อย่างที่เราทราบกันดีกว่า ครั้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับที่ ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๙๔
เมืองโลซานน์เมื่อ ๘o ปีที่แล้วเป็นเมืองสงบ อากาศดี มีภูมิประเทศงดงาม แวดล้อมด้วยทะเลสาบและเทือกเขาสูงตระหง่าน บ้านเรือนสร้างอยู่บนเนินเขาลดหลั่นลงไป เป็นเมืองที่เหมาะสมทุกประการสำหรับเจ้านายในราชสกุลมหิดลที่จะได้ทรงศึกษาเล่าเรียนและรักษาพระพลานามัย

ภาพความทรงจำ รัชกาลที่ ๙
ขณะทรงประทับ ณ สวิตเซอร์แลนด์
หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา ได้ทรงประทับอยู่เมืองไทย กระทั่งมีพระชนมายุ ๕ พรรษา จึงทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ในวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ

จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออีส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ต่อมาทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จาก โรงเรียนมัธยมคลาซีค กังโตนาล (Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘


รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ และครู

และในปีเดียวกันนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne) โดยทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์
เมอร์ซิเออร์ Guy-François Tavweney (ซ้าย) เป็นพระสหายร่วมห้องเรียน(มัธยม) และนั่งโต๊ะเรียนติดกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ เมอร์ซิเออร์ Bernard Bonny (ขวา) เป็นพระสหายร่วมห้องเช่นกัน
วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana)ป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสวิตเซอร์แลนด์ เมืองปุยยี นอกเมืองโลซาน หันหน้าไปทางทะเลสาบเจนีวา (ทะเลสาบเลม็อง) และมองเห็นเทือกเขาแอลป์

อีกทั้งทรงเลือกทะเลสาบเลอมอง (Lac Leman) เขตปุยยี (Pully) เป็นสถานที่พักผ่อนอยู่เสมอ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นในทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวสวิสนิยมในช่วงฤดูร้อน
(อ่านเพิ่มเติม : วิลล่าวัฒนา พระตำหนักที่ประทับของรัชกาลที่ ๙ ในสวิตเซอร์แลนด์)
ทั้งสามพระองค์ประทับพักผ่อนพระอริยาบทที่ริมทะเลสาบเลอมอง และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจอยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ปะปนกับชาวสวิสโดยทั่วไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา ได้ทรงเล่าถึง สถานรับเลี้ยงเด็กชอง โซเลย์ ว่า ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ซอง โชเลย์แห่งนี้ ๓ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ระหว่างที่พระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยทรงเล่าว่าเมื่อเสด็จฯ ไปประทับครั้งแรกว่า “…แม่คงนึกได้ว่าทูลหม่อมฯ เคยรับสั่งว่า ดร.ฟรานซิส แชร์ ชาวอเมริกัน ที่เคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เล่าถวายว่าที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งชื่อว่า ชอง โซเลย์ ดร.แชร์เองเคยนำลูกไปพักที่นั่น จึงทราบว่าเขาดูแลเด็กอย่างถูกอนามัยเพราะเจ้าของเป็นแพทย์ แม่จึงตัดสินใจว่าจะพาลูกไปฝากที่สถานที่แห่งนี้…”




ภาพที่หลายคนเห็นในโซเชียลภาพนี้นั้น คือ คุณ “ติโต” แมวเพศผู้ สายพันธุ์ วิเชียรมาศ สีน้ำตาล ดวงตาสีฟ้า ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเลี้ยงคู่กับคุณ “ติต้า” แมวเพศเมีย เมื่อครั้งประทับอยู่ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สมาพันธรัฐสวิส ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๗ และเป็นแมวทรงเลี้ยงนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในขณะนั้น
ภาพของคุณติโต และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ถ่ายโดยนาย Dmitri Kessel เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๔๙
ภาพชุดนี้ใช้ชื่อว่า Le Roi Du Siam
เปียโนไม้สีน้ำตาลยี่ห้อ Carl Hards, Stuttgart ปัจจุบันอายุไม่ต่ำกว่า ๙o ปี ข้อความภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฏอยู่ด้านในฝาครอบเปียโนหลังนี้มีความหมายว่า “เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๔๗๗ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๘”
เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาในขณะทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๙ และ ๗ พรรษาตามลำดับ
ร้านถ่ายรูป เดอ ยอง อยู่ที่ถนนเดิม ที่เดิมคืออยู่ตรงข้ามแฟลตที่ถนนทิสโซต์ (Tissot) ซึ่งเป็นแฟลตแห่งแรกที่ครอบครัวมหิดลเสด็จฯ ไปประทับเมื่อแรกไปถึง และร้านเดอ ยองก็ยังคงดำเนินกิจการร้านถ่ายรูปอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ลักษณะหน้าร้านเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
พระบรมฉายาลักษณ์นี้ถ่ายที่ร้านเดอ ยอง ในวันครบรอบวันประสูติ ๓ พระชันษา ของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๒o กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต ทำให้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิมเพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้ดูแลปวงชนชาวไทย
ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครและโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคมในปีเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ณ เมืองโลซาน
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขณะเสด็จฯ จากเมืองโลซาน ไปยังประเทศอิตาลี โดยรถไฟ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔
และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ (Clinique de Montchoisi) เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔
และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรหลังจากทรงประทับพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๔๗๖ ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ รวม 18 ปี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และ นาย Max Petitpierre ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จฯ ณ กรุงเบิร์น อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขณะเสด็จฯ ณ กรุงเบิร์น อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และนาย Max Petitpierre ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยทหาร ณ ด้านหน้ารัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๓
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และ นาย Max Petitpierre ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ณ งานเลี้ยงกลางคืน ที่โรงแรม Bellevue กรุงเบิร์น ปี พ.ศ. ๒๕๐๓
ขอบคุณภาพและข้อมูล www.swissinfo.ch, เฟซบุ๊ก infodivohm, http://www.trachoo.com/, http://opium-howtodeleteabrowsercookie.blogspot.com/, http://www.bloggang.com/, สกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๓o๗๘, http://www.thaiembassy.ch/