เที่ยวพม่า

พม่า หรือ เมียนมา ? เรียกยังไงดี

Home / ทิปท่องเที่ยว / พม่า หรือ เมียนมา ? เรียกยังไงดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบปี 2556/2013 ที่ผ่านมา พม่า (หรือ Myanmar) เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจ หรือถูกจับจ้อง (Focus) เป็นพิเศษจากประชาคมโลก มีผู้คนหลากหลายอาชีพหลั่งไหลเข้าไปมากมายในลุ่มอิระวดีแดนทอง ตั้งแต่นักท่องเที่ยว นักแสวงบุญ นักลงทุน นักกีฬา ไปจน กระทั่งนักสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุที่ประเทศนี้ยังมั่งคั่งด้วยทรัพยากร ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่ทุก “นัก” แสวงหา ทว่าปิดบ้านเงียบเชียบ ดำรงตนเป็น “ฤษีแห่งเอเชีย” มานานนับกึ่งศตวรรษ

พม่า หรือ เมียนมา ? เรียกยังไงดี

myanmar-flag

ในโอกาสที่วันนี้ 4 มกราคม เป็นวันชาติ และวันที่พม่ามีเอกราช ปราศจากการครอบงำจากเจ้าอาณานิคมอย่างสมบูรณ์เป็นปีที่ 65 เสมือนหนึ่งเป็นการเกิดใหม่ของชนชาติที่เป็นใหญ่ในลุ่มน้ำอิระวดี “ความยอกย้อนของกาลเวลา” จึงขอย้อนกลับไปสู่ประเด็นที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของประเทศนี้ คือชื่อชนชาติและชื่อประเทศที่ชวนให้สับสน เพราะปัจจุบันยังมีคนใช้ทั้ง เบอร์มา พม่า ม่าน เมียน เมียนมาร์ ในความหมายถึงประเทศเดียว และผู้คนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด แต่ไยจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกัน

บทความ “เมียนมา นามใหม่ของพม่าในทรรศนะเชิงชาตินิยม” โดย ผศ.วิรัช นิยมธรรม ตีพิมพ์ในจุลสาร “รู้จักพม่า” ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ฉบับ พ.ค. – มิ.ย.2540 ระบุว่า… จากหลักฐานในจารึกโบราณอายุกว่า 900 ปี ค้นพบที่เมืองพุกาม ชาวพม่าเรียกตนเองมานานแล้วว่า “เมียนมา” หรือ “มยันมา” สันนิษฐานว่าเป็นคำผสมระหว่างคำว่า “เมียน” หรือ “มยัน” แปลว่ารวดเร็ว หรือ “มยีง์” แปลว่าม้า กับคำว่า “มา” ซึ่งแปลว่าแกร่งหรือชำนาญ รวมความแล้วคำว่า “เมียนมา” (Myanmar) หมายถึงความคล่องแคล่วปราดเปรียว หรืออาจแปลว่าม้าที่องอาจ สอดคล้องกับลักษณะทางชนชาติพม่าในอดีตที่รบเก่ง มีชื่อเสียงในการทำสงครามบนหลังม้า เฉกเช่นต้นตระกูลที่เป็นชาวทิเบต เพราะนักชาติพันธุ์วิทยาจัดชาวพม่าเป็นกลุ่มย่อยของชาวทิเบต เรียกว่า Tibetan Burma อาศัยอยู่ทางตอนใต้ดินแดนทิเบต (ที่ถูกต้องเป็น Tibetan Myanmar)

temple

ทั้งนี้ ผศ.วิรัชระบุว่า การถอดคำ “Myanmar” เป็น “เมียนมาร์” (มี“ร์”) เป็นการถอดคำตามภาษาอังกฤษ ซึ่งผิด เพราะคำเขียนในภาษาพม่าจะไม่มี“ร.เรือ การันต์” ฉะนั้น คำที่ถูกต้องคือ“เมียนมา” (ไม่มี“ร์”) ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อย่าง ดร.ธิดา สาระยา บันทึกไว้ในหนังสือ “มัณฑะเล” ว่าชื่อ พม่า – เมียนมา หรือเมี่ยน หมายถึง “ชนกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนโลก” อันเป็นโลกทัศน์เริ่มแรกของชาวพม่าแต่โบราณ

