีนพรต

เดิมชื่อวัด “ย่งฮกอำ” คาดว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่งฮกยี่” และกลายเป็น “วัดบำเพ็ญจีนพรต” ในปัจจุบัน นับว่าเป็นหนึ่งในวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศก็ว่าได้ แต่มีพระสงฆ์จีนจำพรรษาอยู่

นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระสังกัจจายน์ พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ พระสกันทโพธิสัตว์ ซำปอฮุก  และสิ่งที่โดดเด่นของวัดคือมี พระอรหันต์สิบแปด สร้างด้วยกระดาษสังเคราะห์ที่ยังคงรักษาความสมบูรณ์ของศิลปะไว้ได้อย่างดี


6. วัดมังกรกมลาวาส

ชาวไทยเชื้อสายจีนคงไม่มีใครไม่รู้จัก วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ โดยถือเป็นวัดส่วนหัวมังกรตามความเชื่อของชาวจีน จากประตูทางเข้า เข้าไปจะเจอวิหารท้าวโลกบาล มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ชาวจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่าง ๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัด ได้แก่ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ และพระไภษัชยคุรุพุทธะ

ที่นิยมไหว้ขอพรกันก็คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” , เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” , พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว” รวม ๆ แล้ว เทพเจ้าในวัดจะมีทั้งหมด 58 องค์


7. ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ

เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ภายในวัดก่อสร้างด้วยศิลปะจีนแบบแต้จิ๋ว เสาเป็นรูปทรงเม็ดข้าวแบบปล่องตรงกลางนิด ๆ พันรอบด้วยมังกรตัวยาว นอกจากนั้นยังตกแต่งสถานที่ด้วยวัตถุโบราณล้ำค่าหาดูได้ยาก มีระฆังโบราณสมัยราชวงศ์หมิง และกระถางธูปที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5

ไฮไลท์ของการไหว้ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ อยู่ที่ผ้าแดงเรียกว่า ฮู้ หรือ คุยกี ซึ่งมักจะเขียนชื่อตนเองแล้วนำไปผูกขอพรไว้กับขาโต๊ะที่วางกระถางธูป เชื่อว่าเป็นโต๊ะมังกรที่สามารถสื่อสารไปถึงเทพเจ้าได้ ส่วนใหญ่จะขอพรให้เทพเจ้าช่วยเปิดทางให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง


8. ศาลเจ้ากวนอูและเทพเจ้าม้า

ศาลเจ้ากวนอูและเทพเจ้าม้า ตั้งอยู่ที่ตลาดเก่าเยาวราช สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2435 เป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ผู้คนนิยมมาขอพรเกี่ยวกับหน้าที่การงาน เชื่อว่าจะได้เป็นเจ้าคน นายคน และมีลูกน้องบริวารที่ดี ส่วนเทพเจ้าม้า ก็เชื่อกันว่าเป็น ม้าเส็กเทา ของเทพกวนอู ผู้คนที่มีลูกเล็ก ๆ มักจะมาขอให้ลูกเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ส่วนใหญ่จะไหว้ด้วยผักบุ้ง หรือ ผักกาด


9. ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง เกิดจากความศรัทธาและความเชื่อของชาวจีน ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เปรียบเสมือนเทพผู้เป็นใหญ่ที่คอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรในพื้นที่ให้อยู่อย่างร่มเย็น ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือชาวจีนในอดีต จึงเป็นที่เคารพบูชาเป็นอย่างมาก

 

ขอบคุณรูปภาพจาก : wikimedia, Chinatown Yaowarach ไชน่าทาวน์ เยาวราช, ห้างทองตั้งโต๊ะกัง, chinatownyaowarach, TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง, Amazing Thailand


บทความที่เกี่ยวข้อง

มัดรวม 10 ร้านตำนาน เยาวราช ถนนแห่งความอร่อย