การทอผ้า ที่เที่ยวบุรีรัมย์ บ้านสนวนนอก

ผ้าหางกระรอก เอกลักษณ์ท้องถิ่นทางภูมิปัญญา ของชุมชนบ้านสนวนนอก

Home / ภาคอีสาน / ผ้าหางกระรอก เอกลักษณ์ท้องถิ่นทางภูมิปัญญา ของชุมชนบ้านสนวนนอก

ผ้าหางกระรอก เป็นผ้าที่มีประวัติสืบทอดมายาวนานของชุมชนบ้านสนวนนอก เป็นผ้าทอโบราณที่มีลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความประณีตและงดงาม ซึ่งยังสามารถสามารถพบได้ในแถบภาคอีสานใต้ และภาคใต้อีกด้วย

ตำนาน ผ้าหางกระรอก

เริ่มตั้งแต่คนโบราณรู้จักการเลี้ยงไหมและการทอผ้า จนพัฒนาเทคนิคต่างๆ เช่น การควบเส้น (การน้ำไหม 2 สีมาสาวรวมกันเป็นเส้นเดียว) ประกอบกับชุมชนบ้านสนวนนอกสมัยนั้นมีต้นสนวนขึ้นเยอะมาก มักเป็นที่อาศัยของกระรอก และด้วยนิสัยช่างสังเกตของคนโบราณ พบว่าลายของหางกระรอกนั้นคล้ายกับไหมที่ถูกควบเส้นแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ ผ้าหางกระรอก นับตั้งแต่บัดนั้น

ลักษณะของ ผ้าหางกระรอก

จะใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ การควบเส้น ตามความเชื่อในเรื่องของความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัว และสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันนี้เรียกว่า กะนีว หรือ ผ้าหางกระรอก ซึ่งวิธีการนี้มักเจอแต่ในแถบอีสานใต้ และนิยมใช้เพียงสีเขียวควบเหลือ หรือแดงควบเหลือง

ข้อดีของ ผ้าหางกระรอก

เมื่อนำ ผ้าหางกระรอก มาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นที่ต่างกันจะทำให้เกิดลวดลายเหลื่อมกัน ให้ความสวยงามที่ได้จากคู่สีที่ตัดกัน ลักษณะของ ผ้าหางกระรอก นี้ ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับเป็นเกลักษณ์เฉพาะ ถ้านำไปส่องกับแดดยิ่งจะเห็นความเงางามมากขึ้น และแยกสีได้อย่างชัดเจน ส่วนเนื้อผ้าที่ได้จะมีความแน่นเกิดจากไหมที่เป็นเส้นคู่

เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย

ดูๆ ไปแล้ว ผ้าหางกระรอก ก็คือการใช้ไหม 2 เส้น 2 สีมาสาวรวมกัน แต่ถ้าได้ลองทำจริงๆ จะรู้เลยว่าไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะ ผ้าหางกระรอก ที่สวยงามต้องใช้คนสาวไหมที่มีความชำนาญ จนสามารถกำหนดว่าอยากจะได้เกลียวถี่หรือเกลียวห่างตามต้องการ เพราะหากทำไม่ดีก็จะขึ้นลายไม่เท่ากัน ดังนั้นทั้งเส้นจะต้องมีความสม่ำเสมอตลอด ไม่เช่นนั้นเวลานำไปทอจะขึ้นลายสลับไปมาไม่เกิดความสวยงาม และเวลานำไปทอก็ต้องเลือกหลอดให้ดี สีต้องสม่ำเสมอเท่ากันทุกหลอด ไม่เป็นขุยเป็นก้อน

การประยุกต์ ผ้าหางกระรอก

แต่เดิมวัฒนธรรมของชาวเขมรคือ ผ้าหางกระรอก ส่วนทางลาวมีชื่อเสียงเรื่องผ้าซิ่น จุดหลอมรวมของ 2 วัฒนธรรมคือที่ชุมชนบ้านสนวนนอก ได้นำเอกลักษณ์ของทั้ง 2 เชื้อชาติมาประยุกต์เป็น ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ซึ่งกลายมาเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำชุมชนบ้านสนวนนอก และยังได้รับคัดเลือกเป็นผ้าประจำจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย