บ้านแม่กำปอง ชื่อนี้ได้ยินครั้งแรกแล้วไม่คุ้นหูเลยครับ แต่พอได้ฟังว่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาที่ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบโฮมสเตย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาไม่ขาดสาย เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่ ผมได้ฟังแค่นี้ก็รู้สึกอยากไปสัมผัสสักครั้งแล้วล่ะครับ



บ้านแม่กําปอง เชียงใหม่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน มีพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 6.22 ตารางกิโลเมตร ระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 50 กิโลเมตร ด้วยสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ดอนและระดับความสูงถึง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้ที่นี่มีอากาศเย็นและชื้นตลอดทั้งปี บ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านที่ทำเมี่ยง กาแฟ และชา เป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะชาที่ชาวบ้านเอาใบมาทำเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอย่างหมอนใบชาสำหรับจำหน่าย ที่นี่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิตที่นี่มากกว่าคนไทยครับ ด้วยการเดินทางที่สะดวกที่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ เพราะสามารถนั่งเครื่องมาลงที่เชียงใหม่แล้วเช่ารถมาได้ก็ไม่ลำบาก หรือจะเดินทางด้วยการขับรถมาให้ที่นี่เป็น 1 ในโปรแกรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่หรือภาคเหนือก็ได้



เราตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวที่นี่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าถึงแม้จะเป็นเทศกาลหลัก แต่ด้วยระบบของโฮมสเตย์ที่ปัจจุบันมี 29 หลังเท่านั้น จะทำให้เราไม่ได้เจอกับมวลมหาประชาชนจากกรุงเทพฯ เหมือนที่อื่นแน่นอนครับ ระบบโฮมสเตย์ที่นี่ถูกพัฒนาโดย “พ่อหลวง” ด้วยการเปลี่ยนแนวความคิดจากการพึ่งพารัฐมาพึ่งพาตนเอง เรี่มต้นจากการสำรวจปัญหาของชุมชน สร้างความเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน จนกลายมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยมีปลายทางคือความยั่งยืนของทั้ง “คน” และ “ทรัพยากร” กว่าสิบปีที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรคไม่เพียงไม่อาจทำลายความฝันของการเป็นชุมชนเข้มแข็ง ตรงกันข้ามมันกลับเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกวันนี้ชาวบ้านแม่กำปองมีสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย มีเงินชดเชยรายได้ยามป่วยไข้ แถมยังได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่ร่ำรวยทั้งทรัพยากรและความสุข นึกแล้วก็อิจฉาคนที่บ้านแม่กำปองนี้จังเลยครับ




3 วัน 2 คืน สำหรับผมแล้วที่นี่ได้มอบความสุขความอบอุ่นได้อย่างเต็มอิ่ม เรียกได้ว่าที่นี่มันมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเองครับ เสน่ห์แรกที่ได้รับคือ “อิ่มอุ่นใจ” บ้านพักที่ผมได้พักเป็นบ้านของป้าพุธในโครงการของพ่อหลวงพรหมมินทร์ ที่ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ทั้งอาหารการกิน ห้องพัก ห้องน้ำ ดีกว่าที่เราคิดไว้มากครับ ตื่นมาตอนเช้าป้าพุธก็ต้อนรับเราด้วยกาแฟสดที่ใช้กาแฟในแม่กำปองนี้ พร้อมทั้งเตรียมชุดของแห้งเอาไว้ให้เราสำหรับใส่บาตรพระด้วย




เสน่ห์ถัดมาที่เราได้รับคือ “เสียงเสนาะหู” ด้วยน้ำตกแม่กำปองที่ไหลลงมาผ่านกลางหมู่บ้านแม่กำปอง ทำให้เราได้ยินเสียงน้ำตกไหลผ่านตลอด 24 ชั่วโมง มันช่างไพเราะเสนาะหูสำหรับคนกรุงเทพฯ อย่างเราๆ ครับ ระหว่างที่เราเดินเที่ยวถ่ายภาพบรรยากาศในหมู่บ้านเราจะเห็นว่าน้ำตกไหลผ่านบ้านของชาวบ้านแม่กำปองทุกหลัง นึกแล้วก็อิจฉาชีวิตคนที่นี่ครับ



