10 เมืองสวรรค์ สำหรับคนชอบปั่นจักรยาน

Home / ท่องเที่ยวรอบโลก / 10 เมืองสวรรค์ สำหรับคนชอบปั่นจักรยาน

นิตยสารฟอร์บส์ เผยรายชื่อเมืองที่จักรยานเป็น “เจ้าถนน” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเมืองใหญ่ หรือเมืองสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้รถจักรยานภายใต้ระบบ “ไบค์แชริ่ง” แทนการเดินทางด้วยรถยนต์ หรือบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ… มาดูกันว่าในโลกนี้ มีเมืองใดบ้างที่จักรยานกำลังฮอตฮิต และครองเมืองอยู่ใน ขณะนี้

 10 เมืองสวรรค์ สำหรับคนชอบปั่นจักรยาน

 

นิวยอร์ก

หลังเจอโรคเลื่อนมานาน ในที่สุดกรุงนิวยอร์ก ก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการระบบไบค์แชริ่งใหญ่สุดในอเมริกา ภายใต้ชื่อ ”ซิตี้ไบค์ (Citi Bike)” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท อัลตร้า ไบซิเคิล แชร์   และมีซิตี้กรุ๊ปเป็นสปอนเซอร์หลัก โดยมีสเตชั่นหรือจุดให้บริการราว 300 แห่งกระจายอยู่ในย่านแมนฮัตตันและบรู๊คลิน และมีรถจักรยานกว่า 4 พันคันไว้คอยให้บริการประชาชนหรือนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนซื้อตั๋ว หรือบัตรแบบรายปี ($95 หรือประมาณ 3 พันบาท) ซึ่งจะมีกุญแจปลดล็อคให้ สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตลอดทั้งปี แต่ใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 45 นาทีเท่านั้น หรือจะเลือกซื้อตั๋วระยะสั้นแบบ 7 วัน ($25 หรือประมาณ 8 ร้อยบาท) และแบบ 24 ชั่วโมง ($9.95 หรือประมาณ 320 บาท) ซึ่งสองแบบหลังซื้อตั๋วได้ที่จุดบริการ สามารถใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งเช่นกัน แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 30 นาที หากใช้เกินเวลาจะถูกเก็บเงินเพิ่มผ่านบัตรเครดิต แต่ก็มีเทคนิคไม่ให้เสียเงินเพิ่มด้วยการคืนรถที่จุดให้บริการภายในเวลาที่ กำหนด (สเตชั่นใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ๆ) แล้วค่อยนำรถออกมาใช้ใหม่

 

ปารีส

กรุงปารีส เปิดให้บริการระบบ ”ไบค์แชริ่ง” ภายใต้ชื่อ “เวลิป (Vélib’)” นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2007 (พ.ศ. 2550) เป็นต้นมา ปัจจุบัน มีรถจักรยานภายใต้ระบบดังกล่าวมากกว่า 2 หมื่นคัน และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่น 1,800  จุด หรือทุกๆ 300 เมตร  เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีตั๋วให้เลือกทั้งแบบรายวัน (1.7 ยูโร หรือประมาณ 72 บาท), ราย 7 วัน (8 ยูโร หรือประมาณ 340 บาท) และแบบรายปี (เริ่มต้นที่  29 ยูโร หรือประมาณ 1,232 บาท) สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 หรือ 45 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตั๋วที่เลือก

เดิมทีกรุงปารีสได้ชื่อว่ามีระบบไบค์แชริ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันร่วงลงมาอยู่เป็นอันดับ 3 รองจากเมืองอู่ฮั่นและเมืองหังโจวของจีน (เมืองหังโจว เพิ่งเปิดให้บริการระบบไบค์แชริ่ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีรถจักรยานทั้งสิ้น 66,500 คัน และมีจุดบริการหรือสเตชั่น 2,700 จุด ขึ้นแท่นระบบไบค์แชริ่งใหญ่ที่สุดในโลก)

 