ส่วนคำว่า “เบอร์ม่า” (Burma) สันนิษฐานว่าชาวอังกฤษที่เข้ามาในพม่ายุคแรกๆ จดบันทึกชื่อดินแดนนี้โดยฟังจากสำเนียงชาวพม่าภาคใต้ หรือฟังจากชาวยะไข่ หรือชาวมอญ จึงผิดเพี้ยนไปเป็น “บะมา”/ “เบอร์มา” ส่วนที่คนไทยเรียก “พม่า” สันนิษฐานว่าไทยรับชื่อ “พม่า” ผ่านภาษาเขียนของฝ่ายมอญ ที่เขียนว่า “พม่า” หรือไม่ก็เรียกตามเสียงชาวพม่าใต้ ที่ออกเสียงว่า “บะมา” อย่างไรก็ตาม ชาวไทใหญ่และชาวล้านนาเชียงใหม่เรียกพม่าว่า “ม่าน” มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นับเป็นคำเรียกที่ใกล้เคียงชื่อ “เมียนมา” มากที่สุด

เมื่อพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในวันที่ 4 มกราคม 2491 พม่ายังใช้ชื่อประเทศตามอังกฤษว่า The Union of Burma จนกระทั่งพ.ศ.2532 รัฐบาลทหารพม่าประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น The Union of Myanmar ด้วยเหตุผลว่าเป็นการออกเสียงที่ถูกต้อง และคำว่า “เมียนมา” ก็มีความหมายครอบคลุมทุกชนเผ่าที่อยู่ในดินแดนนี้ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารระบุว่า การกระทำเช่นนี้ คือความพยายามกลืนชนทุกเผ่าพันธุ์ให้กลายเป็นพม่า ทั้งๆ ที่พม่าประกอบด้วยชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ร่วมกันเป็นเจ้าของแผ่นดิน อีกทั้งความสำเร็จของขบวนการต่อสู้กอบกู้เอกราช ก็เกิดจากความร่วมมือของชนเผ่าต่างๆ ไม่ใช่ชาวพม่าแต่ฝ่ายเดียว แต่แน่นอนว่า ข้อโต้แย้งนี้ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลทหาร

mynmar

จากนั้น ในปี 2548 รัฐบาลทหารพม่าประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้ง ไป “เนปิดอว์” ที่แปลว่า “ราชธานี” ถึงปี 2553 ก็ประกาศเปลี่ยนธงชาติ พร้อมกับเปลี่ยนตราแผ่นดิน และเพลงชาติใหม่ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนสิ่งสำคัญทั้งหลายนี้ คณะนายทหารไม่เคยให้เหตุผลกับชาวพม่า ในขณะที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างดังกระหึ่มว่า เป็นไปตามคำแนะนำของหมอดู! จนกระทั่งพม่าเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ปลายปี 2553 วันที่ 31 มกราคม 2554 รัฐสภาพม่าก็ลงมติเปลี่ยนชื่อประเทศอีกครั้ง เป็น ““สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา”” (หรือจากเดิม The Union of Myanmar เป็น The Republic of the Union of Myanmar) ปัจจุบันพม่ามีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาประชาชน สภาชาติพันธุ์ และสภาท้องถิ่น โดยมีนายพลเต็ง เส่ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นทั้งประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาล และมีนางออง ซาน ซู จี เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา แล้วคนไทยจะเรียกชื่อประเทศนี้อย่างไรดี? ในจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ฉบับมิถุนายน 2532 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้หารือว่าสมควรจะกำหนดเรียกชื่อประเทศพม่า (ที่ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการนี้อย่างไร) ราชบัณฑิตยสถานโดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยเห็นว่า คนไทยรู้จักและมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับประเทศนี้ในชื่อว่า พม่า มาแต่โบราณกาล จึงเห็นควรให้เรียกชื่อนี้อย่างเป็นทางการว่า “สหภาพพม่า” ตามที่เคยใช้มาแต่เดิม เช่นเดียวกับที่เรียกชื่อประเทศอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่ตรงกับชื่อภาษาอังกฤษของประเทศนั้น เช่น จีน (China) ญี่ปุ่น (Japan) โปรตุเกส (Portugal) อังกฤษ (England) ฝรั่งเศส (France) ฯลฯ

ราชบัณฑิตย์ท่านยืนยันมาตั้งแต่ปี 2532 แต่นำมาทบทวนกันอีกครั้ง จะได้ไม่งุนงงสงสัยว่าจะใช้ “พม่า” หรือ “เมียนมา” ดี?

ที่มา /www.bangkokbiznews.com