และเสน่ห์ที่ทำให้เราเต็มอิ่มคือ “ความงามจากธรรมชาติ” ภูมิประเทศของที่นี่เป็นที่ดอนที่มีภูเขาสลับไปมา เวลามองไปทางไหนเราก็จะเห็นธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา โดยเฉพาะน้ำตกแม่กำปองที่เปรียบเสมือนสายธารน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้าน นี้ไว้ที่มีถึง 7 ชั้น ก็มีความสวยงามไม่แพ้ที่ไหน



วัดแม่กำปอง เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านแม่กำปอง ด้วยอากาศที่เย็นชื้นตลอดทั้งปี ที่หลังคาอุโบสถจึงมีมอสขึ้นเขียวหนาแน่นสวยงามมาก ใครมาที่นี่ก็ต้องมาถ่ายรูปกลับไป เป็นเสมือนจุดท่องเที่ยวอีก 1 จุดที่ช่างภาพไม่ควรพลาด ถ้าจังหวะดีแสงลงพอดี ภาพจะสวยขึ้นครับ










เดิมในวัดแม่กำปองนี้มีวิหารไม้ที่สร้างอยู่เรียบง่ายสมส่วนงดงาม ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างอุโบสถกลางน้ำที่ตั้งอยู่กลางธารน้ำ ที่ไหลลงมาจากน้ำตกแม่กำปอง สามารถเดินลงจากตัววัดลงสู่ลำธารด้านล่างได้ไม่ยาก นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเที่ยวชมและถ่ายภาพได้




อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ครับ เพราะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้นมันเป็นการท่องเที่ยวแบบยั้งยืนจริงๆ ชาวบ้านได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ชาวบ้านอยู่ได้ ระบบของการรวมกลุ่มจะทำให้นายทุนเข้ามาหาผลประโยชน์ยาก ใครสนใจท่องเที่ยวลองติดต่อที่นี่นะครับ นายพรหมมินทร์ พวงมาลา 053-315-111 / 085-675-4598 เว็บไซต์ http://www.mae-kampong.com/
===============================================================================
Shutter tips – การถ่ายภาพน้ำตกให้พริ้วเป็นสาย

– เทคนิคการถ่ายภาพน้ำตก เป็นการเล่นกับ speed shutter ครับ การที่เราจะถ่ายให้น้ำตกเป็นสายพริ้วสวยงาม จะต้องใช้ speed shutter ที่ต่ำ ทำให้เราต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นคือ ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์ เพื่อความนิ่งและชัดเจนของภาพที่ได้ โดยจะต้องถ่ายรูรับแสงที่เล็กๆ คือ F10 ขึ้นไปถึง F22 แล้วแต่สภาพแสง ณ ตอนนั้น
– ไม่จำเป็นต้องเปิด speed shutter นานมากก็ได้ เราอาจจะใช้วิธีตั้ง speed shutter เป็นหลักที่ 2-5 วินาที แล้วลองปรับรูรับแสงให้สัมพันธ์ตามค่า speed shutter ที่ตั้งไว้ก็ได้ ซึ่งสามารถใช้โหมด TV หรือ M ในการถ่ายก็ได้ครับแล้วแต่ความถนัด
– แต่หากสภาพความเป็นจริงมีสภาพแสงที่มากเกินไป แนะนำให้ใช้ ND Filter เพื่อลดแสงเป็นตัวช่วยครับ

*ห้ามนำภาพหรือบทความนี้ไปเผยแพร่ก่อนได้รับการอนุญาตจากเว็บไซต์ travel.mthai.com
===============================================================================
แผนที่บ้านแม่กำปอง