ลอนดอน

กรุงลอนดอน เปิดให้บริการระบบไบค์แชร์ริ่ง “บาร์เคลย์ส ไซเคิล ไฮร์” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่นายบอริส จอห์นสัน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีประจำกรุงลอนดอน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ”บอริส ไบค์ส” ปัจจุบันมีรถจักรยานทั้งสิ้น 6,000 คัน  และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่น 400 จุดกระจายอยู่ทั่วทั้งเมือง รวมทั้งที่บริติช มิวเซียมและบัคกิ้งแฮมพาเลซ ทั้งนี้ นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแคทเธอรีนก็ทรงใช้บริการ ”บอริส ไบค์ส” เป็นประจำด้วยเช่นกัน

ผู้ใช้บริการสามารถเลือกซื้อตั๋วแบบรายปี (90 ปอนด์ หรือประมาณ 4,480 บาท), แบบ 7 วัน (10 ปอนด์ หรือประมาณ 498 บาท) และแบบ 24 ชั่วโมง (2 ปอนด์ หรือประมาณ 100 บาท) สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาที

 

มอนทรีออล

เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เปิดให้บริการระบบไบค์แชร์ริ่ง “ไบซี่ โปรแกรม” (มาจากคำว่า “ไบซิเคิล” และ “แท็กซี่”) เมื่อ 4 ปีก่อน ปัจจุบัน มีรถจักรยาน 5,000 คัน และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่น 400 จุด ผู้ที่เป็นสมาชิกสามารถเลือกซื้อตั๋วแบบรายปี (80.5 เหรียญแคนาดา หรือเกือบ 2,500 บาท), ราย 30 วัน (31.25 เหรียญแคนาดา หรือประมาณ 950 บาท), หรือตั๋วระยะสั้นสำหรับ 24 ชั่วโมง (5 เหรียญแคนาดา หรือประมาณ 150 บาท) สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 45 นาที

ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก มีตั๋วให้เลือก 2 แบบ คือ ตั๋วสำหรับ 72 ชั่วโมง (15 เหรียญแคนาดา หรือประมาณ 457 บาท) และตั๋วแบบ 24 ชั่วโมง (7 เหรียญแคนาดา หรือประมาณ 213 บาท) สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาที และต้องวางเงินประกันผ่านบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงิน 250 เหรียญแคนาดาหรือประมาณ 7.6 พันบาท (จะแสดงยอดในบัตรเครดิตเป็นเวลา 3-10 วัน)

 

อัมสเตอร์ดัม

แม้ชาวเนเธอร์แลนด์ ส่วนใหญ่จะมีรถจักรยานเป็นของตัวเอง แต่ระบบไบค์แชร์ริ่ง “โอวี-ฟิตส์ (OV-fiets)” ของเนเธอร์แลนด์ (บริหารจัดการโดยการรถไฟ) กลับประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะเจ้าของรถจักรยานไม่ต้องกังวลเรื่องการหาที่จอด ไม่ต้องกลัวว่ารถจะถูกขโมย และการนำรถจักรยานขึ้นรถไฟจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ”โอวี-ฟิตส์” จึงเป็นทางออกที่โดนใจและสบายกระเป๋าของชาวเนเธอร์แลนด์

ปัจจุบัน “โอวี-ฟิตส์” มีรถจักรยานไว้คอยให้บริการทั้งสิ้น 6,000 คัน และมีจุดจอดหรือสเตชั่นทั่วประเทศ 230 จุด ส่วนใหญ่อยู่ตามสถานีรถไฟ ป้ายรถเมล์  ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการขนส่งมวลชนสามารถปั่นจักรยานต่อไปยังจุดหมาย ปลายทางได้ทันที แต่บริการนี้อาจไม่ค่อยเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวสักเท่าไหร่ เพราะต้องลงทะเบียนพร้อมยื่นเอกสารต่างๆ ก่อน และต้องมีบัญชีธนาคารในเนเธอร์แลนด์ ขณะที่รายละเอียดและข้อมูลส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาดัชต์ล้วนๆ (ค่าสมาชิก 10 ยูโร หรือ 425 บาทต่อปี ค่าใช้บริการ 3 ยูโรหรือ 127 บาท/ครั้ง ซึ่งจะถูกหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง สามารถปั่นไปไหนก็ได้ และใช้รถได้นานถึง 24 ชั่วโมง)

ถึงกระนั้น ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมซึ่งเป็นเมืองที่มีรถจักรยานมากกว่าจำนวนประชากร จนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยานของโลก ก็ยังมีร้านเช่าจักรยานเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง (ไม่ได้เป็นระบบไบค์แชร์ริ่ง) สามารถปั่นกินลมชมเมืองได้ตั้งแต่ 3 ชั่วโมง (ค่าเช่าเริ่มต้นที่ 7 ยูโร หรือราวๆ 300 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของจักรยานที่เลือก) ไปจนถึง 1 วัน หรือมากกว่านั้น แถมบางแห่งยังมีประกันเป็นออพชั่นเสริมอีกด้วย

* ** เนเธอร์แลนด์ มีประชากรราว 16.7 ล้านคน แต่ทั้งประเทศมีจักรยานทั้งสิ้นมากกว่า 18 ล้านคัน

 

แชททานูกา (รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา)

ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงแค่ 170,000 คน แถมที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากกว่าการใช้ บริการะบบขนส่งมวลชนและไม่นิยมขี่รถจักรยาน ถึงกระนั้น นายกเทศมนตรี เจ้าหน้าที่ และผู้นำชุมชนในเมืองนี้ก็ยังไม่หมดหวังและไม่นำความเคยชินของชาวเมืองมา เป็นข้ออ้าง แต่กลับเดินหน้าผลักดันจนระบบไบค์แชริ่งภายใต้โครงการ “ไบซิเคิล ทรานซิท ซิสเต็ม” เป็นรูปเป็นร่างและเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวมีรถจักรยานทั้งสิ้น 300 คัน และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่นมากกว่า 30 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 2.5  ตารางไมล์ (6.5 ตารางกิโลเมตร) ในย่านดาวน์ทาวน์หรือย่านใจกลางเมือง โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสมัครเป็นสมาชิกแบบรายปี ($75 หรือประมาณ 2,400 บาท) ซึ่งจะได้รับกุญแจอิเล็กทรอนิกส์สำหรับปลดล็อค สามารถใช้บริการไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 นาทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (หากเกินกว่านี้จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มผ่านบัตรเครดิต) หรือจะซื้อตั๋วแบบ 24 ชั่วโมง ($6 หรือประมาณ 193 บาท) ณ จุดให้บริการ ซึ่งสามารถใช้บริการไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 นาที นอกจากนี้ ยังมีตั๋วสำหรับองค์กร หน่วยงาน และตั๋วราคาพิเศษสำหรับผู้จัดนิทรรศการและงานอีเวนท์ต่างๆ อีกด้วย

เพียง 6 เดือนแรกหลังเปิดตัว มีผู้มาใช้บริการทั้งสิ้น 12,600 ครั้ง เผาผลาญพลังงานรวมกันมากกว่า 1 ล้านแคลอรี่ และช่วยลดการปลดปล่อยของเสียสู่อากาศได้มากถึง 8,100 ปอนด์ (3,674 กิโลกรัม) เลยทีเดียว

* แชททานูกา ไม่ใช่เมืองเล็กที่สุดของอเมริกาที่ให้บริการไบค์แชริ่ง แม้แต่เมือง “สปาร์แทนเบิร์ก” ในเซาท์แคโรไลนา ซึ่งมีประชากรเพียง 37,000 คน ก็ยังมีระบบไบค์แชริ่งไว้เป็นทางเลือกให้ประชาชนเช่นกัน โดยมีรถจักรยานทั้งสิ้น 14 คัน และมีจุดบริการหรือสเตชั่นเพียง 2 แห่งเท่านั้น

 

สแตนฟอร์ด

เมืองสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นชุมชนที่เป็นมิตรต่อจักรยานในระดับแพลตตินัม และยังเป็นมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยรถจักรยาน นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่าที่นี่มีนักศึกษาประมาณ 20,000 คน และมีรถจักรยานราว 15,000 คัน ทั้งยังมี “แคมปัส ไบซิเคิล โคออร์ดิเนเตอร์”  หรือศูนย์ประสานงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลผู้ใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยให้ขี่อย่างถูกกฏและปลอดภัยอีก ด้วย

นอกจากจุดจอดและล็อครถจักรยานฟรี (สำหรับประมาณ 12,000 คัน) แล้ว ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดยังมี ห้องอาบน้ำ, ล็อกเกอร์เก็บเสื้อผ้าและรถจักรยานให้เช่า, บริการจดทะเบียนรถจักรยานสำหรับนักศึกษาใหม่พร้อมมอบไฟติดรถจักรยานฟรี, บริการจักรยานฟรีสำหรับศิษย์เก่า, ฟรีค่าเช่าหนึ่งสัปดาห์สำหรับรถจักรยานแบบพับได้, จัดอบรมการขี่รถจักรยานอย่างปลอดภัย ฯลฯ แม้ปัจจุบัน จุดจอดหรือสเตชั่นของระบบไบค์แชริ่งใกล้ที่สุดอย่าง ”เบย์ แอเรีย ไบค์ แชร์” จะยังไม่ถูกติดตั้งบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัย (มีให้บริการในพาโลอัลโตซึ่งบางส่วนของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในเมืองนี้) แต่ ไบซิเคิลโปรแกรมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็ถือว่าสุดยอดและครอบคลุม เพราะมีรถชัทเทิลบัสวิ่งให้บริการฟรีที่มหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ (สำหรับนักศึกษาและประชาชน) แถมหน้ารถยังติดแร็คสำหรับตั้งรถจักรยานอีกด้วย

 

ซานฟรานซิสโก

ซานฟรานซิสโก มีรถจักรยานให้เช่าแทบทุกหนทุกแห่ง ทั้งยังมีกลุ่มจักรยานที่เข้มแข็งภายใต้ชื่อองค์กร “ซานฟรานซิสโก ไบซิเคิล โคลลิชั่น”   ซึ่งทำหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนขี่รถจักรยานไปเรียนหนังสือและไปทำงานโดยผ่าน ทางกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังผลักดันให้หน่วยงานของรัฐขยายเส้นทางจราจรสำหรับรถจักรยานให้เชื่อม ต่อถึงกันและครอบคลุมทั่วทั้งเมือง ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการขี่และใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย โดยมีสมาชิกมากถึง 12,000 คน

และเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซานฟรานซิสโกก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการระบบ “ไบค์แชริ่ง” ภายใต้ชื่อ “เบย์ แอเรีย ไบค์ แชร์” โดยมีรถจักรยานภายใต้โครงการทั้งสิ้น 700 คัน และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่นมากกว่า 70 จุดครอบคลุมพื้นที่ย่านเบย์แอเรีย ได้แก่ เมืองซานฟรานซิสโก, เรดวู้ดซิตี้, เมาเท่นวิว, พาโลอัลโต และซานโฮเซ โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ผู้ใช้บริการจะต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยสามารถเลือกได้ทั้งแบบรายปี  ($88 หรือประมาณ 2,800 บาท), แบบ 3 วัน ($22 หรือประมาณ 700 บาท) และแบบ 24 ชั่วโมง ($9 หรือประมาณ 290 บาท) สามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาที

 

พอร์ตแลนด์

เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นเมือง ‘สีเขียว’ มากที่สุดในโลก ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อจักรยานมากที่สุด แถมผู้คนในเมืองนี้ยังชอบขี่จักรยานไปทำงานหรือไปเรียนอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองพอร์ตแลนด์จะมีร้านจักรยานให้เช่า ร้านจำหน่ายรถจักรยาน และบริการนำเที่ยวด้วยรถจักรยานหลายแห่ง ทั้งยังมีแผนที่จะเปิดตัวระบบไบค์แชริ่งในปีหน้า (ที่ล่าช้าเพราะอยู่ในระหว่างการหาสปอนเซอร์) โดยมอบหมายให้บริษัท อัลตร้า ไบซิเคิล แชร์ เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจะมีสเตชั่นหรือจุดให้บริการ 74 แห่งและมีรถจักรยานทั้งสิ้น 740 คันไว้คอยบริการตลอด 24 ชั่วโมง

 

บอสตัน

หลายปีมาแล้วที่ชาวบอสตันจำนวนไม่น้อยต่างหันมาเดิน หรือใช้บริการ “เดอะที” (บริการขนส่งมวลชนสาธารณะแมสซาชูเซตส์เบย์ ซึ่งประกอบด้วย รถเมล์, รถไฟ, รถไฟใต้ดิน, เรือ) แทนการเป็นเจ้าของรถยนต์ และนับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2011 เป็นต้นมา ชาวบอสตันก็มีระบบไบค์แชริ่งภายใต้ชื่อ “ฮับเวย์” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง

ปัจจุบัน ”ฮับเวย์” มีรถจักรยานทั้งสิ้น กว่า 1,000 คัน และมีจุดให้บริการหรือสเตชั่นมากกว่า 100 จุด ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองบอสตันและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เคมบริดจ์, บรู๊คลิน และซัมเมอร์วิลล์ โดยเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงต่อวัน, 7 วันต่อสัปดาห์ และ 3 ฤดูต่อปี (งดให้บริการในช่วงฤดูหนาว) สามารถสมัครสมาชิกได้ทั้งแบบรายปี ($85 หรือประมาณ 2,700 บาท) และรายเดือน ($20 หรือประมาณ 640 บาท) โดยสมาชิกจะได้รับกุญแจอีเล็กทรอนิกส์สำหรับปลดล็อครถ สามารถใช้บริการไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (หากเกินกว่านี้จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป).

ส่วนผู้ที่ต้องการใช้บริการเป็นบางคราว สามารถซื้อตั๋วสำหรับ 3 วัน ($12 หรือประมาณ 384 บาท) หรือแบบ 24 ชั่วโมง ($6 หรือประมาณ 193 บาท) ณ จุดให้บริการ ซึ่งสามารถใช้บริการไม่จำกัดจำนวนครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 นาทีเช่นกัน (หากเกินกว่านี้จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่ตั๋วหมดอายุ) แต่ถ้าต้องการใช้รถครั้งละนานๆ สามารถเช่ารถจักรยานได้ตามร้านจักรยานให้เช่าซึ่งมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน

 

***หมายเหตุ: ระบบ “ไบค์แชริ่ง” หรือ “ไบซิเคิล แชริ่ง” คือ การให้บริการรถจักรยานสำหรับการเดินทางในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ภายในเขตตัวเมือง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ  ทั้งยังเป็นทางออกของผู้ใช้บริการรถสาธารณะที่จำเป็นต้องเดินทางต่อเป็น ระยะทางสั้นๆ หรือใช้เดินทางเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายขนส่งมวลชนต่างๆ ปัจจุบัน ทั่วโลกมีระบบ “ไบค์แชริ่ง” ประมาณ 535 โปรแกรมในกว่า 500 เมือง (51 ประเทศ) รวมรถจักรยานทั้งสิ้นราว 517,000 คัน และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสองปีที่ผ่านมา โดยประเทศในแถบเอเชียที่มีระบบดังกล่าว ได้แก่ สิงคโปร์, จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : forbes.com / paow007.wordpress.com / wiki / dailymail.co.uk
เรียบเรียงโดย Travel MThai